The Prachakorn

ดังนั้นการตัดสินใคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นโสด


จรัมพร โห้ลำยอง

09 เมษายน 2561
877



"ทำไมน้องไม่แต่งงาน  จะอยู่อีกนานเท่าไหร่

จะครองโสดความสาวให้หนาวใจ   ไว้คอยใครเล่าหนา”

ที่มา: เพลงชวนน้องแต่งงาน

จากปรากฏการณ์คนยุคใหม่ไม่นิยมแต่งงานที่เกิดขึ้นกับครอบครัวไทยในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์ประชากร มีคำอธิบายสนุกๆ มาเสนอให้ชวนขบคิดในคอลัมน์นี้

การแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองคนที่ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ผลของการตัดสินใจที่จะแต่งหรือไม่นั้น ส่งผลในวงกว้างไปยังสังคมรอบตัว ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน เรื่อยไปจนถึงระดับประเทศ ผลพวงที่เห็นชัดเจนคือ ความไม่นิยมแต่งงานของคนรุ่นใหม่ จะไปส่งผลต่อภาวะการเกิดของประชากรไทยให้ลดน้อยลง และโครงสร้างของประชากรผิดรูปผิดร่างไป เป็นการส่งสัญญาณต่อความมั่นคงของประเทศในหลากหลายมิติ ดังนั้นการครองโสดของหนุ่มสาวสมัยนี้ ดูจะไม่เป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว แค่เพียงผู้เขียนหันซ้ายมองขวาในสังคมใกล้ตัว ก็เห็นได้เลยว่าเป็นประเด็นที่น่ากังวลจริงๆ แค่เฉพาะคนทำงานในภาคการศึกษาที่เรียกว่าเป็นส่วนมันสมองของประเทศ ก็เป็นโสดกันสูงถึงร้อยละ 60 ของคนทำงานในวัยเจริญพันธุ์ (แผนภาพที่ 1)

แผนภาพที่ 1    สถานภาพสมรสของคนทำงานในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (16-45 ปี)1

‘ความโสด’ อธิบายทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไร คำตอบคือ อธิบายได้ตั้งแต่มนุษย์เริ่มคิดที่จะครองโสดเลยทีเดียว เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดภายใต้ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด และคนเราก็มีกันแค่ชีวิตเดียว มีคู่แต่งงานได้ทีละคนเสียด้วย (ไม่นับรวมกิ๊ก) ดังนั้นการตัดสินใจแต่งงาน ก็เป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ต้องคิดกันหนัก

การเลือกที่จะโสด จากตรรกะหลักทางเศรษฐศาสตร์บนฐานคิดของต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) อธิบายได้ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร ล้วนมีต้นทุนค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นทั้งสิ้น คนที่เลือกครองโสดได้มองเห็นแล้วว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสของการแต่งงานมีสูง ดูจะไม่คุ้มที่จะสละโสดเอาเสียเลย ก็เลยเลือกที่จะไม่แต่งงาน ผู้เขียนได้ไปขอให้นักวิจัยสาวสวยท่านหนึ่งที่ดูทีท่าว่าจะไม่ยอมสละโสดง่ายๆ ให้ช่วยยกตัวอย่างต้นทุนค่าเสียโอกาสของการแต่งงาน ได้ตัวอย่างมามากมาย เช่น อิสระในการเที่ยวหายไป  เวลาที่จะได้เจอเพื่อนฝูงน้อยลง ต้นทุนในการปรับตัวและปรับวิถีการดำเนินชีวิต ค่าใช้จ่ายจากการแต่งงานที่สูง ต้องซื้อบ้านใหม่ อยู่หอใกล้ที่ทำงานไม่ได้แล้ว หมดโอกาสที่จะนำเงินเดือนไปใช้อย่างอื่น เป็นต้น

คนโสดบางคนอาจจะบอกว่า ไม่ได้เลือกที่จะโสดเลยสักนิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็อธิบายได้อีกเช่นกันว่า ทำไมคนที่ไม่อยากโสดแต่ยังโสดจึงมีแนวโน้มมากขึ้น อธิบายได้โดยทฤษฎีมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ของ Adam Smith ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ปล่อยให้กลไกตลาดเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตลาดสินค้า แต่ “ตลาดความรัก” มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอดเวลา รูปแบบตลาดเดิมๆ ที่มีแม่สื่อมาคอยเป็นผู้สานสัมพันธ์ หรือการไปพบปะกันของหนุ่มสาวที่งานวัดหรืองานบุญต่างๆ ได้หายไปแล้ว ตลาดความรักยุคใหม่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เชื่อใจได้ว่าจะได้เจอคู่ที่ดี เช่น ตามผับ บาร์ หรือเว็บหาคู่ เป็นต้น ทำให้เรายังไม่เจอเนื้อคู่ หรือเนื้อคู่ยังไม่เจอเรา จึงต้องเป็นโสดไปโดยปริยาย

