The Prachakorn

ชีวิตที่จำยอมต้องแต่งงานก่อนวัยอันควรของเด็กข้ามชาติ


กัญญา อภิพรชัยสกุล

15 พฤศจิกายน 2564
1,214



เด็กข้ามชาติกลุ่มเปราะบางจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสดีๆ ในชีวิตไปเนื่องจากการแต่งงานก่อนวัยอันควร ทำให้เด็กขาดโอกาสในการศึกษา เด็กบางคนต้องแต่งงานเพื่อช่วยลดภาระของครอบครัวเนื่องจากพ่อแม่มีลูกหลายคน อีกทั้งครอบครัวต้องประสบกับภาวะยากจน เมื่อพ่อแม่ต้องเดินทางมาเป็นแรงงานในประเทศไทยเด็กซึ่งติดตามมาด้วยจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือครอบครัว

จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม โครงการ “การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19” ทีมวิจัยได้สัมภาษณ์นางสาวบี (นามสมมุติ ปัจจุบันอายุ 19 ปี) นางสาวบีย้ายตามครอบครัวซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติกัมพูชามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ตอนเธออายุได้ 12 ขวบ เพราะความยากจนทำให้เธอไม่ได้เรียนหนังสือตั้งแต่ประเทศต้นทาง เมื่อมาถึงเมืองไทยเธอจึงไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนไทยได้ อีกทั้งยังต้องดูแลน้องชายอีก 2 คน ที่เดินทางติดตามมาด้วย เธอต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเท่าที่จะช่วยได้ ส่งผลให้เธอต้องทำงานตั้งแต่อายุ 12 ขวบ โดยอาชีพที่ทำได้ในขณะนั้นสำหรับเด็กที่พูดไทยได้เล็กน้อย คือ การช่วยขายของเล็กๆ น้อยๆ ในร้านขายของชำ

“เราเรียนไม่ได้เพราะต้องดูแลน้องด้วย น้องยังเล็กค่ะ”

“ตอนมาตอนนั้นหนูพอพูดไทยได้บ้าง พอดีน้าหนูเลยแนะนำร้านขายของให้ไปช่วยขายค่ะ”

ต่อมาเมื่อเธออายุได้ 16 ปี แม่เธอป่วยหนักด้วยฐานะยากจนไม่มีเงินซื้อบัตรประกันสุขภาพ จึงทำให้ไม่มีเงินพอที่จะรักษาตัวจึงใช้วิธีกู้เงินมารักษาอาการป่วย แม่เธอเป็นกังวลว่าเธอจะไม่มีคนดูแลจึงขอให้เธอแต่งงานกับผู้ชายที่เธอไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน มีคนแนะนำผู้ชายมาให้ เธอจำต้องแต่งงานในวัยเพียง 16 ปี ตัวเธอเองขณะนั้นคิดว่าเธอยังเด็กเกินไปจึงยังไม่อยากแต่งงานแต่เธอจำต้องแต่งเพราะขัดแม่ไม่ได้ ประกอบกับต้องการช่วยเหลือครอบครัวเพราะคิดว่าถ้าแต่งงานแล้วสามีช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ สามีเธอทำอาชีพประมง เมื่อเธอแต่งงานอายุน้อยเธอจึงยังไม่อยากมีลูกจึงขอสามีว่าขอเวลาก่อนสักระยะหนึ่งค่อยมีลูก ซึ่งสามีเธอเข้าใจ เธอจึงให้แม่ของเธอสอนเรื่องการคุมกำเนิดอยู่ประมาณ 1 ปี เธอจึงปล่อยให้ตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรในช่วงวิกฤติโควิด-19 พอดี ปัจจุบันลูกเธออายุ 1 ขวบกับ 6 เดือน ลูกของเธอเป็นผู้หญิง

“หนูไม่กล้าบอกแม่เรื่องยังไม่อยากแต่งงานค่ะ คิดว่าเรายังเด็กอยู่”

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า เธอและลูกน้อยไม่พ้นการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เมื่อครอบครัวที่ต้องอยู่อาศัยกันอย่างแออัด 7 คน (ตัวเธอเอง ลูก สามี พ่อ แม่ และน้องชายอีก 2 คน) ในห้องเช่าเล็กๆ เมื่อน้องชายได้รับเชื้อมาที่บ้านโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ทุกคนในครอบครัวกลายเป็นผู้ติดเชื้อรวมถึงลูกสาวเธอด้วย หน่วยงานสาธารณสุขมารับเธอและครอบครัวไปกักตัวในโรงแรมที่เป็นสถานกักกันตัวเป็นเวลา 14 วัน เธอและลูกสาวกับแม่ของเธอได้อยู่ห้องพักเดียวกัน วันที่เธอให้มาข้อมูลกับทีมวิจัยเธอและคนในครอบครัวรักษาหายเรียบร้อยมาได้ 1 เดือนแล้ว เธอให้ข้อมูลว่าอีกประมาณ 2 เดือนเธอจะได้รับวัคซีนโควิด-19 สำหรับแรงงานข้ามชาติ

“ตอนติดเชื้อหนูสงสารลูกมากเพราะลูกยังเล็ก เวลาไม่สบายเป็นไข้ลูกจะร้อง ดีที่ได้อยู่ด้วยกันที่โรงแรมที่เป็นสถานกักตัว”

ลูกสาวเธอเกิดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงพอดี นายจ้างจึงให้หยุดงานประกอบกับเธอคลอดลูกพอดี ด้านบวกเธอได้เลี้ยงลูกเองลูกได้กินนมแม่ อีกด้านหนึ่งเมื่อหยุดงานขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัวเนื่องจากน้องชาย 2 คนยังเรียนหนังสืออยู่ (น้องชายอายุ 13 ปี และ 15 ปี) แต่สามีเธอกลับจากการรักษาตัวแล้วโชคดีที่สามารถออกเรือประมงได้พอจะมีรายได้เข้ามาบ้าง
 
ด้านสุขภาพของลูกสาวเธอเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ส่งผลให้ลูกเธอยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เนื่องจากหมอแจ้งว่าต้องรักษาโควิดให้หายก่อนสักประมาณ 2 เดือนถึงจะไปรับวัคซีนเด็กได้ซึ่งเมื่อครบเวลาเธอจะพาลูกไปฉีดวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด

“หมอบอกว่าลูกอีก 2 อาทิตย์ ไปฉีดได้แล้วค่ะ”   

เมื่อเธอมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่เด็กเธอจึงรักประเทศไทยและไม่คิดที่จะกลับไปยังประเทศต้นทาง รวมถึงลูกของเธอด้วย เธอต้องการให้ลูกอยู่ที่ประเทศไทยและต้องการให้ลูกได้เรียนสูงๆ ถึงปริญญาตรีเพื่อลูกเธอจะได้สัญชาติไทย

“อยู่ที่นี่ดี หนูชอบประเทศไทย หนูอยากให้ลูกเรียนให้จบที่ได้บัตรเป็นไทยเลยค่ะ คนไทยใจดี อยู่แล้วมีความสุข”
“อยากให้ลูกเรียนสูงๆ ไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนแม่ แม่ไม่ได้เรียนตอนนี้เขียนหนังสืออะไรไม่ได้เลย”

ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้พ่อแม่เด็กข้ามชาติทุกคน ที่วางอนาคตของลูกไว้เพื่อได้สัญชาติไทย เพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว เราต้องการคนวัยหนุ่มสาวเพื่อเป็นกำลังแรงงานเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป   


กัญญา อภิพรชัยสกุล
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เด็กน้อยเร่งเรียนเขียนอ่าน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th