The Prachakorn

โทรศัพท์: ปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีพ


ปราโมทย์ ประสาทกุล

20 ตุลาคม 2564
1,021



เดี๋ยวนี้ ผมรู้สึกว่าในแต่ละวันผมใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มากเหลือเกิน ตื่นเช้าขึ้นมา กิจกรรมที่ทำลำดับแรกๆ คือการดูโทรศัพท์ ดูว่ามีใครส่งข่าวสารหรือข้อความอะไรมาถึงบ้าง ดูว่ามีเรื่องอะไรที่น่าสนใจส่งต่อมาในไลน์ หรือเฟซบุ๊คบ้าง ผมเสพติดโทรศัพท์มือถือไปแล้วหรือนี่

ผมชอบศัพท์ภาษาไทยคำว่า “โทร” ที่ใช้นำหน้าศัพท์คำอื่น เพื่อให้หมายถึง “ไกล” เช่นคำว่า โทรศัพท์ โทรทัศน์ โทรเลข โทรสาร โทรคมนาคม ผมชอบคำนี้ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ “tele” ได้เพราะและเหมาะสมดีเหลือเกิน

สำหรับโทรศัพท์ เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปจนไม่เหลือรูปร่างเดิมอีกแล้ว สมรรถนะของโทรศัพท์ได้เพิ่มขึ้นจากเมื่อแรกเริ่มกำเนิดอีกร้อยเท่าพันทวี แต่เราก็ยังใช้คำว่าโทรศัพท์เรียกอุปกรณ์ที่ใช้ติดต่อกันทางไกลนี้กันอยู่

เมื่อไม่กี่วันก่อนผมได้รับรูปภาพที่ส่งต่อกันมาทางไลน์เป็นข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ “ทาโคมาทริบูน” ฉบับวันที่ 11 เมษายน 1953

ซัลลิแวน ได้ทำนายอนาคตของโทรศัพท์ไว้เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ซึ่งหลายคนก็ชมว่าแม่นมาก แน่นอนว่าประสบการณ์ที่ซัลลิแวนอยู่ในวงการธุรกิจโทรศัพท์เป็นข้อมูลที่ช่วยให้เขาพยากรณ์อนาคตของเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้ได้อย่างแม่นยำ คำทำนายของเขาถูกต้องทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเครื่องโทรศัพท์ที่เล็กลงจนเหลือเท่าฝ่ามือจนคนไทยเรียกโทรศัพท์ด้วยคำสั้นๆ ว่า “มือถือ” การไม่ใช้วิธีหมุนหมายเลขแล้วใช้วิธีสัมผัสที่ตัวเลขบนจอ หรือการใช้เสียงสั่งการแทน การมองเห็นหน้ากันระหว่างคู่สนทนา และการแปลภาษาโดยอัตโนมัติซึ่งคงจะเป็นไปได้อย่างเป็นเรื่องปกติในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม ผมกลับคิดว่าคำทำนายของซัลลิแวนไม่แม่นจริงเขามองศักยภาพของโทรศัพท์ในอนาคตต่ำไปมาก ซัลลิแวนคงคาดไม่ถึงว่าโทรศัพท์เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนจะพัฒนาก้าวไปไกลถึงขนาดเป็นโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

โทรศัพท์ที่ผมเคยรู้จัก

เมื่อปี 1958 ที่ซัลลิแวนทำนายโทรศัพท์ในอนาคตนั้น ผมยังเป็นเด็กน้อยบ้านนอกลุ่มน้ำบางปะกงเรียนอยู่ชั้นอนุบาล โทรศัพท์ไม่เคยอยู่ในความทรงจำของผม ผมเชื่อว่าทั้งตำบลไม่มีโทรศัพท์เลยสักเครื่อง ผมรู้จักโทรศัพท์ครั้งแรกที่บ้านคุณป้าเมื่อเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ในปี 2503 จำได้ติดตาว่าเครื่องโทรศัพท์มีสีดำขนาดเท่าหม้อข้าวใบย่อมๆ น่าจะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย ส่วนที่ใช้พูดและฟังเรียกว่า “หูโทรศัพท์” ที่มีสายต่อเข้ากับตัวเครื่อง เมื่อมีคนติดต่อเข้ามาจะมีเสียงดังกริ๊งๆๆ เราต้อง “รับสาย” เมื่อเราจะโทรไปถึงใครจะต้อง “หมุนหมายเลข”

