“เกษียณ” แปลว่า สิ้นไป ทางราชการใช้คำ. “เกษียณอายุ” ว่าหมายถึง ครบกำหนดอายุรับราชการ หรือสิ้นกำหนดเวลารับราชการ ตาม พรบ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 13 “บำเหน็จบำนาญเหตุสูงอายุนั้นให้แก่ข้าราชการผู้มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว”
ปัจจุบัน คนอายุ 60 ปี ยังแข็งแรงและยังสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยเฉลี่ยอีก 20 กว่าปี การดำรงชีวิตภายหลังเกษียณให้ราบรื่นมีความสุข ผู้เกษียณต้องใส่ใจกับสุขภาพ หมั่นสังเกตสัญญาณเตือนต่างๆ เช่น อาการปวดหัวเป็นประจำ นอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่มหรือลดผิดปกติ เพื่อจะได้รีบปรึกษาแพทย์ ผู้เกษียณฯ ควรออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรงจิตใจแจ่มใส กระชุ่มกระชวย ควรบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด มีการวางแผนการเงินและเก็บออมไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัว ลูกหลาน ทำตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา เพื่อจิตใจที่สุขสงบ ผู้เกษียณอายุไม่ควรแยกตัวออกจากสังคม ควรออกไปคบหาสมาคมกับเพื่อนฝูง หรือนัดสังสรรค์กันบ้าง เพื่อให้ชีวิตสดชื่น
ผู้สูงอายุชาติตะวันตก แม้จะมีเงินบำเหน็จบำนาญหรือสวัสดิการที่ได้จากรัฐ แต่เมื่อเจอภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้เกษียณอายุในหลายประเทศเริ่มแสวงหาที่อยู่ใหม่ โดยเลือกใช้ชีวิตในประเทศที่มีความเป็นอยู่สบายๆ อากาศดี ค่าครองชีพไม่สูงนัก ประเทศไทยก็ถูกจัดจากเว็บไซต์ BBC ให้เป็นประเทศ 1 ใน 7 ประเทศทั่วโลกที่เหมาะแก่การใช้ชีวิตยามเกษียณ (ปานามา เอกวาดอร์ มาเลเซีย สเปน มอลตา โปรตุเกส และไทย) ประเทศไทยซึ่งได้รับฉายา “แผ่นดินแห่งรอยยิ้ม” จะทำให้ผู้เกษียณมีรอยยิ้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ดิน ฟ้า อากาศดี และวัฒนธรรมที่ให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุ
คนวัยเกษียณควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในครอบครัวและสังคม ทำตนเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดี มีศีลธรรม ทำตนให้เป็นที่เคารพของผู้น้อย สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางให้ผู้เกษียณฯ ได้เริ่มต้น “ชีวิตใหม่” อย่างมีความสุขทั้งกายและใจตลอดไป
ที่มา:
** จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง ปีที่ 38 ฉบับที่ 1 เกษียณอย่างไร...ให้สุขใจ