The Prachakorn

สามเดือน...ยังไม่พอ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

09 เมษายน 2561
304



ตอนนี้ดิฉันได้กลายเป็นคุณแม่มือใหม่แล้ว หลังจากได้ให้กำเนิดลูกชายคนแรกไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน หลังได้ลาคลอดไป 90 วัน ขณะนี้ถึงเวลาต้องกลับมาทำงานแล้ว วันนี้จึงอยากจะมาแบ่งปันประสบการณ์ตอนลาคลอด และการเลี้ยงลูกเมื่อต้องกลับไปทำงาน

ก่อนคลอด...

ช่วงก่อนคลอดเป็นช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้น เป็นช่วงที่ได้ตระเตรียมชีวิตเพื่อต้อนรับสมาชิกคนใหม่ ทุกคนในครอบครัวสนุกกับการเลือกซื้อของใช้เด็กอ่อน การอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพ่อแม่คนอื่นๆ

ด้วยความตื่นเต้น จึงมักนั่งจินตนาการอยู่เสมอว่าชีวิตหลังมีลูกจะเป็นอย่างไร พร้อมกับวางแผนคร่าวๆ ไว้ในหัว ว่าจะจัดการกับชีวิตตัวเองอย่างไร ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน ความตั้งใจคือจะเลี้ยงเองเป็นหลัก โดยให้สามี คุณแม่ และน้องสาวมาช่วยเป็นลูกมือ ในแต่ละวันวางแผนเอาไว้ว่าช่วงกลางวันระหว่างที่ลูกนอน ก็จะจัดการกับธุระส่วนตัว สะสางงานเล็กน้อย ตอนเย็นก็จะพาลูกออกไปเดินเล่น พอตกกลางคืนเอาลูกเข้านอน แล้วก็ค่อยมานั่งพักผ่อน ดูโทรทัศน์ พูดคุยกับครอบครัว ก่อนจะเข้านอน

ช่วงลาคลอด...

เมื่อลูกเกิดแล้ว แน่นอนว่าแผนที่เคยจินตนาการไว้ล้มเหลวไม่เป็นท่า ถึงจะมีคนช่วยเลี้ยงตั้งเยอะ แต่เวลาในการดูแลเจ้ามนุษย์ตัวจิ๋วในแต่ละวันก็รู้สึกยังไม่พอ ลูกยอมนอนบนเตียงตัวเองอย่างดีเพียงสัปดาห์แรก หลังจากนั้นก็เริ่มติดคน ชอบที่จะได้อยู่ใกล้ชิดคน เด็กน้อยจะยอมนอนต่อเมื่อมีคนอุ้มหรือนอนอยู่บนตัวคน เพราะฉะนั้นนอกจากจะต้องคอยให้นมทุกสองถึงสามชั่วโมงแล้ว ยังต้องเป็นเตียงให้ลูกอีกด้วย เวลาที่จะสะสางงานไม่ต้องพูดถึง แค่ได้เข้าห้องน้ำก็ดีใจแล้ว ส่วนกลางคืนก็ไม่ต่างอะไรกับกลางวัน เพราะเด็กแรกเกิดเขาไม่สามารถแยกกลางวันและกลางคืนได้ วันเสาร์อาทิตย์ก็ตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เจ้าเด็กน้อย ทำไมไม่มีความเกรงใจกันบ้างเลย แม่ก็อยากนอนตื่นสายๆ บ้างนะ

กลับไปทำงาน...

พอครบสามเดือน การเลี้ยงลูกเริ่มลงตัวมากขึ้นเยอะ ทั้งเราและลูกเริ่มปรับตัวกันได้ แต่ก็ถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน จากเดิมที่เคยเชื่ออยู่แล้วว่าการลาคลอดสามเดือนนั้นน้อยเกินไป ตอนนี้เมื่อได้มีประสบการณ์เองโดยตรง ทำให้ยิ่งเชื่อมั่นว่าสามเดือนนี้น้อยเกินไปจริงๆ การได้อยู่บ้านเลี้ยงลูกมีข้อดีอย่างหนึ่งคือการได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งการกินนมแม่มีประโยชน์ต่อลูกในด้านพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ จึงตั้งใจอยากให้ลูกได้กินนมแม่ให้นานที่สุด อย่างน้อยที่สุดคือ 6 เดือนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การกลับไปทำงานทำให้การกินนมแม่ยุ่งยากมากขึ้น โชคดีที่สำหรับตัวเองที่ทำงานเปิดกว้าง การมาปั๊มนมที่ทำงานจึงไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่นึกถึงคุณแม่ท่านอื่นๆ หากที่ทำงานไม่สนับสนุน คนที่ทำงานไม่เข้าใจ หรือสถานที่ไม่อำนวย แม้แต่จะปั๊มนมเก็บไปให้ลูกกินก็เป็นเรื่องยาก การกลับไปทำ.งานจึงหมายความว่าเด็กหลายคนจะต้องหยุดกินนมแม่ไปอย่างน่าเสียดาย

ภาพคุณแม่มือใหม่

เมื่อถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน คำถามหนึ่งที่ตามมาในทันทีคือ จะให้ใครเลี้ยง ก็ต้องมานั่งพิจารณาทางเลือกต่างๆ เช่น ฝากให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยง ให้สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กช่วยดูแล หรือจ้างพี่เลี้ยง ทางเลือกแรกโดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะดีสุด แต่ติดที่ว่าปู่กับย่าอยู่ต่างจังหวัด ส่วนตากับยายยังคงทำงานกันทั้งคู่ ส่วนจะฝากไว้กับสถานรับเลี้ยงเด็กก็เป็นห่วง เพราะรู้สึกว่าอายุเพียง 3 เดือนยังเล็กเกินไป ท้ายที่สุดจึงลงเอยที่จ้างพี่เลี้ยง

จากประสบการณ์ส่วนตัวจึงเห็นว่าการลาคลอดเพียง 90 วันนั้นน้อยเกินไป หลายคนจึงจำเป็นต้องเลือกว่าอยากจะมีความก้าวหน้าทางการงานหรืออยากจะสร้างครอบครัว เพราะสถานการณ์หลายๆ อย่างไม่อำนวยให้สามารถทำงานพร้อมๆ ไปกับการเลี้ยงลูกได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนสมัยนี้หลายคนเลือกที่จะไม่มีลูก

หากประเทศไทยต้องการสนับสนุนการเกิดอย่างมีคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่สามารถมีลูกได้โดยไม่ต้องเสียสละเรื่องความก้าวหน้าทางการงาน การขยายเวลาการลาคลอดเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรต้องผลักดัน รวมถึงการสนับสนุนให้พ่อได้ลาเพื่อมาช่วยเลี้ยงลูก การให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานสำหรับพ่อแม่ที่มีลูก และการจัดบริการศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่ได้คุณภาพ

สำหรับตัวเอง คงจะดีไม่น้อยถ้าได้เวลาดูแลลูกมากกว่า 3 เดือน ให้ได้สร้างสายสัมพันธ์กับลูกและได้ดูแลลูกอย่างเต็มที่ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ครอบครัวเราคงได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อีกสักคน


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th