The Prachakorn

เด็กเกิดน้อยลง ครอบครัวไทยก็เล็กลง


ปราโมทย์ ประสาทกุล

13 ตุลาคม 2565
941



จะเป็นด้วยเหตุใดหนอ... ที่ทำให้เดี๋ยวนี้วันเวลาช่างผ่านไปไวเสียเหลือเกิน จะเป็นเพราะเรามีอายุมากขึ้น จนมีเวลาชีวิตเหลืออยู่น้อยลงทุกที จึงทำให้เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วขนาดนี้ หรือจะเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ที่ทำให้อะไรต่ออะไรรวดเร็วไปหมด หรือจะเป็นเพราะโลกของเราหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทำให้กลางวันกลางคืนสั้นลง หรือจะเป็นเพราะเหตุใดหนอ

เวลาผ่านไปเร็วขนาดไหน ก็ดูได้จากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยมานาน 2 ปีกว่าแล้ว เริ่มตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 2019 ซึ่งทำให้เลข 19 ถูกใช้เป็นเลขต่อท้ายคำว่าโควิด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการระบาดของไวรัสโคโรนาในครั้งนี้ โควิด-19 แพร่ระบาดมากว่าสองปีแล้ว

การระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของคนทั้งโลก ในประเทศไทย โควิด-19 ทำให้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนในทุกระดับการศึกษา ตั้งแต่ชั้นเรียนก่อนอนุบาลของเด็กเล็ก สูงขึ้นไปถึงระดับบัณฑิตศึกษาขั้นสูงสุด ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ เด็กเล็ก นักเรียน นักศึกษา ไม่มีโอกาสร่วมชั้นเรียน ไม่เห็นหน้าเห็นตา ไม่ได้พบปะปฏิสัมพันธ์กัน คนทำงานจำนวนมากต้องตกงานเพราะอาชีพการงานหลายประเภทต้องหยุดเลิกไป อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศต้องหยุดชะงักลง เพราะประเทศต่างๆ มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศลดลงจนเหลือน้อยมาก

วาดโดย: นิธิพัฒน์ ประสาทกุล

สถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่าสองปีแล้วจริงๆ วันเวลาช่างผ่านไปเร็วเสียเหลือเกิน

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ เป็นต้นเดือนกันยายน ของปี 2565

ปกติ เดือนกันยายน เป็นเดือนที่มีเด็กเกิดมากที่สุดมาแต่ไหนแต่ไร เพื่อนเรียนมหาวิทยาลัยเรียนรุ่นเดียวกับผม เคยมีการตั้งกลุ่มย่อยเฉพาะคนเกิดเดือนกันยายน โดยเห็นว่าเดือนนี้มีเพื่อนในรุ่นเกิดเป็นจำนวนมากที่สุด

ผมเคยเอาสถิติการเกิดรายเดือนของปีต่างๆ มาดู แล้วคิดเป็นอัตราเกิดรายเดือน ก็เห็นได้ชัดเจนว่าอัตราเด็กเกิดรายเดือนของเดือนกันยายนสูงที่สุด รองลงมาคือเดือนสิงหาคม เคยพยายามหาสาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จำได้ว่ามีข้อสรุปง่ายๆ ว่าถ้านับย้อนจากเดือนสิงหาคม-กันยายน ไป 9 เดือน เป็นระยะเวลาที่ตัวอ่อนและทารกอยู่ในครรภ์มารดา ดังนั้น เด็กที่เกิดเดือนสิงหาคม-กันยายน ได้ปฏิสนธิในเดือนธันวาคม-มกราคม

เดือนธันวาคม-มกราคม เป็นช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยอากาศเย็นกำลังพอดี ไม่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งเหมือนในประเทศที่อยู่ส่วนเหนือของโลก นับเป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดีที่จะมีการปฏิสนธิ แล้วอยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลา 9 เดือน จนไปคลอดเอาเดือนสิงหาคม-กันยายน

พอพูดเรื่องการเกิด ผมก็อยากย้ำเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีกลายนี้

“ปี 2564 เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่มีจำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย”

เมื่อคนเกิดน้อยกว่าคนตาย จึงทำให้ประชากรไทยมีอัตราเพิ่มติดลบเป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา

พอพูดว่าเป็น “ปีแรก” ที่อัตราเพิ่มประชากรติดลบ ก็เกิดคำถามว่า แล้วจะมีปีที่สอง ที่สาม และปีต่อๆ ไปตามมาอีกหรือไม่

เมื่อปี 2564 มีเด็กเกิดที่มาจดทะเบียนเพียง 5 แสน 4 หมื่นคน น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเกิดเมื่อ 50 ปีก่อน ในปี 2514 มีเด็กเกิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือเกิดมากถึง 1 ล้าน 2 แสนคน

ท่านผู้อ่านคงจำได้นะครับ “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือ “สึนามิประชากร” ที่ผมพูดถึงบ่อยๆ คือคนไทยที่เกิดในช่วงปี 2506-2526 ที่มีจำนวนมากกว่าล้านคนในแต่ละปี

อย่าลืมนะครับ ปีหน้า 2566 คนรุ่นเกิดล้าน ที่เกิดในปี 2506 ก็จะก้าวสู่วัยสูงอายุ คืออายุ 60 ปี แล้วหลังจากนั้นจะมีคนไทยเข้าสู่วัย 60 ปี ปีละประมาณ 1 ล้านคน ต่อไปเรื่อยๆ อีก 20 ปี