สำหรับคนโสดที่มีประสบการณ์ล้มเหลวในการค้นหาคู่เศรษฐศาสตร์ยืนยันได้ว่าไม่ใช่ความผิดของตัวบุคคลเลยสักนิด ให้โทษ “ตลาด” ได้เต็มที่ ทั้งนี้คนที่โสดสนิท (ไม่มีคู่รักในสถานะใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีกิ๊ก ไม่มีคนที่คลิ๊กกันเลย) สังคมมักจะมองสาเหตุของความโสดสนิทแบบโทษตัวบุคคล เช่น ไม่สวย ไม่หล่อ ไม่รวย หรือเป็นคนนิสัยประหลาด เป็นต้น แต่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กลับมองในมุมต่าง ที่เห็นว่ากลไกตลาดที่ให้ข้อมูลไม่สมบูรณ์เป็นที่มาสำคัญของภาวะ “โสดสนิท” โดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 2010 ได้แก่ Peter Diamond, Dale Mortensen และ Christopher Pissarides ได้ให้คำอธิบายในทิศทางดังกล่าวไว้ในแบบจำลองการค้นหาและการจับคู่2ไว้ว่า ความล้มเหลวในการจับคู่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ (imperfection) ในตลาดเลือกคู่ ที่ทำให้เกิดต้นทุนในการค้นหาข้อมูลของผู้ที่มองหาคู่ เรียกได้ว่าในโลกนี้มีคนที่ต้องการเราอยู่ แต่ด้วยความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล เช่น ระยะทางที่ห่างไกลกัน ความสัมพันธ์ที่ไม่เชื่อมถึงกัน คาบเวลาที่ทำให้คลาดกัน ทำให้คู่ของเราไม่ทราบว่าเราที่มีคุณสมบัติตามที่เขาต้องการอยู่ตรงนี้ ที่มีคุณสมบัติตามที่เขาต้องการ (นิสัย รูปลักษณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสามารถ) ยืนรออยู่ที่นี่ ความไม่สมบูรณ์เหล่านี้ ทำให้บุคคลสองคนไม่เจอกัน ไม่ได้รักกัน และไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

รู้ทฤษฎีที่ว่าด้วยความโสดแล้วดีอย่างไร ในระดับบุคคล คำตอบ คือ ช่วยสะท้อนข้อคิดในการตัดสินใจเลือกคู่ว่าความรักไม่ใช่เรื่องของอารมณ์เท่านั้น ถ้าบุคคลมองความรักแบบใช้เหตุผล (rational agents) ก็จะทำให้ได้รับผลจากการตัดสินใจที่น่าพึงพอใจสูงสุด (maximizing utility) และสำหรับคนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการหาคู่ อาจมองเห็นปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคในการพบเจอคู่รัก เช่น การเข้าสู่ตลาดที่สะท้อนข้อมูลที่ดีไปยังคู่ที่รอเราอยู่ อาจจะไปเข้าวัดทำบุญ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกคนโสดในพื้นที่ให้รู้ว่าเราเป็นคนดี ใจบุญ ใจเย็น มีเมตตา เป็นต้น ในระดับมหภาค ก็เป็นประโยชน์ในเชิงนโยบาย กล่าวคือ หากภาครัฐอยากส่งเสริมให้คนหันมาแต่งงาน ก็อาจจะเริ่มที่การลดต้นทุนในการใช้ชีวิตคู่ หรือการสนับสนุนในเรื่องของตลาด เช่น ในประเทศสิงคโปร์ที่ได้เคยจัดทริปล่องเรือหาคู่ให้หนุ่มสาว และจัดโครงการบ้านราคาถูกให้กับคู่แต่งงาน เป็นต้น


1ข้อมูลจากโครงการนวัตกรรมจัดการสร้างสุข: บูรณาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะแห่งประเทศไทย (สำรวจปี 2558-2559 จากฐานข้อมูล 10 มหาวิทยาลัยตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวนคนทำงานอายุ 16-45 ปี 12,500 คน)

2แบบจำลองนี้ได้อธิบายการจับคู่ในตลาดแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างแต่สามารถนำมาปรับใช้กับการหาคู่รักได้เช่นกัน


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th