The Prachakorn

ความหน้า และความหลัง


ปราโมทย์ ประสาทกุล

06 เมษายน 2561
707



ผมพลิกแผ่นปฏิทินตั้งโต๊ะหน้าเดือนสิงหาคม ให้พับไปเพื่อเปิดหน้าเดือนกันยายน หมดไปอีกเดือนหนึ่งแล้ว เวลาผ่านไปไวจริงๆ เหลืออีกเพียง 4 เดือนก็จะสวัสดีปีใหม่กันอีกแล้ว ขึ้นปี 2560 ผมนึกถึงสมุดพกนักเรียนสีน้ำตาลของตัวเองเมื่ออยู่ชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนมารดานฤมล ปี 2499 ที่ยังเก็บไว้ จากวันที่อยู่ ป. 4 ถึงวันนี้ เป็นเวลา 60 ปีแล้วจริงๆ หรือ

พูดกันว่าคนแก่...อ๊ะ..ขอโทษ เขาให้หลีกเลี่ยงคำว่า “คนแก่” เพราะฟังดูแล้วมีความหมายในทางลบ แก่เฉยๆ แก่งั่ก แก่หง่อม ก็ฟังไม่เพราะหูทั้งนั้น ... ถ้าอย่างนั้น ผมขอเริ่มประโยคใหม่... พูดกันว่า “ผู้สูงอายุ” ชอบเล่าความหลัง ผู้สูงอายุหลายคนถูกนินทาว่าหมกมุ่นอยู่กับความหลัง ซึ่งก็น่าจะจริงและไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก ผู้สูงอายุผ่านชีวิตมายาวนาน ได้เห็นอะไรต่ออะไรมามาก ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่สมองยังทำงานได้ดี ไม่เสื่อมสภาพจนหลงลืมจนจำอะไรไม่ได้ ความหลังในอดีตก็จะยังคงอยู่ในความทรงจำ แต่ละคนย่อมเคยประสบกับเหตุการณ์ทั้งที่สนุก ตื่นเต้น มีความสุข หรือทุกข์ระทมมาแล้ว กว่าที่แต่ละคนจะกลายมาเป็นผู้สูงอายุ ย่อมผ่านประสบการณ์เมื่อครั้งยังเป็นเด็กตัวน้อยๆ แล้วโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เคยสบตากับเพศตรงข้ามแล้วรู้สึกวาบหวิว เคยเป็นหนุ่มเป็นสาวที่มีความรัก บางคนมีรักครั้งแรกและครั้งเดียว บางคนมีรักครั้งต่อๆ มา มีสมหวังและผิดหวัง เมื่อเจริญวัยจนเป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยฉกรรจ์ วัยกลางคน จนมาถึงวัยสูงอายุ ได้ผ่านชีวิตของตัวเอง และได้เห็นชีวิตของคนอื่นๆ ได้เห็นความงดงามและความชั่วร้ายของพฤติกรรมมนุษย์ ได้ชื่นชมกับธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย เหล่านี้ล้วนเป็นความหลังที่บันทึกอยู่ในความทรงจำของผู้สูงอายุแต่ละคน

ความรัก-ความหลังของศตวรรษิกชน

เมื่อทำโครงการศึกษาศตวรรษิกชน-คนร้อยปีในประเทศไทย ผมได้มีโอกาสออกไปทำงานภาคสนาม เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอายุที่น่าจะเป็นจริงและสถานะสุขภาพของคนร้อยปี นอกจากคำถามเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของโครงการศึกษาโดยตรงแล้ว พวกเราได้พ่วงคำถามเกี่ยวกับความรักของคนร้อยปีแถมเข้าไปอีก คำถามพ่วงจะถามกับเจ้าตัวคนร้อยปีที่ยังพูดคุยกันรู้เรื่อง และให้คนร้อยปีตอบด้วยตนเอง ไม่ให้คนอื่นตอบแทน

คำถามความรักชุดแรก รองศาสตราจารย์ ดร. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ แห่งวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ ฝากให้ผมถาม เธออยากจะรู้ว่าคนร้อยปีที่มีลูกหลายคนแบ่งปันความรักให้แก่ลูกแต่ละคนอย่างไร รักลูกคนนั้นมากกว่าลูกคนนี้เพราะอะไร ผมก็ไปถามคนร้อยปีหลายคนให้นะครับ...

