ต้อนรับศักราชใหม่ช่วงหยุดยาวทุกครั้ง บ้านเราจะต้องมีทั้งเรื่องเฉลิมฉลอง และข่าวเศร้าตามหน้าจอทีวี หรือหนังสือพิมพ์ให้สะเทือนใจไปพร้อมๆ กัน ในทุกปี กราฟสถิติหนึ่งที่คนไทยอยากจะเห็นหัวลูกศรของมันทิ่มลงเรื่อยๆ คือ กราฟรายงานจำนวนอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและการตายบนท้องถนนของคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน หรือพาครอบครัวไปท่องเที่ยวในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาล ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีหลังหมดช่วงเทศกาลรื่นเริงปีใหม่ที่ทุกสำนักข่าวจะต้องรายงานหรือพูดถึง ...แต่ “สิ่งที่เป็น” มักไม่ใช่ “สิ่งที่ฝัน”... ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการบาดเจ็บและการตายจากอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ของเราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขปีใหม่ 2560 มีการบาดเจ็บถึง 4,128 ราย และตาย 478 ราย เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนที่บาดเจ็บ 3,505 ราย และตาย 380 ราย (หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็กระโดดเพิ่มถึง 18% และ 26% ตามลำดับ) อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดกับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ (ถึงกว่า 4 ใน 5) และมีสาเหตุหลักจากการดื่มแอลกอฮอล์และการขับรถเร็วเกินกำหนด ซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าใจได้จากตัวเลขการสำ.รวจปี 2558 (แต่ทำใจยอมรับไม่ได้) ที่พบว่ามีผู้ขี่จักรยานยนต์ และขับรถยนต์ถึง 14.4 และ 8% ที่ยอมรับว่าเคยขับขี่ในช่วงที่มีอาการมึนเมาหรือดื่มแอลกอฮอล์มาใน 1 ชั่วโมงi
ที่ผ่านมาประเทศเรามีแคมเปญมากมายออกมาที่ต้องการให้คนขับขี่ยานพาหนะอย่างปลอดภัย มีน้ำใจและเคารพกฎกติกาบนท้องถนนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ด้วยเชื่อว่าสาเหตุหลักของยอดอุบัติเหตุที่ไม่ลดลง (แต่เพิ่มขึ้น) มาจาก “ปัญหาพฤติกรรมของคนใช้รถใช้ถนน” ซึ่งก็คงไม่ผิด เพราะจากรายงานข่าวก็เห็นกันอยู่แล้วว่าส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและความไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของคนไทยเราจริงๆ แต่ในฐานะของคนที่ต้องเดินทางบ่อยๆ เนื่องจากภูมิลำ.เนาของครอบครัวอยู่ที่ต่างจังหวัด ก็คิดว่า หากคนไทยเรามีทางเลือกของระบบขนส่งเพื่อการเดินทางที่ปลอดภัย (กว่าระบบขนส่งด้วยยานยนต์บนท้องถนน) ขณะเดียวกัน สะดวกสบายระดับหนึ่งในราคาที่เอื้อมถึง คนส่วนใหญ่ก็คงเลือกเดินทางด้วยระบบขนส่งนั้น ซึ่งระบบที่ว่าก็คงไม่พ้น การขนส่ง (คน)ทางรางหรือรถไฟ และทางเครื่องบิน ซึ่งเป็นวิธีการเดินทางที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันชัดเจนอยู่แล้วว่าปลอดภัยกว่าการขนส่ง (คน) ทางถนนหลายสิบเท่า
สำหรับเครื่องบิน แม้ว่า ปัจจุบัน “ใครๆ ก็บินได้” แต่ความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารก็ยังค่อนข้างจำกัด อีกทั้งราคาค่าโดยสารในช่วงเทศกาลก็ปรับขึ้นตามดีมานด์ของตลาดที่หลายคนก็เอื้อมไม่ถึง แล้ว “รถไฟ” ล่ะ?? จะทำยังไงได้บ้างที่จะให้สามารถเป็นทางเลือกในการเดินทางหลักของคนไทยได้ จากวิกิพีเดีย พบว่า บ้านเรามีความครอบคลุมการเดินทางโดยรางที่ต่ำกว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก (รวมถึงหลายประเทศที่มีรายได้ปานกลาง) ขอลองเทียบง่ายๆ กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีทางรถไฟยาว 1 กิโลเมตรเทียบต่อประชากรอยู่ที่ประมาณ 5,400 คน ขณะที่ทางรถไฟ 1 กิโลเมตรของเราเทียบต่อประชากรแล้วมากถึง 16,000 คนii ซึ่งนั่นก็แสดงว่า ความครอบคลุมของระบบการขนส่งทางรางของเรานั้นจำกัดกว่าเค้ามาก สะท้อนออกมาที่พฤติกรรมการเดินทางของคนไทย ที่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในกลุ่มผู้ที่เดินทางท่องเที่ยว เยี่ยมญาติ ภายในประเทศทั้งหมดในปี 2558 นั้น มีเพียง 3.6% เท่านั้นที่เดินทางด้วยรถไฟหรือเครื่องบิน ที่เหลือเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ รถขนส่งทางถนนทั้งสิ้น ขณะที่คนญี่ปุ่น สถิติการเดินทางในปี 2557 ชี้ว่า มากกว่า 70% เป็นการเดินทางโดยรถไฟหรือทางราง และการเดินทางบนถนนเพียง 13% เท่านั้นiii
ย้อนกลับมาดูที่สถิติการตายจากอุบัติเหตุของคนไทยเทียบกับคนญี่ปุ่น เค้าอยู่ที่ 4.7 ราย (ปี 2556) เราอยู่ที่ 36.2 ราย (ปี 2555) ต่อแสนประชากรiv ต่างกันถึงเกือบ 8 เท่า ผมก็ยิ่งเชื่อว่า หากบ้านเราพัฒนาระบบการขนส่งทางรางได้ครอบคลุมกว่าที่เป็นอยู่ สะอาด ตรงเวลา และราคาเอื้อมถึง (เอื้อมหน่อยก็ได้...อาจไม่ต้องถูกจนเกินไป สำหรับผู้โดยสารที่พอจ่ายได้) คนไทยก็จะมีทางเลือกในการเดินทางที่ปลอดภัยมากกว่าที่เป็นอยู่ ในทุกเทศกาลเราก็คงได้เห็นตัวเลขอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ การตายที่ลดลง คนที่อยากกลับบ้านไปพบญาติมิตรในช่วงเวลาแห่งความสุข ก็คงได้เดินทางกลับถึงบ้านจริงๆ...ไม่ใช่ถึงบ้าน(เก่า)...
i รายงานการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ พ.ศ. 2558(ระดับเขตสุขภาพ), สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
ii https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_rail_transport_network_size
iii http://www.stat.go.jp/english/data/nenkan/66nenkan/1431-13.htm
iv WHO 2015 “Global status report on road safety 2015”
v http://www.accident.or.th/datacenter/index.php/2015-10-13-04-59-29/133-2551-2559; http://www.dailynews.co.th/regional/546884