The Prachakorn

อาจารย์มหาวิทยาลัยกับปัญหาสุขภาพจิต (ที่มองไม่เห็น)


สุชาดา ทวีสิทธิ์

28 พฤศจิกายน 2565
1,462



เมื่อเร็วๆ นี้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้ไม่รับบุคคลที่มีความพิการทางจิตหรือป่วยโรคจิต หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง เข้ารับข้าราชการพลเรือน การปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคครั้งนี้ ย่อมขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสุขภาพหรือความพิการ และขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการของสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งย้อนแย้งกับนโยบายส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการในหน่วยงานของรัฐ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาสุขภาพจิตได้ออกมาแสดงความเห็นว่า การสร้างหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจเพื่อคัดกรองสุขภาพจิตก่อนเข้ารับราชการน่าจะส่งผลทางลบมากกว่าทางบวก เพราะว่าส่วนใหญ่จะพบว่าคนมีปัญหาสุขภาพจิตหลังจากที่เข้าไปทำงานแล้ว กฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ที่แก้ไขนี้ จึงน่าจะเป็นการซ้ำเติมคนมีปัญหาสุขภาพจิต ทำให้สังคมรังเกียจ ตีตรา ถูกมองว่าไร้ความสามารถถาวร และจะถูกสังคมเลือกปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่คนป่วยกลุ่มนี้ยังมีโอกาสหายขาดจากความเจ็บป่วยนี้ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติได้ ผลด้านลบอีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือ อาจจะทำให้คนวัยทำงานที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่อยากเข้าสู่ระบบการรักษาเพราะกลัวว่าจะหางานทำยาก ซึ่งการไม่เข้ารับการรักษาจะนำไปสู่อาการเจ็บป่วยที่รุนแรงภายหลังได้ ดังนั้น แทนที่จะใช้วิธีตรวจประเมินคัดกรองสุขภาพจิตคนที่จะรับเข้าทำงาน หน่วยงานควรมีกิจกรรมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อส่งต่อบุคลากรที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าสู่กระบวนการรักษาฟื้นฟูจะดีกว่ามั้ย

มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรหนึ่งที่พบบุคลากรที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่อาจารย์มหาวิทยาลัยถูกมองว่าเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพจิตของนิสิต นักศึกษา แต่เงื่อนไขการทำงานของอาจารย์มหาวิทยาลัย กำลังทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเจ็บป่วยทางจิตเสียเอง ดิฉันไม่มีงานวิจัยมายืนยันว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนเท่าไหร่กำลังมีปัญหาสุขภาพจิต แต่จากการได้พบเห็นและได้รับฟังมาจากเพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ทำให้เชื่อได้ว่าทุกมหาวิทยาลัยมีสถานการณ์นี้อยู่ อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอาชีพที่มีความกดดันสูงมากอาชีพหนึ่ง ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เริ่มต้นจากมีประวัติผลการเรียนดีถึงดีเด่น ความอึดอดทนเป็นเลิศ มุ่งมั่น บางคนมุ่งเป้าหมายให้ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ ได้ทุนแล้วก็ต้องทุ่มเทชีวิตไปกับการเรียน ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับการอ่าน ค้นคว้า เขียนงาน เรียนจบกลับมาแล้วชีวิตแบบนักเรียนก็ยังต้องดำเนินต่อไป ต้องค้นคว้าเตรียมสอน ต้องสอน และต้องทำผลงานตีพิมพ์ เพื่อขอตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องแบกความคาดหวังของสังคม องค์กร ลูกศิษย์ ครอบครัว และของตัวเอง ถูกหล่อหลอมให้คิดว่าทำอะไรต้องสมบูรณ์แบบ เหล่านี้น่าจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีปัญหาสุขภาพจิตกันไม่มากก็น้อย เช่น เป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) โรคจิตเภท สมัยที่ดิฉันเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลอยู่ต่างประเทศ ได้ยินข่าวว่ามีเพื่อนนักเรียนทุนพัฒนาอาจารย์เจ็บป่วยเพราะว่าปรับตัวไม่ได้ เรียนหนัก บางคนมีอาการจิตเภท คนที่รักษาหายและเรียนจนจบปริญญาเอกก็กลับมาทำงานและใช้ชีวิตปกติได้ แต่บางคนต้องหยุดเรียนและคืนทุนไปก็มีไม่น้อยเพราะไปต่อไม่ได้

