The Prachakorn

ผู้บริหารรุ่นพี่ ไอดอลพลังบวก ของผู้บริหารรุ่นน้อง


กุลวีณ์ ศิริรัตน์มงคล

30 พฤศจิกายน 2565
819



ผู้บริหารรุ่นพี่...ไอดอลพลังบวกของผู้บริหารรุ่นน้องที่จะก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น...องค์กร 4G1 มีคำตอบ...ซึ่งทุกวันนี้หลายองค์กรต่างให้ความสำคัญในการคัดเลือกและพัฒนาบุคลากรในระดับบริหารมากขึ้น เพื่อความคาดหวังที่จะสืบทอดการขับเคลื่อนองค์กรและการได้รับการยอมรับจากทุกคนในองค์กร จึงมุ่งเน้นบทบาทหน้าที่ ทักษะการบริหาร รวมทั้งการนำหลักธรรมาภิบาลมาปกครองลูกน้องให้ก้าวไปสู่การทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพสูงสุด1  สอดคล้องกับเป้าหมายรัฐบาลในการนำพาประเทศเข้าสู่โมเดลประเทศไทยยุค 4.0 ที่ทุกองค์กรจะต้องแข่งขันกันด้วยความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ภาพ ความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงาน
ที่มาภาพ: https://www.freepik.com/premium-vector/call-center-web-illustration-flat-style_15543009.htm?query

เมื่อมาดู....การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในระดับผู้บริหารในองค์กร 4G (4 Generations/4 Gen) ความเป็นผู้นำ คงไม่ได้เกิดจากความเป็นผู้อาวุโสหรือการมีอายุการทำงานที่มากขึ้นเท่านั้น แต่คือความสำเร็จในการทำงานของคนหนึ่งคนในองค์กร ความพร้อมที่แสดงออกถึงความก้าวหน้าในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกลจึงเป็นสะพานสู่ตำแหน่งระดับผู้บริหารงานคนต่อไป จากนั้นก็นำพาลูกน้องเดินไปด้วยกัน สร้างความร่วมมือร่วมทีมที่เข้มแข็งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย นำประสบการณ์มาช่วยพัฒนาศักยภาพเพิ่มพูนความสามารถของลูกน้องได้เติบโตเพื่อสืบทอดความเป็นผู้บริหารคนใหม่ในอนาคตได้2  ดังนั้น...พนักงานที่จะเติบโตในองค์กร 4G ไม่ว่าจะเป็น Gen Z มาเป็น Gen Y และ Gen X ทุกคนล้วนต้องการไต่เต้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับจากการเป็นพนักงาน/ หัวหน้างาน/ ผู้จัดการ /GM/ ผู้ถือหุ้น (Shareholder) องค์ประกอบหรือพฤติกรรมของการทำงานจะต้องทำด้วยจิตวิญญาณ กัลยาณมิตรที่ดี ไม่คิดลบ ไม่สร้างปัญหา ไม่สร้างอิทธิพล การเข้ามาอยู่ร่วมในองค์กรเดียวกันทุกคนผ่านกระบวนการคัดกรองหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้บุคลากรที่คิดบวก ยิ้มแย้มแจ่มใส ซื่อสัตย์ ไม่อ่อนไหว การส่งเสริมคนทำงานและการใช้เทคนิคที่เข้ากันได้กับทุกเจนเนอร์เรชั่น จึงต้องเข้าใจอารมณ์และเหตุผลแต่ละรุ่นแต่ละแบบในองค์กรด้วยวิธีการ ทักษะ และความอดทนที่ผู้บริหารรุ่นพี่ได้สร้างไว้ สามารถยืนยันได้ด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ระดับลึก ดังนี้

“สิ่งที่มองคือ Gen X ส่วนใหญ่ จะมีการควบคุมเหตุผลและอารมรณ์ ควบคุมตัวเองได้ดีมาก ไม่ใจร้อน ส่วนGen Y การรับรู้ข่าวสารทางช่องทางสื่อต่าง ๆ จะรับรู้ได้เร็ว สำหรับ Gen Z เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้รวดเร็ว สื่อสารได้ดี เช่น การทำ online marketing เขาจะมีความเชี่ยวชาญเรียนรู้ได้เร็วกว่า พูดกันครั้งเดียวเข้าใจ รู้เรื่อง แต่อาจจะมีความอ่อนไหว กระทบนิดเดียวก็จะคิด หัวหน้างานก็จะค่อย ๆ คุย การทำงานในองค์กร มีการทำงานเป็นทีม แต่ละ Gen ชีวิตการทำงานร่วมกันดี เข้ากันได้ คุยกันได้ ควบคุมกันได้ การเป็นคนไม่คิดลบ ไม่สร้างปัญหา คนที่ชอบสร้างอิทธิพลซึ่งเคยรับเข้ามาทำให้เกิดปัญหามากมาย การเลือกบุคลากรที่มีการคัดกรองหลายขั้นตอนจะทำให้องค์กรได้บุคลากรคิดบวก ยิ้มแย้ม ซื่อสัตย์ต่อองค์กร ไม่ sensitive และได้คนที่มีความสามารถ”

