The Prachakorn

แต่ละ Gen เขาคิดต่างกันอย่างไร? ในที่ทำงาน


ชณุมา สัตยดิษฐ์

29 พฤศจิกายน 2565
539



“ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” คงเป็นคติสอนใจหลาย ๆ คนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ดีในยุคที่สภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนและตกต่ำ และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงซึ่งสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งยิ่งใหญ่ที่ยืดเยื้อจนทำลายระบบเศรษฐกิจโลกอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เกิดกับประเทศคู่ขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เท่านั้น แต่ยังกระทบไปยังประเทศใกล้เคียงและขยายวงกว้างไปยังประเทศทั่วโลกทั้งในมิติของด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกันทางด้านธุรกิจทำให้เกิดภาวะข้าวยาก หมากความผันผวนทางเศรษฐกิจทำให้หลายภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและบริการมีการปรับกลยุทธ์ ปรับตัว บางธุรกิจต้องลดขนาดกิจการเพื่อความอยู่รอดขององค์กร หรือล้มละลาย หรือปิดกิจการ แล้วแรงงานที่ทำงานในองค์กรล่ะ เราจะมีวิธีการรับมือการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ?

ใคร? เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้บ้าง

การจะไล่ลำดับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกคงจะทำได้ยาก แต่ผู้ที่ได้รับผลอย่างหลีกหนีไม่พ้นก็คือ  “กำลังแรงงาน” เมื่อ งาน คือ เงิน และเงินจากงาน เป็นแหล่งรายได้หลักในการเลี้ยงชีพและครอบครัว ค่าใช้จ่ายรายวัน ที่ต้องบริหารจัดการให้สมดุลยกับรายได้คนทำงานจึงต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างพลังใจให้สามารถปรับตัวและรับมือกับวิกฤติรวมทั้งการก้าวผ่านวิกฤตได้ดีเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งทางใจ (resilience) สร้างทักษะในการฟื้นตัวและทักษะการปรับตัวของคนในศตวรรษที่ 21 ให้สามารถอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเข้าใจ ยอมรับ และมีความสุข

ที่มา: www.freepik.com

ความแตกต่างของคนทำงาน....ที่เราต้องทำความเข้าใจ

เมื่อคนทำงานอยู่ร่วมกันในองค์กร การดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่ให้สนใจเข้าทำงานในองค์กร คงอยู่กับองค์กร และมีแรงบันดาลใจในการทำงานเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะคนรุ่นใหม่เป็นกำลังหลักของการคงอยู่และความอยู่รอดของขององค์กร ขณะเดียวกันการรักษาคนที่อยู่ในองค์กรให้อยู่ร่วมกันตลอดอายุงานเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรมีความต้องการ มีความคาดหวังให้การทำงานร่วมกันของคนทำงานต่างรุ่นที่ต้องอยู่ร่วมกันได้ สิ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ คือ ความคิดที่แตกต่าง เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กันหลากหลายรูปแบบ สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้  มีความรู้สึกนึกคิด ที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน เพราะองค์กรในปัจจุบันที่มีคนทำงานทั้ง 4 รุ่นประชากรทำงานร่วมกัน สามารถนับเป็นองค์กร 4 Generations หรือ องค์กร 4G (4 generational workplace) ที่สะท้อนภาพองค์กรหลายรุ่นประชากร (multi-generational workplace) สภาพความแตกต่างระหว่างวัยที่เกิดขึ้นใกล้ หากได้ศึกษาลักษณะเฉพาะของแต่ละรุ่นประชากร ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ และมีความสุขแล้ว เราสามารถรู้ว่าลักษณะเฉพาะของคนแต่ละรุ่นประชากรเป็นอย่างไรได้จากการสังเกตการทำงานของคนรอบข้าง เช่น คนที่ชอบการทำงานอย่างเป็นระบบ ทำงานเป็นขั้นตอน ส่วนคนที่ยึดหลักการทำงานแบบเดิม ๆ มองทุกอย่างเป็นแบบแผน ปรับตัวอยู่ในสังคมได้น้อย เราก็น่าจะรู้ว่ามาจากรุ่นประชากรใด หรือบางคนที่จัดอยู่ในกลุ่มสังคมก้มหน้าที่กำลังระบาด ก้มหน้าก้มตาเล่นแต่โทรศัพท์ ไม่คุยกับคนรอบข้าง หรือแม้แต่จะคุยก็ยังคุยผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม องค์กรสามารถดึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะและรู้จักการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้แก่เพื่อนต่างรุ่นที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีน้อยได้ เช่น สามารถสอนการใช้แท็บเล็ตได้ สอนการใช้แอพลิเคชันต่างๆ เพื่อติดต่อสื่อสาย และความบันเทิง การที่คนกลุ่มนี้มักไม่ชอบการทำอะไรแบบเดิมๆ เป็นคนเบื่อง่าย ชอบความท้าทาย เราก็น่าจะคาดเดาได้ว่าเขามาจากรุ่นประชากรใด