แต่เดิมสัญญาณโทรศัพท์ติดต่อกันผ่านสายโทรศัพท์ที่พาดไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเกาะไปตามเสาไฟฟ้า จะมีสายย่อยต่อแยกจากสายหลักเข้าไปเชื่อมกับเครื่องโทรศัพท์ในแต่ละบ้าน

จะไม่มีทางหลีกพ้นไปจากโทรศัพท์ได้ในอนาคต

พาซาเดนา-เอพี- มาร์ค อาร์ ซัลลิแวน ประธานกรรมการและผู้อำนวยการ บริษัทแปซิฟิค เทเลโฟน แอนด์ เทเลกราฟ กล่าวในการปราศรัยเมื่อคืนวันพฤหัสบดีนี้ว่า

“...รูปลักษณ์ของโทรศัพท์ในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นตามการคาดคะเนของผม ผมขอทำนายไว้ดังนี้

ในการพัฒนาการขั้นสุดท้ายของโทรศัพท์ มันจะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่แต่ละคนจะพกพาติดตัวไปได้ น่าจะคล้ายๆ กับนาฬิกาข้อมือที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ น่าจะเป็นไปได้ว่าเราจะไม่ใช้วิธีหมุนหมายเลข หรือวิธีอะไรคล้ายๆ กับเครื่องโทรศัพท์ทุกวันนี้และผมคิดว่าคนใช้โทรศัพท์จะมองเห็นหน้ากันได้ระหว่างที่พูดถ้าต้องการ

มันอาจแปลจากภาษาหนึ่ง เป็นอีกภาษาหนึ่งก็ได้ใครจะไปรู้!”

วาดภาพโดย: ปราโมทย์ ประสาทกุล

การขอหมายเลขจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ ที่จะมาขอปุ๊บได้หมายเลขปั๊บนั้นไม่มีทาง ต้องวางมัดจำ ต้องจอง บางพื้นที่ต้องใช้เวลารอคอยนานมาก กว่าจะได้มาสักหมายเลข ด้วยเหตุผลว่าคู่สายโทรศัพท์ยังมาไม่ถึง เมื่อผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมเข้าใจว่าเพื่อนในห้องเรียนเดียวกันหลายคนยังไม่มีโทรศัพท์ที่บ้าน

ผมเชื่อว่าเมื่อ 50 ปีก่อนหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลในหลายพื้นที่ในชนบทส่วนใหญ่ยังไม่มีโทรศัพท์ใช้กัน

โทรศัพท์บวกอินเทอร์เน็ต ก็กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์

ผมไม่ได้ติดตามศึกษารายละเอียดของพัฒนาการทางเทคโนโลยี ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไม่ถึง 10 ปีก่อนมีการพูดถึงศัพท์คำหนึ่งคือคำว่า disruptive technology โดยมีผู้แปลเป็นภาษาไทยหลายคำ เช่น เทคโนโลยีป่วนโลก เทคโนโลยีพลิกโลก เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก คำนี้อธิบายถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่เหมือนกับจะทำลายล้างเทคโนโลยีแบบเดิม แล้วเกิดเทคโนโลยีแบบใหม่ขึ้นมา เช่น เปลี่ยนการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ยานไร้คนขับ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ การใช้อินเทอร์เน็ตกับทุกสิ่งทุกอย่าง

สำหรับผม เทคโนโลยีสำคัญที่พลิกเปลี่ยนโลกนี้ไปอย่างมากมายมหาศาล ก็คืออินเทอร์เน็ต การส่งสัญญาณติดต่อระหว่างกันทั่วโลกผ่านเครือข่ายดาวเทียมนับร้อยนับพันดวงที่มนุษย์ส่งออกไปล่องลอยประจำตำแหน่งอยู่ในอวกาศรอบโลกการเก็บข้อมูลไว้ในก้อนเมฆ (cloud) (ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าเก็บข้อมูลไว้ในก้อนเมฆ ทำได้อย่างไร) อินเทอร์เน็ตได้ถูกนำมา “บูรณาการ” เข้ากับเครื่องโทรศัพท์ จนทำให้โทรศัพท์ตั้งโต๊ะที่ผมเคยรู้จักมาแต่เด็ก จนโตเป็นหนุ่มและเป็นชายวัยกลางคน กลายมาเป็น “โทรศัพท์มือถือ” เครื่องมือประจำตัวแสนมหัศจรรย์ที่คนใช้ติดตัว เมื่อผมเป็นผู้สูงอายุอยู่ทุกวันนี้

