The Prachakorn

“ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” และ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต” มีความหมายที่ต่างกัน?


ณัฐพร โตภะ

25 พฤศจิกายน 2565
4,954



การให้ความหมายของ “ความรอบรู้ด้านสุขภาพ” และ “ความรอบรู้ทางสุขภาพจิต” นั้นอาจดูแตกต่างกันแต่โดยพื้นฐานแล้วเกี่ยวข้องกับการเข้าถึง การสื่อสาร ความเข้าใจ และการประเมินข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ (ส่วนบุคคล) ซึ่งนำไปสู่การดูแล การรักษา และการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ

 

ความหมายของ Health Literacy (ความรอบรู้ด้านสุขภาพ)

Health Literacy ปรากฏครั้งแรกในปี 1974 ในเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการด้านสุขศึกษาโดยมีการกําหนดนิยามความหมายไว้อย่างหลากหลาย กระทั่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ในปี 1998 มีการรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันพัฒนา และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ และ WHO ได้ให้ความหมายของ Health Literacy ไว้ว่า “Health Literacy represents the cognitive and social skills which determine the motivation and ability of individuals to gain access to understand and use information in ways which promote and maintain good health”1 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธาณสุข ได้แปลความหมายว่า เป็นทักษะต่างๆ ทางการรับรู้และทางสังคม ซึ่งเป็นตัวกําหนดแรงจูงใจและความสามารถของปัจเจกบุคคลในการที่จะเข้าถึง เข้าใจ และใช้ข้อมูลในวิธีการต่างๆ เพื่อส่งเสริม และบํารุงรักษาสุขภาพของตนเองให้ดีอยู่เสมอ2

The Ad Hoc Committee on Health Literacy for the Council on Scientific Affairs of the American Medical Association: AMA (1999) คณะกรรมการด้านความฉลาดทางสุขภาพ สมาคมทางการแพทย์ของอเมริกัน ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “ทักษะทั้งมวล ซึ่งรวมทั้งความสามารถพื้นฐานในการอ่านข้อความและการคำนวณตัวเลข เพื่อปฏิบัติตนในการดูแลรักษา สุขภาพ”3

U.S. Department of Health and Human Service (2000) ได้ให้ความหมายของความรอบรู้ด้านสุขภาพไว้ว่า เป็นระดับความรู้ความสามารถของบุคคลในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและบริการ เข้าใจในการประมวลผลความรู้ และสามารถตัดสินใจเลือกปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม4

ที่มา https://www.mobihealthnews.com/content/world-health-organization-releases-guidelines-digital-health-adoption

Mental Health Literacy (ความรอบรู้ทางสุขภาพจิต)
ความหมายของ Mental Health Literacy (ความรอบรู้ทางสุขภาพจิต)

Jorm และคณะ เป็นผู้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ ความรอบรู้ทางสุขภาพจิตครั้งแรก โดยให้ความหมายไว้ว่า ความรู้และความเชื่อของบุคคล เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตที่ช่วยให้บุคคลเกิดการรับรู้ สามารถป้องกันและจัดการปัญหาสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม5

ปราโมทย์ ถ่างกระโทก (2563) ให้ความหมายของคำว่า ความรอบรู้ทางสุขภาพจิต ว่าหมายถึง ความรู้และความเชื่อของบุคคลที่ช่วยให้บุคคลเกิดความตระหนักและสามารถจัดการหรือป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีความสามารถและทักษะในการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือบุคคลรอบข้างที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังรวมถึง ความสามารถในการรับรู้ความผิดปกติที่เป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพจิตและแนวทางการรักษา มีความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ มีความรู้เกี่ยวกับการแสวงหาข้อมูลด้านสุขภาพจิต การแสวงหาความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล หรือบุคลากรด้านสุขภาพ และมีทัศนคติที่ส่งเสริมการตระหนักรู้และการแสวงหาความช่วยเหลือที่เหมาะสม6

ที่มา https://www.wha-industrialestate.com/en/media-activities/articles/3966/health-wellness

องค์ประกอบของความรอบรู้ทางสุขภาพจิต

กรมสุขภาพจิต จากนโยบายกรมสุขภาพจิต ประจําปี 2562 – 2563 ในนโยบายที่ 3 การเสริมสร้างความรอบรู้ และพฤติกรรมสุขภาพจิตแก่ประชาชน7 ได้แบ่งองค์ประกอบไว้ 6 ด้าน คือ

  1. ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและบริการสุขภาพจิต
  2. ความสามารถในการเข้าใจเนื้อหาความรู้และบริการสุขภาพจิต
  3. ความสามารถในการโต้ตอบ ซักถาม แลกเปลี่ยนเนื้อหาข้อมูลจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ
  4. ความสามารถในการตัดสินใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจิต
  5. การเปลี่ยนพฤติกรรมและติดตามผลการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจิต
  6. ความสามารถในการบอกต่อข้อมูลเนื้อหา ผ่านกระบวนการส่งเสริมความรอบรู้และพฤติกรรมสุขภาพจิต