ข้อมูลการแบ่งปันความรักให้ลูกๆ ที่ผมได้รับจากปากของคนร้อยปีอย่างน้อยก็ 5-6 คน อาจทำให้ผู้ฝากคำถามผิดหวังบ้าง แต่ก็เป็นคำตอบที่ไม่น่าแปลกใจ คนร้อยปีทุกคนตอบเหมือนกันหมดครับ “รักลูกทุกๆ คนเท่าๆ กัน...รักเหมือนๆ กัน” ทีแรกผมก็คิดว่าคำตอบที่ไปในทิศทางเดียวกันเช่นนี้เป็นเพราะคนร้อยปีทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตมายาวนาน จึงรู้วิธีที่จะตอบคำถามโดยไม่ไปทำร้ายจิตใจใคร ตอบว่ารักลูกทุกคนเท่าๆ กันนั้นปลอดภัยที่สุด แต่เมื่อใคร่ครวญดูให้ดีแล้ว ผมก็เชื่อว่าท่านเหล่านั้นคิดเช่นนั้นจริงๆ พ่อแม่ทุกคนจะรักลูกทุกคนเท่าๆ กัน (อาจมีพ่อแม่บางคนเป็นข้อยกเว้นบ้าง แต่ผมเชื่อว่ามีอยู่น้อยเต็มที) ตอนหลังๆ ผมเลิกถามคำถามพ่วงนี้ เพราะคิดว่าถามไปก็ได้คำตอบอย่างเดียวกัน

คำถามพ่วงอีกชุดหนึ่งจะเกี่ยวกับการแต่งงานหรือการมีคู่ครองของคนร้อยปี ที่จริงคำถามนี้ก็ไม่เชิงเป็นคำถามพ่วงเพราะคำตอบที่ได้เราจะนำไปใช้ตรวจสอบความถูกต้องของอายุตามทะเบียนราษฎร เราจะเริ่มด้วยคำถามเกี่ยวกับอายุเมื่อแต่งงาน เพื่อจะนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับเวลาที่มีลูกคนแรก “คุณยาย (คุณตา) แต่งงานเมื่ออายุเท่าไรคะ” ไม่น่าเชื่อว่าคนร้อยปีที่ยังมีสุขภาพดีทุกคน จะจำอายุเมื่อแต่งงานได้อย่างแม่นยำ แต่งกันเมื่อตัวเองอายุเท่าไร คู่ครองอายุเท่าไร คำถามต่อไปคือ “คนที่แต่งงานด้วยเป็นคนที่ไหน พบรักกันได้อย่างไร” คำตอบที่ได้ก็มีหลากหลาย ส่วนใหญ่แต่งกับคนในหมู่บ้านใกล้เคียงกัน หลายรายเป็นการจับคู่ด้วยการจัดการของผู้ใหญ่ มีการใช้แม่สื่อแม่ชัก มีอยู่ 2-3 รายที่ฝ่ายชายมาจากจังหวัดไกลๆ

 มีคุณยายท่านหนึ่งอยู่ในจังหวัดภาคกลางเล่าให้ฟังว่า “ถูกฉุดมาจากบ้านหนอง.... อยู่ไกลคนละจังหวัดกับที่นี่ เขา (คุณตา) เป็นคนบ้านนี้ เขากับพวก 4-5 คนพากันเดินไปตาม (หมู่) บ้านต่างๆ ไปหาผู้หญิง ไปเจอยายที่บ้านหนอง... ยายไปเที่ยวงานวัด เขาก็ฉุดมา พาเดินกลับมาที่นี่ ค้างแรมกลางทางตั้ง 2-3 คืน ยายร้องไห้มาตลอดทาง ต้องจำใจยอมเขา ที่นี่ เขาเป็นคนมีฐานะ ยายก็อยู่กับเขา พอมีลูก ก็พากันไปขอขมาพ่อแม่ที่โน่น เอาลูกไปให้ตายายรับขวัญ” ปัจจุบัน คุณตาผู้เป็นคนฉุดคุณยายมาเมื่อ 80 ปีก่อนเสียชีวิตไปแล้ว เหลืออยู่แต่ลูกหลานเหลนหลายสิบคน