โทรศัพท์ที่ผมเคยรู้จักได้ก้าวไกลเกินกว่าที่จะเรียกว่าโทรศัพท์แล้ว ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม หรือจะเรียกสั้นๆ ว่ามือถือ มันได้รวมเอาสมรรถนะและความสามารถของอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายชนิดเข้าไว้ด้วยกัน อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณฝ่ามือน้ำหนักเพียง 20 ถึง 30 กรัมที่วางอยู่ข้างหน้าผมขณะนี้ คือเครื่องโทรศัพท์ เครื่องคิดเลข นาฬิกา คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวีดีโอ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องบันทึกเสียง วิทยุ โทรทัศน์ สมุดบันทึก ห้องสมุด เครื่องเล่นเกมส์ และอื่นๆ อีกมากมายสุดที่จะจาระไน

แล้วผมจะขาดมือถือได้อย่างไร

ในชีวิตของผู้สูงอายุที่ยังทำงานอย่างผมทุกวันนี้ ผมต้องใช้มือถืออยู่เป็นประจำ เรียกว่าเกือบตลอดทั้งวันก็ว่าได้ ผมใช้มือถือในการอ่านรายงาน เข้าร่วมประชุม และใช้ในกิจการส่วนตัวที่สำคัญ ผมใช้มือถือเพื่อติดต่อกับลูกๆ ที่อยู่ห่างไกลคนละจังหวัด คนละทวีปกัน ผมมีไลน์กลุ่มที่มีสมาชิกเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ผมติดต่อกับเพื่อนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นเพื่อนเก่าสมัยเรียนหนังสือมาด้วยกัน และปรึกษาหารือกันในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน

เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือแพร่หลายไปมาก ในประเทศไทยเกือบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือใช้กันแล้ว มือถือไม่ได้เป็นโทรศัพท์ที่มีเฉพาะบางบ้าน หรือบางพื้นที่อีกต่อไป ผมได้ยินว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ตามหมู่บ้านห่างไกลติดต่อกับลูกหลานที่ออกไปทำงานที่อื่นด้วยมือถือ คิดถึงกันก็โทรหากัน เปิดหน้าจอให้เห็นหน้ากัน ลูกหลานได้คุยกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย โดยเห็นหน้าเห็นตากันด้วย เคยได้ยินคำบอกเล่าที่พ่อแม่บอกลูกๆ ว่า “ไม่ต้องเดินทางกลับมาหาหรอก ลำบากเปล่าๆ พูดคุยกันทางโทรศัพท์อย่างนี้ก็ได้ เอาหลานมาให้เห็นหน้าด้วยก็ดี” (ลูกหลานที่ติดต่อพ่อแม่ที่อยู่ห่างไกลทางโทรศัพท์ก็อย่าลืมโอนเงินให้พ่อแม่ทางโทรศัพท์ด้วยก็แล้วกัน)

เพื่อนผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยความดีใจว่า เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเดินทางไปหาหมอเพื่อขอรับยาที่โรงพยาบาลอีกแล้ว เมื่อถึงวันเวลานัด ทางโรงพยาบาลจะส่งข้อความผ่านมือถือมาถามว่ามีอาการผิดปกติอย่างไรหรือไม่ ถ้าไม่มี โรงพยาบาลจะจัดส่งยาที่เคยมารับอยู่เป็นประจำมาให้ถึงที่บ้านทางไปรษณีย์

อย่างที่ผมเขียนไว้แล้วในตอนต้น ผมใช้เวลามากในแต่ละวันอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ติดต่อญาติพี่น้องและเพื่อนๆ หาความรู้ดูข่าวสาร ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ในสังคมทางโซเชียลมีเดีย ได้ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ฟังเพลงเพราะๆ อ่านคติเตือนใจดูคลิปตลกขำๆ ที่ทำให้ได้หัวเราะ

ผมเชื่อว่า โทรศัพท์มือถือจะเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้สูงอายุไทยในอนาคต

เพื่อนคนหนึ่งเพิ่งส่งข้อความมาให้อ่านเมื่อสักครู่นี้เอง เป็นคำพูดของชาร์ลี แชปลิน ดาราตลกผู้มีชื่องเสียง ที่ชวนให้คิด

    “ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะอยู่คงทนถาวร แม้แต่ความทุกข์ร้อนที่เราประสบอยู่ขณะนี้”
    “ฉันชอบเดินท่ามกลางสายฝน เพราะจะไม่มีใครสังเกตเห็นน้ำตาของฉัน”

วันนี้ผมขอจบแค่นี้ ดีใจที่เขียนบทความนี้จบเมื่อต้นเดือนกันยายน โดยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตรงนี้ไม่มีคำว่าโควิด-19 ที่น่าเบื่อหน่ายเลยสักคำ



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th