ผู้ให้ข้อมูล: ผู้บริหารธุรกิจระดับต้น หญิง (เจนเนอร์เรชั่น Y)

ภาพ ความร่วมมือร่วมทีมที่เข้มแข็งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
ที่มาภาพ: https://www.freepik.com/premium-vector/team-people-with-computers-sharing-working-space_13913561.htm?query

ด้วยเหตุนี้....ไอดอล...ตัวแปรสำคัญในความเป็นตัวตนและความมุ่งมั่นทุ่มเทกับการปฏิบัติงานของผู้บริหารรุ่นพี่ เพราะความเป็นตัวตนของผู้บริหารรุ่นพี่ที่มองความจริงจังในการทำงานเปรียบเสมือนน้ำไม่เต็มแก้ว หมั่นศึกษาค้นหาค้นคว้าอย่างไม่หยุดยิ่ง บริหารงานด้วยความยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์ ให้การสนับสนุนในทุกเรื่อง และพร้อมรับการเปลี่ยนตัวเอง การทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทจึงเป็นไอดอลต้นแบบการสืบสานจากผู้บริหารรุ่นพี่สู่ผู้บริหารรุ่นน้องที่ดำเนินงานตามแนวทางจนประสบความสำเร็จ สามารถเปลี่ยนกระบวนการคิด (Mindset) ของตัวเองจากการเดินตามอย่างเดียวจนได้เป็นผู้บริหาร ตัวตนจึงประกอบด้วยความเป็นคนที่มีทักษะทางด้านอารมณ์-สังคม (Soft skill) ที่ช่วยส่งเสริมพนักงานให้มีผลงานที่บรรลุเป้าหมายและออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันการส่งเสริม Hard Skill ของผู้ที่มีความถนัดเฉพาะด้านเฉพาะตนของพนักงานที่ก่อให้เกิดรายได้หรือสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ดังวิสัยทัศน์ในการบริหารงานของผู้บริหารรุ่นพี่ที่มีต่อองค์กร สามารถยืนยันได้ด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ระดับลึก ดังนี้

“ผู้บริหารระดับต้น หรือผู้จัดการมีความสำคัญมาก เราไม่อยากเปลี่ยน staff หรือ ผู้จัดการ เรามีคำมั่นสัญญาว่าเมื่อเข้ามาทำงาน 2 เดือนทุกคนต้องขยับขึ้น 4 เดือนผ่านโปร ซึ่งพวกเขาก็อยู่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องรับคนใหม่เข้ามา ดังนั้น นโยบายจึงต้องทำให้เป็นทีม ทำให้มีความสุข ต้องทำให้องค์กรเป็น 4G สร้างความสุข ได้เป้า เพราะการสนับสนุนนันทนาการให้มีการจัดงานเลี้ยง ปาร์ตี้ กิน แจก จ่าย และก็มีความสุขร่วมกัน”

ผู้ให้ข้อมูล: ผู้บริหารธุรกิจระดับสูง ชาย (เจนเนอร์เรชั่น X)

“สำหรับตัวเอง เป็นคนไม่เครียดแม้ว่าทำงานงานจะเครียด ไม่ทำให้คนรอบข้างเครียด ชวนคุยด้วยอารมณ์ดี ช่วยกันแก้ปัญหา เป็นคนที่มี soft skill บริหารคนต่างรุ่นได้ดี พยายามที่จะทำความเข้าใจ เสมือนโยบายหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ ฉะนั้นองค์กรให้ความสำคัญต่อการคัดสรรคนที่มีทักษะและอารมณ์ ของพนักงานตั้งแต่การคัดสรร ที่ต้องมีทั้ง hard skill และ soft skill นำมาบริหารคนต่างรุ่นได้อย่างมีความสุข”

ผู้ให้ข้อมูล: ผู้บริหารธุรกิจระดับต้น หญิง (เจนเนอร์เรชั่น Y)