คนร้อยปีทุกคนที่พวกเราได้ไปคุยจะสดชื่นขึ้นทันทีเมื่อเราถามถึงเรื่องความรัก ผมจะสรุปได้ไหมว่าความรักเป็นความหลังที่ประทับอยู่ในใจของผู้สูงอายุทุกคน (ที่เคยมีความรัก)

ความหน้าของผู้สูงอายุ

ที่จริงแล้ว ความหน้าหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่เหลืออยู่ข้างหน้าของผู้สูงอายุน่าจะน้อยมาก เมื่อเทียบกับความหลังอันยาวนาน อย่างตัวผม ระยะเวลาข้างหน้าอย่างนานที่สุดก็ไม่น่าจะถึง 40 ปี อยู่ต่อไปได้อีกสัก 30 ปีก็เก่งมากแล้ว มีเหตุการณ์ข้างหน้าที่ชัดเจนอยู่อย่างเดียวว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นคือการลาจากโลกนี้ไป ถ้าเราถือว่ามนุษย์มีอายุขัยอยู่ที่ 100 ปี ผู้สูงอายุแต่ละคนก็จะถึงวันลาโลกไปในอีกประมาณอายุไม่เกิน 100 ปี แต่เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความตายจะเป็นความหน้าที่งดงามหรือน่าเวทนาอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและกรรมเวรของแต่ละคน

เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุจะชอบเล่าแต่เรื่องความหลังอย่างเดียว ความหน้าก็เป็นประเด็นที่พวกเราชาว ส.ว. สูงวัยหยิบยกมาคุยกันอยู่บ่อยๆ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเราอยากลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ไม่อยากทนทุกข์ทรมานก่อนสิ้นใจ ไม่มีใครอยากนอนเป็นผักอยู่ในเตียง ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องเป็นภาระของคนอื่น ร่างกายมีสายระโยงระยางเต็มไปหมด ทั้งสายเพื่อช่วยหายใจ ช่วยส่งอาหารเข้าร่างกาย ท่อระบายถ่ายเทของเสีย ถ้าเป็นอย่างนั้น หลายคนบอกขอตายเสียดีกว่า แต่...ถ้าใครเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็จะอยู่ในสภาพอยากตายก็ตายไม่ได้ อยากอยู่ก็อยู่ไม่ได้ พวกเราเห็นเหมือนกันว่าคนที่นอนหลับแล้วหมดลมหายใจไปเลยเป็นคนมีบุญ หลายคนแสดงความจำนงว่าอยากตายอย่างนั้นบ้าง

เพื่อนหลายคนคุยว่าได้ทำพินัยกรรมชีวิตไว้แล้วโดยระบุว่าเมื่อตนเองเจ็บป่วยใกล้ตาย ไม่ต้องมายื้อชีวิตด้วยอุปกรณ์เครื่องมือหรือเทคนิควิธีใดๆ ขอให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องปล่อยให้ตนเองจากไปตามธรรมชาติ

ความหน้าอีกเรื่องหนึ่งที่เพื่อนผู้สูงอายุกลุ่มผมพูดถึงกันบ่อยครั้ง คือตายแล้วไปไหน บางคนไม่สนใจว่าตายแล้วจะไปไหน สวรรค์หรือนรก บางคนเชื่อว่าตายแล้วก็ไปเกิดใหม่ คือมีชาตินี้และชาติหน้า บางคนไม่เชื่อเรื่องชาติภพ สำหรับผม ผมเชื่อว่ามีชาติก่อน ชาตินี้ และชาติหน้า เด็กที่มีความสามารถพิเศษในชาตินี้เพราะความสามารถนั้นติดตัวมาแต่ชาติก่อน