หลายวันก่อนดิฉันได้รับอีเมลจากบุคคลที่ดิฉันไม่เคยรู้จักมาก่อน เนื้อหาในอีเมลเป็นการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต โดยจั่วหัวเรื่องอีเมลถึงดิฉันว่า “โรคจิตเวชกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมหาวิทยาลัย” ข้อความเกริ่นมีว่า “ดิฉันเห็นว่าท่านอาจารย์สนใจวิจัยทางด้าน social justice จึงตัดสินใจลองเขียนประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าให้อาจารย์ฟัง เผื่ออาจารย์จะนำไปเขียนงานวิจัยในบางมิติค่ะ…” เนื้อหาในอีเมลพอสรุปความได้ว่า เมื่อหลายปีก่อนบุคคลท่านนี้เคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง แต่ต้องออกจากงานโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม สาเหตุมาจากป่วยจิตเภท ซึ่งเคยป่วยแบบนี้มาครั้งหนึ่งแล้วช่วงที่เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลอยู่ต่างประเทศ โดยได้อาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ส่งตัวไปพบแพทย์ และได้รับการรักษาจนกระทั่งกลับมาร่ำเรียนต่อจนจบการศึกษาและกลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัด แต่เพราะว่าไม่ได้รักษาต่อเนื่อง อาการที่เคยเป็น เช่น หลงผิด หวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย เห็นภาพหลอน แยกตัวออกจากสังคม กลับมากำเริบ ทำอะไรไปอย่างไม่มีสติสัมปชัญญะ เช่น เขียนอีเมลวิจารณ์อธิการบดีอย่างรุนแรง รวมทั้งเขียนอีเมลขอลาออกส่งตรงไปที่อธิการบดี แต่แทนที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จะเกิดความสงสัยและสอบถามถึงสาเหตุ กลับใช้ข้อความในอีเมลที่ขอลาออกเซ็นคำสั่งอนุมัติให้ลาออกได้ทันที อีกทั้งทำการยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้ชดใช้หนี้ทุนการศึกษา ด้วยเหตุผลที่ว่าลาออกโดยที่ยังปฏิบัติงานไม่ครบตามสัญญารับทุน อาจารย์ท่านนี้ไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์มายืนยันว่าป่วยจิตเภทจริง เนื่องจากช่วงที่อาการกำเริบในประเทศไทยไม่ได้พาตัวเองไปพบแพทย์ อีกทั้งไม่มีใครพาไปโรงพยาบาล หลังจากออกจากมหาวิทยาลัยก็ใช้ชีวิตเร่ร่อนไม่ได้กลับไปหาครอบครัวอยู่หลายปี จนญาติทราบข่าวว่าป่วยจึงมาพาตัวไปรักษา ขณะนี้หายเป็นปกติแล้ว แต่ถูกศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ชดใช้ทุนพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินกว่าสิบล้านบาท

เรื่องเล่าของอาจารย์ท่านนี้อาจจะเป็นข้อมูลด้านเดียว แต่เพียงพอที่จะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติต่อบุคคลที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยทางจิตอย่างระมัดระวัง มีเมตตา เกื้อกูล และไม่ผลักไสบุคคลเหล่านี้ออกไปจากองค์กรโดยที่ไม่ได้ช่วยเหลือใดๆ ดิฉันเคยอ่านพบว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกยืนยันว่าป่วยตามคำวินิจฉัยของแพทย์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรามองเห็นเพราะเขาเข้าสู่กระบวนการรักษา กับอีกกลุ่มที่ป่วยเช่นกันแต่เรามองไม่เห็นพวกเขา หรืออาจจะแค่สงสัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิตเพราะเห็นพฤติกรรมผิดปกติบางอย่าง คนใกล้ชิดเท่านั้นที่อาจจะรับรู้ถึงความไม่ปกตินั้น คนป่วยกลุ่มหลังนี้น่าเป็นห่วง เพราะเขาจะไม่ถูกพาเข้าสู่กระบวนการรักษาฟื้นฟู และจะถูกปฏิบัติเหมือนคนปกติ ทำให้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากองค์กรได้ จริงอยู่ว่าการอาศัยใบรับรองจากจิตแพทย์มายืนยันว่าบุคคลมีความเจ็บป่วยทางจิตในระดับที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องดำเนินการ แต่บางครั้งด้วยอาการป่วยเองที่เป็นอุปสรรคทำให้ผู้ป่วยจิตเภทบางรายเข้าไม่ถึงกระบวนการวินิจฉัยทางการแพทย์ และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาและการฟื้นฟู ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญคือการสร้างระบบและแนวปฏิบัติที่ดีขึ้นมาดูแลสุขภาพจิตของบุคลากรในองค์กร ตั้งแต่การป้องกันไปจนถึงการทำให้เข้าถึงการประเมินวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟู เพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านั้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th