The Prachakorn

เยาวชนไทย สื่อ การรู้เท่าทัน: วิกฤต หรือ โอกาส?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

10 สิงหาคม 2564
2,415



ทุกวันนี้ โลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก เด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุ 20 ปี หรือต่ำกว่าใช้เวลาอย่างมากกับอินเทอร์เน็ตในแต่ละวัน การสำรวจการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล ปี 2020 พบว่า เด็กและเยาวชนใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตนานถึง 12 ชั่วโมง 43 นาที ต่อวัน1 โดยเด็กและเยาวชนเหล่านี้ใน 100 คน มีมากถึง 95 คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะที่อีก 5 คน ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ

ที่มา: Freepik https://www.freepik.com/free-vector/social-media-marketing-mobile-phone-concept_6849160

การสำรวจการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล ปี 2020-2021 ยังพบว่า ในภาพรวม เยาวชนมีการรู้เท่าทันสื่อในระดับดี แต่เมื่อพิจารณาถึงทักษะที่เป็นองค์ประกอบของการรู้เท่าทันสื่อ ทั้งหมด 3 ทักษะ ได้แก่ (1) การเข้าถึง (2) และการประเมิน (3) การสร้างสื่อ กลับพบว่า ทักษะการประเมิน ซึ่งประกอบด้วย ด้านความเข้าใจอยู่ในระดับต้องปรับปรุง และด้านการประเมินผลหรือวิเคราะห์อยู่ในระดับพื้นฐาน2 ซึ่งทักษะการประเมินเป็นทักษะสำคัญของการใช้ความคิดในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในสื่อ เพื่อประเมินว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ ต่างจากทักษะการเข้าถึงที่มุ่งเน้นการค้นหาและสืบค้นข้อมูล เป็นทักษะในการเรียนรู้วิธีการค้นหาข้อมูล ในขณะที่ การสร้างสื่อเน้นความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร ดังนั้น เยาวชนไทยอาจรู้เท่าทันสื่อในมิติของการเข้าถึงและการสร้างสื่อ กล่าวคือ รู้วิธีค้นหาข้อมูลและสามารถสร้างสื่อได้ แต่เยาวชนไทยกลับรู้ไม่เท่าไล่ไม่ทันสื่อในมิติของการขาดความเข้าใจและการวิเคราะห์ข้อมูลในสื่อ

ทำไมเด็กไทยจึงขาดความเข้าใจเนื้อหาในสื่อและทักษะการคิดวิเคราะห์?

ในมุมมองของผู้เขียนขอนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับระบบการศึกษา เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เพราะระบบการศึกษาไทยมีวิธีการสอนให้เด็กท่องจำ3 โดยไม่คำนึงถึงการสอนให้เด็กเกิดความเข้าใจและใช้ความคิดเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อีกทั้ง ระบบการศึกษาไทยเน้นให้เรียนหนัก มีการกวดวิชา และมีการแข่งขันสูง4

แล้วสถานการณ์เช่นนี้ ถือเป็น “วิกฤต หรือ โอกาส”?

การรู้ถึงสถานการณ์วิกฤตย่อมเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาทักษะด้านความเข้าใจและการคิดวิเคราะห์ให้แก่เด็กและเยาวชนไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเสนอให้มีการปรับวิธีการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่หลากหลายรูปแบบ (Active Learning) เช่น การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) การเรียนรู้โดยเน้นทักษะกระบวนการคิด เป็นต้น (Thinking Based Learning) 3 โดยการเรียนรู้เหล่านี้เป็นวิธีการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การระดมสมอง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งช่วยให้เด็กไทยเกิดความคิดและบูรณาการข้อมูลข่าวสารสารสนเทศสู่ทักษะการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์และประเมินค่า เมื่อเด็กไทยคิดวิเคราะห์สังเคราะห์และประเมินค่าได้ ก็จะนำไปสู่การรู้เท่าทันสื่อต่อไป เพราะทักษะการคิดวิเคราะห์และประเมินค่าเป็นส่วนประกอบของการรู้เท่าทันสื่อ

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การเรียนการสอนในระบบการศึกษาของไทยยังเป็นแบบการเรียนรู้ที่ผู้สอนบรรยายและผู้เรียนนั่งฟัง (Passive Learning) อีกทั้ง การเกิดโรคระบาดอย่างเช่น โควิด-19 ทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 5  ซึ่งทำให้การเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีโอกาสในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ลดลง

เราจะช่วยกันแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร? เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนและระบบการศึกษาต้องตามให้ทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสอนทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้เยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ


เอกสารอ้างอิง

  1. Electronic Transactions Development Agency. (2020). Thailand Internet User Behavior 2020. Bangkok: Electronic Transactions Development Agency, Ministry of Digital Economy and Society.
  2. Office of the Education Council. (2021). State of Education in Thailand 2018/2019: Educational Reform in the Digital Era. Bangkok: Parbpim.
  3. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ & คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2564). ผลสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัลของประชาชนไทย ปี พ.ศ. 2563 – 2564  กรุงเทพฯ: กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และคณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. พิริยะ ผลพิรุฬห์. (2563). การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทัน การเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
  5. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค. (2564). สำรวจผลกระทบ COVID-19 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการศึกษาโลก. Retrieved from https://www.eef.or.th/article1-02-01-211/.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

สู้ต่อไป กับการ Work From Home

มนสิการ กาญจนะจิตรา

สามีฝรั่งคือปลายทาง

ดุสิตา พึ่งสำราญ

Kidfluencer | EP. 2

รีนา ต๊ะดี

Kidfluencer | EP. 1

รีนา ต๊ะดี

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th