ในวันสงกรานต์ของทุกปี ผมจะถือโอกาสนำพระพุทธรูปที่เป็นพระบูชา และพระพิมพ์ขนาดเล็ก รวมทั้งเหรียญพระที่ระลึกขนาดต่าง ๆ มาเช็ดปัดฝุ่นทำความสะอาด จะเรียกว่าเป็นการ “สรงน้ำพระ” ที่บ้านในวันขึ้นปีใหม่ไทยก็คงจะพูดไม่ได้เต็มปาก เพราะผมไม่ได้จัดพิธีกรรมนำองค์พระมาวางบนพานแล้วรดน้ำขอพรให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่ประการใด
แต่การนำพระบูชาทั้งหลายมาทำความสะอาดปีละครั้งก็ทำให้ผมได้ใช้เวลารำลึกถึงพระพุทธคุณและเคลื่อนใกล้พระพุทธศาสนาเข้ามาบ้าง พระพุทธรูปที่ผมบูชาองค์สำคัญคือ “พระพุทธโสธร” เวลานำท่านออกมาเช็ดถู ผมก็นึกถึงหลวงพ่อโสธรองค์จริงประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร แปดริ้ว ผมเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทราจึงได้ปวารณา ตัวเป็นลูกหลวงพ่อมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวน้อย ๆ
หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปที่มีผู้คนจำนวนมากนับถือ ท่านมีกิตติศัพท์ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ใครมาบนบานขอสิ่งใดก็มักจะได้สิ่งนั้น ๆ ตามประสงค์
สงกรานต์ปีนี้ผมนั่งมองพระพุทธรูป “หลวงพ่อโสธร” ท่านเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีลักษณะงดงาม พระหัตถ์ทั้งสองของท่านวางหงายขึ้นซ้อนกันบนหน้าตัก พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระพักตร์นิ่งสงบ และมีรัศมีแห่งความเมตตา
รูป หลวงพ่อโสธร หรือพระพุทธโสธร พระพุทธรูปปางสมาธิ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ฉะเชิงเทรา
ที่มา https://www.pra9wat.com/พระ-พุทธศาสนา/พระพุทธรูป/หลวงพ่อพระพุทธโสธร/ สืบค้นวันที่ 25 เมษายน 2565
เมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้วเห็นจะได้ คุณหมอยุทธ โพธารามิก ได้เล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพระพุทธรูป “ปางมารวิชัย” ให้พวกเราฟัง พระพุทธรูป “ปางมารวิชัย” บางทีก็เรียกว่า “ปางชนะมาร” บางทีก็เรียกว่า “ปางสะดุ้งมาร”
คุณหมอยุทธฯ เริ่มเรื่องด้วยการให้พวกเราสังเกตลักษณะของพระพุทธรูปปางนี้ว่าเป็นท่านั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนหน้าตักหรือพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุหรือเข่า “ทำไมพระหัตถ์ขวาของพระพุทธรูปจึงวางอยู่ที่ตำแหน่งนี้”
คุณหมอยุทธฯ เล่าว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ท่านต้องเผชิญกับหมู่มารที่ยกมาเป็นกองทัพเพื่อขัดขวางการบำเพ็ญเพียร (ตามพุทธประวัติ พญามารมีชื่อว่า พระสหัสพาหุ มีช้างชื่อ คีรีเมขล์ เป็นพาหนะ) คุณหมอยุทธฯ ชี้ให้เห็นว่ามารที่มาผจญพระโพธิสัตว์แท้ที่จริงแล้วคือ กิเลส ตัณหา ราคะ รวมทั้งโลภ โกรธ หลง ที่มาในรูปต่าง ๆ เพื่อหลอกล่อขัดขวางให้พระพุทธองค์เสียสมาธิหยุดบำเพ็ญเพียร
คุณหมอยุทธฯ แสดงท่าประกอบให้เห็นภาพว่า ขณะที่พระพุทธองค์หลับพระเนตรทำสมาธิจิตอยู่นั้น มารร้ายในรูปของสตรีงามก็มากรีดกรายเย้ายวนอยู่ตรงหน้า พระองค์ถึงกับ “สะดุ้ง” เคลิ้มตามมายาของหมู่มารขยับพระชานุจะผุดลุกขึ้นยืนคล้อยตามมารร้าย แต่ทันใดนั้นท่านกลับข่มใจจนเอา “ชนะมาร” ร้ายได้ จึงเอาพระหัตถ์ขวากดเข่าไว้ไม่ให้ลุกขึ้นยืนและยังคงอยู่ในท่าประทับนั่งตามเดิม
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเอา “ชนะมาร” ได้แล้ว ก็ได้ทำสมาธิจิตจนตรัสรู้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อมา
รูป พระพุทธรูปปางมารวิชัย
https://www.onab.go.th/th/content/category/detail/id/77/iid/3518 สืบค้นวันที่ 25 เมษายน 2565
พระพุทธรูปที่เป็นพระประธานในโบสถ์ของวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยจะอยู่ในอิริยาบถปางมารวิชัยและปางสมาธิเกือบทั้งสิ้น เมื่อเราพอจะเข้าใจที่มาที่ไปของพระพุทธรูปปางมารวิชัยแล้ว เราก็คงพอจะเข้าใจความสำคัญของพระพุทธรูปทั้งสองปางนี้
พระพุทธรูป “ปางมารวิชัย” หรือ “ปางชนะมาร” เป็นลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน ท่านต้องผจญมาร ต่อสู้กับตัณหา ราคะทั้งหลายทั้งปวงที่มารบกวนจิตใจท่าน และเมื่อพระองค์ท่านเอาชนะมารได้แล้ว ท่านก็ประทับนั่งใน “ปางสมาธิ” ด้วยใจบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว จนได้ตรัสรู้เป็นเหตุการณ์ในลำดับต่อมา
คนไทยให้ความสำคัญของอิริยาบถทั้งสองปางนี้ของพระพุทธเจ้า จึงนิยมสร้างพระประธานของอุโบสถในปางชนะมารและปางสมาธิมาตั้งแต่โบราณกาล
เดี๋ยวนี้ ถ้าผมมีโอกาสเข้าไปในโบสถ์ของวัดใดก็ตาม ก็จะนั่งสงบใจหน้าพระประธาน ชื่นชมงานศิลปะในการปั้นและหล่อหลอมองค์พระพุทธรูป ดื่มด่ำกับความสงบเย็นภายในโบสถ์
ที่สำคัญคือผมจะพิจารณาใคร่ครวญอิริยาบถของพระพุทธองค์ จากปางผจญมาร ชนะมาร หรือ มารวิชัย จนไปสู่ปางสมาธิในที่สุด