ในบทความครั้งก่อนได้พูดถึงการลาคลอดของผู้หญิงไปแล้ว ครั้งนี้จะมาพูดถึงการลาของผู้ชายเพื่อมาเลี้ยงลูกบ้าง เรื่องการลาเลี้ยงลูกของผู้ชายยังเป็นเรื่องใหม่และยังไม่ได้เป็นที่ปฏิบัติอย่างแพร่หลายมากนักในสังคมไทย เนื่องจากโดยทั่วไป คนยังเชื่อว่าหน้าที่การเลี้ยงลูกเป็นของผู้หญิงเป็นหลัก ดังนั้นการให้ผู้ชายลางานเพื่อมาช่วยภรรยาที่เพิ่งคลอดลูก จึงเป็นสิทธิที่ถูกมองข้ามไปเพราะคิดว่าไม่จำเป็น ฟังแล้วน่าเห็นใจบรรดาคุณพ่อลูกอ่อนจริงๆ
แต่ในความเป็นจริง การให้ผู้ชายลางานเพื่อมาเลี้ยงลูกมีประโยชน์มากกว่าที่หลายคนคิด จากการทบทวนงานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศ พบว่าการที่ผู้ชายลางานมาเพื่อช่วยเลี้ยงลูกส่งผลดีต่อครอบครัวหลายประการ เช่น
ภาพจาก: www.postpartumprogress.com
จะเห็นได้ว่าการลาเลี้ยงลูกของพ่อส่งผลดีต่อสถาบันครอบครัว และที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงส่งเสริมให้พ่อได้ลางานเพื่อมาช่วยเลี้ยงลูก โดยหลักการในการให้สิทธิวันลาแก่พ่อมักมีสองลักษณะ คือ กำหนดตายตัวเลยว่าพ่อมีสิทธิลาได้กี่วัน หรือ ให้เป็นวันลาสำหรับพ่อและแม่รวมกัน แล้วให้ไปจัดสรรแบ่งวันลากันเอง โดยกำหนดวันลาขั้นต่ำสำหรับพ่อเอาไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งพ่อและแม่ได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกทั้งคู่ ตัวอย่างเช่นประเทศไอซ์แลนด์ ที่ให้พ่อและแม่ลารวมกันได้ถึง 9 เดือน โดยแบ่งเป็นวันลาของแม่ 3 เดือน วันลาของพ่อ 3 เดือน ส่วนวันลาที่เหลืออีก 3 เดือนให้ไปตกลงจัดสรรกันเอง
สำหรับประเทศไทย ข้าราชการผู้ชายมีสิทธิลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรได้ 15 วัน (ทำการ) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกมากขึ้น สำหรับตัวผู้เขียนเองก็ได้รับประโยชน์จากสิทธินี้เนื่องจากสามีรับราชการ จึงได้ลองไปถามสามีว่ามีความคิดเห็นอย่างไรที่ได้ลางานมาช่วยเลี้ยงลูก 15 วัน สามีตอบว่าการได้หยุดงานมีประโยชน์มาก เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ครอบครัวเราต้องปรับตัวกับการมีสมาชิกใหม่อย่างมาก การได้ลางานเปิดโอกาสให้ได้มาคลุกคลีกับการเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการช่วยปรับตัวเข้าสู่โหมดการเป็นพ่อได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ช่วงที่ภรรยาเพิ่งคลอด ร่างกายยังไม่แข็งแรงเต็มที่และอารมณ์ยังไม่ค่อยคงที่ (สามีว่าอย่างนั้น) การลางานจึงทำให้มีโอกาสได้ดูแลภรรยาไปในตัวด้วย
จากประสบการณ์ส่วนตัวก็เห็นด้วยว่าการลางานของสามี ช่วยทำให้การเลี้ยงลูกในช่วงแรกเหนื่อยน้อยลง เพราะช่วยกันผลัดเปลี่ยนการดูแลลูกได้ ลูกกินนมเสร็จ สามีก็ช่วยจับลูกเรอ และกล่อมนอน ทำให้มีเวลาได้พักบ้าง ส่วนช่วงกลางคืนที่ลูกไม่ยอมนอน ก็ผลัดกันอุ้ม มีบางคืนที่สามีเอาลูกไปนอนกันสองคนในอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้ภรรยาได้มีเวลานอนเพิ่มขึ้นบ้าง ถ้าหากสามีต้องตื่นเช้าไปทำงาน ก็คงไม่สามารถช่วยอย่างนี้ได้
ถึงแม้ว่าปัจจุบันผู้ชายจะมีสิทธิลาได้เพียง 15 วัน แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเพียงเท่านั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้ อย่างน้อยผู้ชายก็มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกตั้งแต่ต้น ซึ่งน่าจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกมากขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย หน้าที่การเลี้ยงลูกจะได้ไม่เป็นของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้หญิงจะได้มีเวลาสำหรับหน้าที่ภาระอื่นๆ อย่างเช่นวันนี้ ที่สามีกำลังช่วยกล่อมลูกให้นอนกลางวัน ทำให้ผู้เขียนได้มีเวลาเขียนบทความนี้จนจบ
1 Rehel, E. M. (2013). When dad stays home too paternity leave,gender, and parenting. Gender & Society, 0891243213503900
2 Kotsadam, A., & Finseraas, H. (2011). The state intervenes in the battle of the sexes: Causal effects of paternity leave. Social Science Research, 40(6), 1611-1622..
3 Cools, S., Fiva, J. H., & Kirkeboen, L. J. (2011). Causal effects ofpaternity leave on children and parents.
4 Duvander, A. Z., Lappegard, T., & Andersson, G. (2010). Family policy and fertility: Fathers’ and mothers’ use of parental leave andcontinued childbearing in Norway and Sweden. Journal of European Social Policy, 20(1), 45-57.