ผมเชื่อว่าปี 2565 เด็กจะเกิดน้อยลงไปอีก จำนวนเกิดอาจจะต่ำจนแตะหลัก 5 แสนคนก็ได้ และผมก็เชื่อว่าจำนวนคนตายจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จะทำให้อัตราเพิ่มประชากรของปี 2565 นี้ ติดลบมากขึ้น

ทำไมจำนวนเกิดจึงได้ลดลงมากมายขนาดนี้

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อปี 2514 มีเด็กเกิดมากถึง 1 ล้าน 2 แสนคน ในขณะที่ประเทศไทยในขณะนั้นมีประชากรประมาณ 35 ล้านคน คิดเป็นอัตราเท่ากับเกิด 3% ต่อประชากรทั้งหมด ปีกลาย 2564 ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน แต่เกิดเพียง 5 แสน 4 หมื่นคน เท่ากับเกิดเพียง 0.8% ต่อประชากรทั้งหมดเท่านั้น

เราจะได้ยินเหตุผลต่างๆ นานา ที่ใช้อธิบายว่าทำไมเด็กไทยจึงเกิดน้อยลง

ผู้หญิงรุ่นใหม่อยู่เป็นโสดกันมากขึ้น คนรุ่นใหม่แต่งงานกันน้อยลง ผู้หญิงหลายคนยืนยันว่าหาผู้ชายที่จะมาแต่งงานด้วยยากในสมัยนี้ ค่านิยมเกี่ยวกับ “การมีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง” “มีลูกหลานไว้สืบสกุล” ได้เปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีภาระในการเลี้ยงลูก การมีลูกในสังคมไทยสมัยนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางคนรวมทั้งผมสรุปง่ายๆ ว่าเป็นเพราะวิถีชีวิตของคนไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว สารพัดเหตุผลที่จะมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่คนไทยมีลูกน้อยลง แล้วแต่ใครจะคิด

การเกิดในประเทศไทยจะลดลงในปีต่อๆ ไปอีกหรือไม่

ตัวเลขจำนวนเด็กเกิดที่น้อยลงกว่าจำนวนคนตายเมื่อปี 2564 หลายคนตีความว่าเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เด็กเกิดน้อยลงและคนตายเพิ่มมาก สำหรับผม เชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็น “ตัวเร่ง” ที่ทำให้การเกิดลดลงและการตายเพิ่มเร็วขึ้น แต่โควิด-19 ไม่ใช่ “ตัวหลัก”

เหตุผลที่แท้จริงคือนอกจากวิถีชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไป ทำให้คนมีลูกกันน้อยแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน คือ สตรีไทยวัยเจริญพันธุ์มีจำนวนลดลงอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเกิดที่ลดลงเมื่อ 20-30 ปีก่อน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ “โรงงานผลิตลูก” ของประเทศไทยได้ลดขนาดและกำลังการผลิตลงอย่างมากแล้ว

ส่วนการตายที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักที่สำคัญคือ โครงสร้างอายุของประชากรไทยที่มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนและสัดส่วนที่สูงขึ้น เมื่อมีคนแก่มาก ก็ต้องมีคนตายมากเป็นธรรมดา เดี๋ยวนี้ 70-80% ของคนตายเป็นคนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่แปลกที่ประชากรยิ่งมีอายุสูงขึ้น อัตราตายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

เด็กเกิดน้อย ทำให้ครอบครัวไทยเล็กลง

ผมขอนำ “ขนาดครอบครัว” ของผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) ในประสบการณ์ใกล้ตัวมาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้พวกเราได้จินตนาการภาพของครอบครัวไทยที่เล็กลงในยุคที่เด็กเกิดน้อย

  •     พ่อแม่ของผมเมื่อเป็นผู้สูงอายุวัยกลาง มีลูก 4 คน แต่งงานแล้วทั้งหมด 4 คน มีหลาน 10 คน
  •     ครอบครัวของผมมีลูก 4 คน แต่งงานแล้ว 2 คน มีหลาน 2 คน
  •     ครอบครัวเพื่อนคนหนึ่งมีลูก 2 คน แต่งงานแล้ว 1 คน ไม่มีหลาน
  •     ครอบครัวเพื่อนคนหนึ่งมีลูก 2 คน ไม่แต่งงานเลย
  •     ครอบครัวเพื่อนคนหนึ่งมีลูก 1 คน แต่งงานแล้ว ไม่มีหลาน
  •     ครอบครัวเพื่อนคนหนึ่งมีลูก 1 คน ไม่แต่งงาน
  •     ครอบครัวเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีลูก
  •     เพื่อนคนหนึ่งไม่มีครอบครัว ยังครองโสด โดยไม่แต่งงาน
  •     คนรุ่นเดียวกับผมซึ่งเป็นผู้สูงอายุวัยกลางมีหลานน้อยมาก

แล้วครอบครัวของท่านล่ะครับ เป็นอย่างไรบ้าง ท่านแต่งงานแล้วหรือยัง ถ้าแต่งงานแล้ว ท่านมีลูกกี่คน ลูกๆ ของท่านมีหลานให้ท่านกี่คน...ครอบครัวไทยเล็กลงจริงๆ ขอบอก

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th