The Prachakorn

พายุฤดูร้อน


เพ็ญพิมล คงมนต์

16 เมษายน 2561
459



พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) เป็นพายุฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูร้อน ช่วงเดือนเมษายนหรือก่อนเริ่มต้นฤดูฝน โดยทั่วไป พายุนี้มักเกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากการแผ่ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนลงมาบริเวณนี้ ดังนั้นในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและชื้น มีการยกตัวของมวลอากาศอยู่บ้างแล้ว เมื่อกระทบอากาศเย็น ก็ทำให้มวลอากาศร้อนยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ที่ก่อตัวขึ้นก็จะก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอุณหภูมิยอดเมฆต่ำกว่า -60 ถึง -80 องศาเซลเซียส จึงทำให้เกิดลูกเห็บตกได้

ลักษณะอากาศก่อนเกิดพายุฤดูร้อน สังเกตได้ว่ามีอากาศร้อนมาหลายวัน และในวันที่เกิดพายุฤดูร้อนอากาศจะร้อนอบอ้าวมากขึ้น ลมสงบ ท้องฟ้ามัว ทัศนวิสัยไม่ดี เมฆก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว และมีฟ้าแลบ ฟ้าคะนองในระยะไกล ฝนตก ลมเริ่มพัดแรง มีลักษณะเป็นลมกระโชกเป็นครั้งคราว

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน

  1. ควรอยู่ใกล้อาคารบ้านเรือนที่แข็งแรง และปลอดภัยจากน้ำท่วม และอยู่แต่ภายในอาคาร
  2. การอยู่ในรถยนต์ จะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยวิธีหนึ่ง แต่ควรจอดรถให้อยู่ห่างไกลจากบริเวณที่น้ำอาจท่วมได้
  3. อยู่ห่างจากบริเวณที่เป็นน้ำ ออกห่างจากชายหาด เมื่อปรากฏพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากน้ำท่วม และฟ้าผ่า
  4. ในกรณีที่อยู่ในป่า ในทุ่งราบ หรือในที่โล่ง ควรคุกเข่าและโน้มตัวไปข้างหน้า แต่ไม่ควรนอนราบกับพื้น เนื่องจากพื้นเปียกเป็นสื่อไฟฟ้า และไม่ควรอยู่ในที่ต่ำ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ไม่ควรอยู่ในที่โดดเดี่ยวหรืออยู่สูงกว่าสภาพสิ่งแวดล้อม
  5. ออกให้ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งต้นไม้สูง ต้นไม้โดดเดี่ยวในที่แจ้ง
  6. ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และควรงดใช้โทรศัพท์ชั่วคราว นอกจากกรณีฉุกเฉิน
  7. ไม่ควรใส่เครื่องประดับโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง ในที่แจ้ง หรือ ถือวัตถุโลหะ เช่น ร่ม ในขณะปรากฏพายุฝนฟ้าคะนอง

ที่มา: วีทิต วรรณเลิศลักษณ์. “พายุฤดูร้อน”. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา. http://www.scimath.org/lesson-physics/item/7304-thunderstorms (7 มีนาคม 2561)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th