ที่มา: www.freepik.com

ในทุกคำถามที่เกี่ยวข้องกับความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นสิ่งที่ควรจะต้องหาคำตอบเพราะเป็นประเด็นที่เราสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบ ในการขบคิดเกี่ยวกับองค์กรที่จะสามารถดึงดูดใจคนให้มีความสุขในการทำงานได้ โครงการ “องค์กร 4G มีสุข: เข้าใจ เตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง”1  มีคำตอบจากข้อค้นพบจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม ในมุมมองของผู้บริหารระดับสูง ที่มีต่อพนักงานในแต่ละรุ่นประชากร ทั้ง 4 รุ่นประชากร (4 Generation=4Gen) พบว่า ผู้บริหารหรือหัวหน้างานในหลายองค์กรส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกันของพนักงานในแต่ละรุ่นประชากร การรับฟังความคิดเห็น และมองคนรุ่นใหม่มีความคิดที่ทันสมัย เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ สิ่งที่คนรุ่นใหม่นำเสนอส่งผลดีต่อองค์กร นอกจากนี้การดูแลให้การช่วยเหลือยามที่พนักงานได้รับความเดือดร้อน ทำให้ได้ใจที่เต็มร้อยเป็นการตอบแทน ส่งผลให้องค์กรได้รับผลกำไรที่เป็นทั้งตัวเงินและน้ำใจของพนักงาน จากบทวิเคราะห์นี้ สามารถยืนยันได้ด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก ดังนี้

“พี่เป็นคนหนึ่งที่ยอมรับฟังความคิดเห็นของน้องๆ ทุกคนได้นะ เพราะพี่คิดว่าคนรุ่นใหม่มีความคิดที่ทันสมัย เพราะในบางครั้งข้อเสนอแนะของน้อง ๆ เสนอมา พี่ยังคิดไม่ถึงเลย แต่เมื่อพี่ลองทำตามที่น้องเขาเสนอมากลับว่าได้ผลดี เกินกว่าที่พี่คาดไว้เสียอีก”

                    ผู้บริหารธุรกิจผลิตสารเคมี หญิงคนที่ 1, Gen X

“ตอนน้ำท่วมโรงงาน พี่เปิดโรงงานให้พนักงานที่ประสบปัญหาบ้านน้ำท่วมมาอยู่ที่โรงงาน เพราะพี่คิดว่าถ้าเขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ แล้วสิ่งที่พี่ได้รับจากพนักงาน เขาเดินเข้ามาบอกพี่ว่า “ไหน ๆ ก็น้ำท่วม ไปไหนไม่ได้แล้ว บ้านก็กลับไม่ได้ เรามาทำงานกันดีกว่าพี่ ปีนั้นที่น้ำท่วมทำให้โรงงานผลิตกระสอบทำกำไรได้เกือบเท่าตัว เนื่องจากช่วงน้ำท่วมกระสอบเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก และพี่ก็ดีใจที่วันนั้นพี่คิดช่วยเหลือเขา เพราะสิ่งที่พี่ได้ตอบแทนมันมากกว่า เพราะเราช่วย เขาก็ช่วยพี่เช่นกัน”

        ผู้บริหารบริษัทผลิตสิ่งทอจากเส้นใยสังเคราะห์ หญิงคนที่ 2, Gen X

สำหรับมุมมองระดับหัวหน้างานที่มีต่อคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่มองว่า เด็กรุ่นใหม่มักมีความอดทนมีน้อย งานหนักไม่ทน เก่งด้านเทคโนโลยี เก่งภาษา มีคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะของเด็กรุ่นใหม่ เช่น ต๊าช (ที่สุด, ชอบมาก), จึ้ง (ดี, เริศ), ตุย (เหนื่อย, ไม่ไหว) ซึ่งเป็นศัพท์ที่อาจจะยากต่อความเข้าใจของ Gen รุ่นพี่ ส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออก การพูดคุยบางคนบางครั้ง จะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องทำให้มีช่องว่างเยอะระหว่างรุ่น

“ทำไมน้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่ ชอบมองเราเหมือนอะไรก็ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่พี่ต้องการสอนงานให้เขาเข้าใจในงานที่ทำนะแต่น้องเขาดูเหมือนจะไม่รับเลย ทำงานด้วยยากจัง ไม่เข้าใจเด็กรุ่นนี้เลย”

หัวหน้างานฝ่ายขายบริษัทยานยนต์ ชาย, Gen Y

“เด็ก ๆ สมัยนี้มีความอดทนน้อย อะไรขัดใจนิดหน่อยก็ไม่ได้ ดราม่า ตลอด แล้วจะไปทำอะไรได้”