ผมเคยคุยให้เพื่อนผู้สูงอายุฟังว่าทำไมผมจึงเชื่อเรื่องชาตินี้และชาติหน้า ผมเริ่มด้วยคำถาม “เชื่อหรือไม่ว่าไม่ใช่โลกที่เราอยู่นี้เป็นดาวดวงเดียวที่มีมนุษย์อยู่?” เมื่อมองขึ้นไปบนฟ้า ไกลออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีจักรวาลอื่นนับร้อยนับล้านนอกเหนือไปจากสุริยจักรวาล ดาวที่มีสิ่งมีชีวิตอย่างเช่นมนุษย์อาศัยอยู่ได้ก็ต้องมีอีกมากมายเช่นกัน ดาวอื่นๆ และโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้นั่นแหละที่เราเรียกว่าภพหรือชาติ ความเชื่อที่เราเรียกว่า “สัมปรายภพ” “ภพหน้า” “ชาติหน้า” แท้ที่จริงแล้วก็คือโลกซึ่งอาจเป็นดวงดาวอื่นซึ่งอยู่ในจักรวาลอื่นหรือเป็นโลกเดิมที่เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็ได้

ผมเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ ร่างกายเป็นเพียงอาภรณ์ที่จิตวิญญาณอาศัยอยู่ ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับความเชื่อของชาวทิเบต ได้ความรู้ว่าชาวทิเบตเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อเรื่องจิตวิญญาณ การตายในชาตินี้เป็นเพียงจิตวิญญาณสละร่างกายซึ่งเปรียบเสมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดเก่าเพื่อไปสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ในชาติหน้า การตายจึงไม่น่ากลัว ชาวทิเบตเมื่อตายแล้วก็ปล่อยทิ้งศพให้แร้งกินเป็นกายทาน

แล้วจิตวิญญาณเดินทางไปสู่ภพอื่นได้อย่างไร ถ้าภพอื่นหรือชาติอื่นอยู่คนละจักรวาลห่างไกลกันขนาดนั้น แต่ก่อนผมก็คิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ที่จิตวิญญาณจะไปผุดเกิดในภพหรือดาวอื่นที่อยู่ห่างไกล แต่เมื่อสังเกตจากการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ เราอยู่กันคนละซีกโลก ส่งข้อความถึงกันโดยผ่านทางอีเมล์ เฟซบุ๊ค หรือไลน์ เพียงคลิกที่เครื่องหมายส่ง ข้อความนั้นก็จะไปถึงผู้รับทันที จนบางครั้งผมรู้สึกว่าสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เดินทางโดยไม่มีมิติของกาลเวลา

นี่ขนาดสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ที่มนุษย์สร้างขึ้นนะครับ จิตวิญญาณน่าจะไปไกลและไวกว่าคลื่นสัญญาณที่มนุษย์สร้างขึ้นเสียอีก จิตวิญญาณคงเดินทางไปอยู่ที่ใดในโลกนี้หรือในโลกที่เป็นดาวดวงอื่นได้อย่างไม่มีมิติของกาลเวลา และระยะทางเลยทีเดียว

ถ้าเรารู้ว่า “ความหน้า” จะเป็นอย่างไร เราก็จะดำเนินชีวิตไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ จะไม่กลัวแม้กระทั่งความตาย ชีวิตของเราทุกวันนี้เป็นเพียงจิตวิญญาณที่อาศัยร่างกายของเราเป็นอาภรณ์ วันหนึ่งข้างหน้าอาภรณ์ชุดนี้ก็จะหมดสภาพลง จิตวิญญาณของเราก็จะไปอยู่ในเสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่ ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนชุดแต่งกายใหม่เท่านั้น เมื่อรู้ความหน้าเช่นนี้ ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่เราต้องไปยื้อเวลาของเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ชำรุดหนักจนหมดหนทางซ่อมแซม หรืออาภรณ์ที่กำลังจะสิ้นอายุขัย สู้ปล่อยให้จิตวิญญาณของเราจากไปตามธรรมชาติเพื่อไปสวมอาภรณ์ชุดใหม่จะดีกว่า

รู้สึกว่าวันนี้ผมจะคุยเรื่องความหน้ามากไปหน่อย อาจจะมากกว่าเล่าความหลังอย่างที่เคยทำเป็นประจำด้วยซ้ำ อย่างนี้แล้ว ใครจะว่าผู้สูงอายุชอบเล่าแต่ความหลังล่ะครับ ความหน้าก็ชอบครับ.

1/9/16 @23.41 pramote.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th