ภาพ การขับเคลื่อนองค์กรตามบทบาทหน้าที่
https://www.freepik.com/free-vector/business-leader-standing-arrow-holding-flag-flat-vector-illustration-cartoon-people-training-doing-business-plan-leadership-victory-challenge-concept_10606192.htm#query

อาจกล่าวได้ว่านี่คือ แรงบันดาลใจ...ที่ปลุกพลังพัฒนาการดำเนินงานตามผู้บริหารรุ่นพี่ที่ส่งแรงบันดาลใจให้ผู้บริหารรุ่นน้องมีพลังในการพัฒนาตนเองยกระดับทักษะการเรียนรู้งานใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ (Upskill) สร้างทักษะการทำงานใหม่ ๆ (Reskill) ฉะนั้น Upskill และ Reskill จำเป็นต้องมีเพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานและพัฒนาทักษะของพนักงานด้วยเพื่อให้เกิดความรู้ความสามารถเท่าทันอนาคตและเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลานั่นเอง3 แรงบันดาลใจจากผู้บริหารรุ่นพี่ สะท้อนเป้าหมายสำคัญในการทำงานที่องค์กรต้องบรรลุวัตถุประสงค์ นั่นคือ ผลประกอบการที่ดีที่ได้รับตามเป้าหมาย ความเติบโตขององค์กรที่ประกอบด้วยผลกำไร ขณะเดียวกันสวัสดิการให้การช่วยเหลือพนักงานที่จะต้องรายได้มีค่าครองชีพที่ดี และสุดท้ายที่สำคัญคือพนักงานทุกเจนเนอร์เรชันต้องทำงานอย่างมีความสุข พร้อมทั้งนำพาพนักงานในองค์กรให้สามารถทำงานแทนผู้บริหารได้ให้ได้รับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น สามารถยืนยันได้ด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ระดับลึก ดังนี้

“ในฐานะที่เป็นผู้บริหารมองว่า องค์กรต้องบรรลุวัตถุประสงค์/ เป้าหมายสำคัญในการทำงาน คือ 1) ผลประกอบการที่ดีตามเป้า  2) องค์กรต้องเดินด้วยผลกำไร และเด็ก ๆ ก็จะมีค่าครองชีพที่ดี 3) ทุกคนในองค์กรต้องทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข”

ผู้บริหารธุรกิจระดับสูง ชาย (เจนเนอร์เรชั่น X)

การเดินทางตามแนวการทำงานของรุ่นพี่ในองค์กร 4G อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของบทความ แต่เป็นการสื่อให้เห็นว่าการก้าวสู่ไอดอลพลังบวกในองค์กร 4G ที่ประสบความสำเร็จในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำ เตรียมการ และวางแผนดำเนินงานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นเรื่องท้าทายถ้าหากจะก้าวมาเป็นผู้บริหารรุ่นต่อไป ขณะเดียวกันองค์กรก็จะเห็นภาพคนทำงานเจนเนอร์เรชั่น Z และ Y ที่มีการปรับตัวและเตรียมเข้าสู่ลู่วิ่งเพื่อวิ่งตามฝัน สู่การเป็น “ไอดอลพลังบวก” ในองค์กร 4G คนต่อไป และต่อ ๆ ไป


องค์กร 4G หมายถึง องค์กรในปัจจุบันที่มีคนทำงานทั้ง 4 รุ่นประชากรทำงานร่วมกัน สามารถนับเป็นองค์กร 4 Generations ได้แก่ Gen BB, Gen X, Gen Y และ Gen Z  หรือองค์กร 4G (4 generational workplace) ที่สะท้อนภาพองค์กรหลายรุ่นประชากร (multi-generational workplace) ได้ ที่มา: องค์กร4G มีสุข : เข้าใจ เตรียมพร้อม และทลายช่องว่าง. (2563). สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อ้างอิง

  1. อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์. (2561). บทบาทการบริหารสำหรับผู้นำองค์กรในยุคของการแข่งขันสูง. ค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2565, จาก https://www.tci-thaijo.org/index.php/ppmjournal/article/download/ 23914/20357
  2. HR NOTE.asia. (2561). ก้าวสู่การเป็นผู้นำที่ดี อย่างที่ทุกองค์กรต้องการ. ค้นเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2565, จาก https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190605-leadership/
  3. MICE Intelligence & Innovation. (2564). พัฒนาทักษะเดิม (Upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อปรับ “คน” ให้เปลี่ยนทันโลก”. ค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 25656, จาก https://intelligence.businesseventsthailand. com/en/blog/พัฒนาทักษะเดิม-upskill-เพิ่มเติมทักษะใหม่-reskill-เพื่อ

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th