หัวหน้างานฝ่ายผลิตสิ่งทอจากเส้นใยสังเคราะห์ หญิง, Gen X

ภาษากับเทคโนโลยี: แน่นอนเลยว่าความสามารถทางด้านภาษาและเทคโนโลยี กับการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ของคนเด็กรุ่นใหม่ (Gen Z และ Gen Y ตอนปลาย) ย่อมดีกว่ารุ่นพี่ในที่ทำงาน (Gen BB, Gen X หรือแม้กระทั่ง Gen Y) อย่างแน่นอน อีกทั้งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดทำให้บางคนก็ยังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ความสามารถทางด้านภาษาที่ 2 หรือ 3 จะพบว่าในบางองค์กรหากมีพนักงานซึ่งทำงานในองค์กรนั้นๆ เป็นระยะเวลานานอาจจะไม่มีการพัฒนาหรือยากต่อการพัฒนาทางด้านภาษาและเทคโนโลยี เนื่องจากข้อจำกัดด้านอายุอีกด้วย

“ผมต้องอาศัยลูกชายในการติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศหรือติดต่อธุรกิจกับต่างชาติ เนื่องจากส่งลูกเรียนต่างประเทศเพราะหวังให้เขาเข้ามาสานต่องานในบริษัท เพราะผมอายุมากจะไปเรียนตอนนี้ความจำก็เริ่มไม่ดีแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ สมองมันไม่รับ”

เจ้าของบริษัทยานยนต์ ชาย, Gen X

“เรื่องโปรแกรมที่ใช้ในโรงงานหากเป็นโปรแกรมใหม่ หรืออุปกรณ์ใหม่ ก็ต้องให้น้อง ๆ ในที่ทำงาน ค่อย ๆ สอน พี่ก็อบรมด้วยกัน แต่ต้องใช้เวลาในการทบทวนกว่าจะใช้โปรแกรมคล่อง ต้องอาศัยเด็กในทีม ให้อธิบายเพิ่ม แต่เมื่อใช้ไปจนชินก็ทำได้”

พนักงานบริษัทโรงงานสิ่งทอ หญิง, Gen X

การรับฟัง เข้าใจปัญหา และเอื้ออาทร: ความเห็นและข้อเสนอแนะของพนักงานที่มีต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน ยังมีความสำคัญต่อความสุขในการทำงานของพนักงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะด้านความสุขในการทำงานของพนักงาน การมีผู้รับฟัง เข้าใจปัญหา รวมถึงเกิดความเอื้ออาทรระหว่างผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน ทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว จากบทวิเคราะห์นี้ สามารถยืนยันได้ด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ระดับลึก ดังนี้

“พี่มักเป็นคนกลางในการประสานรอยร้าวของหัวหน้ากับน้อง ๆ ที่ทำงานเสมอ เพราะน้อง ๆ ไม่กล้าคุยกับหัวหน้า ต้องมาปรึกษาพี่แล้วใครล่ะ ที่ต้องออกหน้า ก็คือพี่ที่ต้องเป็นคนพูด”

พนักงานบริษัทนำเข้ารถยนต์ ชาย, Gen X

“เจ๊เขาดีกับหนูและครอบครัวมาก ๆ ตอนหนูคลอดลูก เจ๊เขาออกค่าห้องให้ด้วยนะ ตอนลูกของหนูเข้าโรงเรียนก็มีของขวัญ ไปเที่ยวก็ไปกันทั้งโรงงาน เอาอาหารไปทำกินกันเอง กินไม่อั้น อยากกินไรบอกเจ๊เขาซื้อไปหมด แต่เจ๊เขาบอกว่า “ขออย่างเดียว ในเมื่อเจ๊ทุ่มเต็มที่ พวกหนูที่เป็นลูกจ้าง ก็ต้องทำงานให้เต็มที่ด้วย”

พนักงานสายการผลิตโรงงานแปรรูปผลไม้ หญิง, Gen Y

“หนูทำงานมาแล้วหลายที่นะ แต่ไม่มีที่ไหนเหมือนที่นี่เลย อยู่ที่ทำงานเหมือนอยู่บ้าน บางคนสนิทกว่าคนในครอบครัวเสียอีก”

พนักงานสายการผลิตโรงงานแปรรูปผลไม้ หญิง, Gen Z

“หนูคิดว่าหนูอยากเรียนรู้งานไปเรื่อย ๆ ค่ะ เพราะหนูก็ยังไม่รู้ว่าหนูชอบอะไร มีงานทำก็ทำไปก่อนค่ะ”

พนักงานบริษัทนำเข้าส่งออกสินค้า หญิง, Gen Z

“พี่ชอบตื่นเช้าและมีความมุ่งมั่นที่จะเดินจากบ้านไปทำงานทุกวัน เพราะว่ามันคือการออกกำลังกายอย่างหนึ่งและทำให้มีความสุขในการทำงานด้วย”

พนักงานบริษัทประกันภัย หญิง, Gen BB

เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ความความสุขและความพึงพอใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นเหตุผลทำให้เราทำสิ่งนั้นได้ดีและอยู่กับสิ่งนั้นได้นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราได้อยู่ด้วยกันในสังคมสภาพแวดล้อมที่ดี มีผู้คนที่น่ารัก ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาเช่นกัน

แล้วคุณล่ะ จะเลือกเป็นหัวหน้าแบบไหน หรือเลือกที่จะเป็นคนทำงานประเภทใด ?


อ้างอิง

  1. “องค์กร4G มีสุข : เข้าใจ เตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง” (2563). สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th