หลายประเทศมีภาษาราชการมากกว่าหนึ่งภาษา บางประเทศเป็นเพราะเคยเป็นประเทศอาณานิคมยาวนานหลายทศวรรษ เมื่อได้รับเอกราช รัฐบาลไม่มีทางเลือกมากนักกับนโยบายเลือกภาษาประจำชาติเพราะต้องรักษาเสถียรภาพของประเทศ อธิปไตยของประเทศจะถูกแบ่งแยกด้วยภาษาทันทีหากมีการเลือกปฏิบัติ ส่วนประเทศที่ไม่เคยเป็นประเทศในอาณานิคม เหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ก็มีส่วนทำให้มีภาษาราชการหลายภาษาได้เช่นกัน
ขอยกตัวอย่างเพียงบางประเทศที่ใช้ภาษาราชการมากกว่า 3 ภาษา
ลักเซมเบิร์กใช้ภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน และลักเซมบัวกิช (Luxembourgish) บางสถานศึกษาของลักเซมเบิร์กเพิ่มภาษาอิตาเลียนและสเปนอีกด้วย สวิตเซอร์แลนด์มีภาษาราชการ 4 ภาษา ได้แก่ อิตาเลียน ฝรั่งเศส เยอรมัน และโรแมนช์ (Romansh) ทั้งสองประเทศนี้พลเมืองพูดได้หลายภาษาเพราะส่วนหนึ่งมีพรมแดนติดต่อไปมาหาสู่ได้สะดวกกับประเทศเพื่อนบ้าน สหพันธรัฐรัสเซียมี 20 รัฐและมีภาษาราชการ 18 ภาษา โดยมีภาษารัสเซียน (Russian) เป็นภาษาประจำชาติที่ทุกคนต้องใช้
สิงคโปร์ ใช้ภาษาราชการรวม 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีนแมนดาริน มลายู และทมิฬ ประชากรสามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 2 ภาษา ป้ายประกาศต่างๆ ในที่สาธารณะรวมทั้งสถานที่ราชการ มี 4 ภาษา ชาวสิงคโปร์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การลงทุน รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาษาราชการทั้ง 4 ภาษาจึงเป็นแม่เหล็กอย่างดีที่ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
สำหรับอินเดีย ระบุในรัฐธรรมนูญว่ามีภาษาราชการรวม 22 ภาษา แต่กำหนดให้ฮินดีและอังกฤษเป็นภาษาราชการหลักเฉพาะภาษาอังกฤษมีผู้ใช้ราว 90 ล้านคน ส่วนภาษาฮินดี มีประชากร ร้อยละ 40 สื่อสารด้วยภาษานี้ ส่วนปาปัวนิวกินี มีประชากรราว 7 ล้านคน มีภาษาถิ่น 850 ภาษา ใช้ภาษาราชการ 4 ภาษา คือ อังกฤษ ท็อกไพซิน (Tok Pisin) ฮิริโมตู (Hiri Motu) และภาษาสัญลักษณ์ปาปัวนิวกินี (Papua New Guinean Sign Language) ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2015
อารูบาประเทศขนาดเล็กทางตอนใต้ของหมู่เกาะแคริบเบียนที่มีประชากรเพียงหนึ่งแสนคน และเคยเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่นิยมไปอาบแดดและผู้ที่ชื่นชอบตัวอีกัวนา (อย่าเข้าใจผิดว่าจะนำออกนอกประเทศได้ง่ายๆ เพราะมีการรณรงค์ Save Iguana อย่างเข้มข้น) ประชากรพูดภาษาอังกฤษ สเปน ดัตช์ ได้คล่องแคล่วและเป็นภาษาที่ใช้ในระบบการศึกษา รวมทั้งภาษาถิ่นปาปิอาเมนโท (Papiamento) ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ข้อความเตือนภัยนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาด 3 ภาษา ที่ประเทศอารูบา
ภาพโดย Joe Mazzola https://flic.kr/p/dhokjw
แอฟริกาใต้ มีภาษาราชการ 11 ภาษา สำหรับประชากรทุกสีผิว มีประชากรราว 10 ล้านคน (จาก 56.5 ล้านคน) พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง เจ้าหน้าที่ภาครัฐและนักธุรกิจ ภาษาแอฟริกานส์ (Afrikaans) เป็นภาษาประดิษฐ์ ผสมคำ.หรือยืมคำ.จากภาษาถิ่นและภาษาดัตช์ ตั้งแต่ครั้งการเข้าครอบครองดินแดนในปี 1652 มีจำนวนผู้ใช้มากเป็นที่สองรองจากภาษาอังกฤษ เมื่ออังกฤษเข้าไปปกครองประเทศนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเมื่อสิ้นสุดสงครามเหยียดผิว รัฐบาลประกาศใช้ภาษาราชการเพิ่มอีกดังนี้ เดเบเล (Ndebele) นอร์ทเทิร์นโซโท (Northern Sotho) โซโท (Sotho) สวาซิ (Swazi) ซองกา (Tsonga) สวานา (Tswana) เวนดา (Venda) โฮซา (Xhosa) และซูลู (Zulu)
ป้ายหน้าอาคารศาลรัฐธรรมนูญ 11 ภาษา เขียนด้วยตัวอักษรละติน ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก
ภาพโดย Nagarjun Kandukuru https://flic/kr/p/esc4xc
ซิมบับเว ประเทศเพื่อนบ้านของแอฟริกาใต้มีภาษาราชการรวม 16 ภาษา นับเป็นอันดับ 3 ของโลกที่มีภาษาราชการหลากหลาย สาเหตุประการหนึ่งคือการย้ายถิ่นจากประเทศต่างๆ ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา
เหตุที่ประเทศต่างๆ ต้องมีภาษาราชการหลายภาษา โดยพื้นฐานคือเหตุผลทางการเมือง โดยเฉพาะประเทศที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพื่อรักษาความเป็นประเทศและความมั่นคง ให้ข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายโดยผ่านภาษาราชการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำ.ได้ เช่น การสื่อสารผ่านสื่อสังคมที่มีมากกว่าหนึ่งภาษา ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ระบบการศึกษา ธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศ
ภาษาเป็นประตูสู่ความเข้าใจอย่างแท้จริง ยกเว้นนักท่องเที่ยวต่างแดนที่นิยมการพ่นสีสเปรย์หรือขีดเขียนตามสถานท่องเที่ยวในภาษาตนเอง
ที่มา: ปีที่ 38 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2561