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความรอบรู้ทางสุขภาพจิต8

  1. อายุ อายุที่เพิ่มขึ้นสามารถทำนายความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตที่ไม่ดี เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ความตระหนักและการจัดการหรือป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นกับตนเองลดน้อยลงและความรู้เกี่ยวกับวิธี การค้นหาข้อมูลด้านสุขภาพจิตลดน้อยลงด้วย
  2. ระดับการศึกษา ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับการศึกษา หากบุคคลได้รับการศึกษาจะส่งผลให้เกิดความรู้ ทักษะ และความเชื่อที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต และสามารถจัดการหรือป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ ในปัจจุบันประชาชนจำนวนมาก มีการรับรู้และมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมาย อาการหรืออาการแสดงสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงไม่เข้าใจคำศัพท์ทางจิตเวช และการช่วยเหลือตนเองด้านสุขภาพจิต ดังนั้นหากบุคคลได้รับการศึกษาที่เหมาะสมจะทำให้มีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตที่เพียงพอด้วยเช่นกัน
  3. การสนับสนุนทางสังคมและเครือข่ายสังคม ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ การสนับสนุนทางสังคมและเครือข่ายสังคม หากบุคคลได้รับการสนับสนุนทางสังคม และมีเครือข่ายทางสังคมที่ดีและเพียงพอจะเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้เกิดความตระหนัก และสามารถจัดการหรือป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นกับตนเองได้ การแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมทั้งจากบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนสนิท การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สนใจ การทำกิจกรรมที่สนใจร่วมกับเครือข่ายสังคม รวมไปถึงการแสวงหาความสงบทางใจ เช่น การเข้าวัดทำสมาธิ การบำบัดทางปัญญาในสถานบริการ หรือสายด่วนสุขภาพจิต จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้บุคคลมีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตที่เพียงพอมากยิ่งขึ้น
  4. สถานะด้านสุขภาพ ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับสถานะด้านสุขภาพ หากบุคคลมีสถานะด้านสุขภาพที่สมบูรณ์จะทำให้มีพฤติกรรมและทักษะการช่วยเหลือตนเองที่ดี เช่น การออกกำลังกาย การพบปะผู้คน การเข้ารับบริการให้คำปรึกษา พฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้บุคคลมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตที่เพียงพอได้

ผลการประเมินความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตประชาชนไทย ปี 2560 พบว่าคนไทยมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต คิดเป็นร้อยละ 43.79 เมื่อมีปัญหาสุขภาพจิต สามารถรู้แหล่งบริการ ร้อยละ 44.8 และประเด็นการหาคำแนะนำจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เพียงร้อยละ 43.7 ตลอดจนในด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ประชาชนส่วนใหญ่รู้ว่าจะไปหาแหล่งข้อมูลความรู้สุขภาพจิตได้จากที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลชุมชน คิดเป็นร้อยละ 69.30 แต่ในขณะเดียวกันมีประชาชนพียงร้อยละ 41.9 ที่รู้จักเบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้มากขึ้น ดังนั้นการมีแหล่งความรู้ มีข้อมูลความรู้ที่ได้รวบรวมอยู่ในแหล่งเดียวกันจะทำให้เครือข่ายและประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง รวมถึงการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตและสร้างความตระหนักเพื่อลดอคติที่มีต่อผู้ป่วยโรคทางจิตเวช9

ความรอบรู้ด้านสุขภาพจะเป็นตัวที่ช่วยให้เราแสวงหาความช่วยเหลือจากบุคลากรด้านสุขภาพเมื่อเรามีอาการเจ็บป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการค้นหาข้อมูลด้านสุขภาพและสุขภาพจิตจะนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีร่างกาย จิตใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป


อ้างอิง

  1. World Health Organization. (1998). Health Promotion Glossary. Division of Health Promotion, Education and Communications. Health Education and Health Promotion Unit, World Health Organization. WHO/HPR/HEP/98.1. Distr.: Limited.
  2. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. (2541). นิยามศัพท์ส่งเสริมสุขภาพ ฉบับปรับปรุง. นนทบุรี
  3. American Medical Association. (1999). “Health Literacy: Report of the Council on Scientific Affairs. Ad Hoc Committee on Health Literacy for the Council on Scientific Affairs.” Journal of the American Health Association, 281: 552 - 557.
  4. Department of Health, Human Services, Washington, DC., Healthy People 2010 (Group), & United States Government Printing Office. (2000). Healthy people 2010: Understanding and improving health. US Department of Health and Human Services.
  5. Jorm, A. F., Korten, A. E., Jacomb, P. A., Christensen, H., Rodgers, B., & Pollitt, P. (1997). “Mental health literacy”: a survey of the public's ability to recognise mental disorders and their beliefs about the effectiveness of treatment. Medical journal of Australia, 166(4), 182-186.
  6. ปราโมทย์ ถ่างกระโทก, ณัฐชยา พลาชีวะ, วินัย ไตรนาทถวัลย์ และ ปริศนา บุญประดิษฐ. (2563). ความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต: แนวคิดและการประยุกต์ใช้สำหรับการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ. เชียงใหม่เวชสาร: 163-172.
  7. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. นโยบายกรมสุขภาพจิต ประจําปี 2562 – 2563. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข.
  8. Kim, Y., Lee, H. Y., Lee, M., Simms, T., & Park, B. (2017). Mental health literacy in korean older adults: A cross‐sectional survey. Journal of psychiatric and mental health nursing, 24(7), 523-533.
  9. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2561). รายงานประจำปี 2561. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th