พรุ่งนี้ก็จะเริ่มหยุดวันสงกรานต์กันแล้ว หยุดยาวนานถึง 5 วัน ไปเริ่มทำงานกันใหม่วันอังคารที่ 18 เมษายน วันนี้ บรรยากาศที่ทำงานของผมจึงค่อนข้างเงียบ คงเป็นเพราะเพื่อนร่วมงานหลายคนหยุดทำงานล่วงหน้ากันไปก่อนแล้ว หลายคนคงคำนวณแล้วว่าเป็นโอกาสอันดี ถ้าลาหยุดงาน 3 วันคือวันจันทร์ อังคาร และพุธ ก็จะได้วันหยุดยาวถึง 10 วัน แต่บางคน ที่ทำงานเป็นลูกจ้างหรือหาเลี้ยงชีพด้วยการหารายได้เป็นรายวัน วันที่ไม่ได้ทำงานหมายถึงวันที่ขาดรายได้ไป
วันสุกดิบก่อนวันหยุดสงกรานต์อย่างวันนี้ คำทักทายระหว่างเพื่อนร่วมงานและคนรู้จักที่ใช้กันมากที่สุดน่าจะเป็นประโยคคำถามในแนวว่า “วันหยุดสงกรานต์นี้ (มีแผน) จะไปไหน” ผมได้รับคำถามนี้ตลอดเช้า และก็จะถามกลับผู้ถามด้วยคำถามเดียวกัน
สงกรานต์นี้ ผมจะไม่ไปไหน
คำตอบของผมรู้สึกว่าจะซ้ำซาก เหมือนๆ กับเมื่อปีก่อนๆ นับสิบปี คือไม่คิดจะไปเที่ยวไหนในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ หรือบางครั้ง ก็จะตอบไปว่าจะไปเที่ยวกรุงเทพฯ และบางครั้ง ก็จะตอบว่าไปเที่ยวบางปะกง เพื่อไปหาแม่ (ปรกติ การไปหาแม่เป็นกิจวัตรที่ผมทำเป็นประจำทุกอาทิตย์อยู่แล้ว)
ผมตอบคำถามในแนวนี้อย่างจริงใจ ไม่เคยคิดที่จะไปเที่ยวที่ไหนในวันสงกรานต์ ไม่อยากไปเบียดเสียดกับผู้คน จะไปเล่นสาดน้ำกับหนุ่มๆ สาวๆ ก็นึกภาพไม่ออกเสียแล้วว่าจะสนุกตรงไหน ผมอาจเลยวัยที่จะเล่นสาดน้ำแล้วก็ได้ ผมไม่อยากเผชิญความยากลำบากในการเดินทางโดยรถยนต์ในช่วงวันหยุดยาวอย่างเช่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือขึ้นปีใหม่ แค่นั่งดูข่าวผู้คนไปแออัดหาทางขึ้นรถเมล์ตามสถานีขนส่ง หรือการจราจรที่คับคั่งติดขัด รถติดบนไฮเวย์ยาวเป็นสิบกิโลเมตร แค่นี้ก็รู้สึกสยองอย่างยิ่ง ยิ่งถ้าคิดถึงอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนจะไปเดินเที่ยวกลางแจ้งที่ไหนให้เพลิดเพลินท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ อุณหภูมิกลางแจ้งสูงพอๆ กับความร้อนในร่างกายของเราคือประมาณ 37 องศา ถ้าจะไปเที่ยว ผมก็คิดว่ากรุงเทพฯเป็นแดนสวรรค์จริงๆ ในช่วงเวลานี้ ถนนทุกสายโล่ง จะมีเวลาอื่นเมื่อไรบ้างที่เราจะขับรถกลางกรุงด้วยอัตราความเร็วเกิน 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าอากาศนอกบ้านร้อนจนไม่อยากเดินเที่ยวอยู่กลางแจ้ง เราก็อาจเข้าไปเดินเที่ยวรับแอร์ตามศูนย์การค้าได้ เดี๋ยวนี้ศูนย์สรรพสินค้ามีกระจายอยู่หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไปนั่งฟังเขาร้องเพลงก็ได้ ที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว ในพื้นที่ที่จัดเป็นศูนย์อาหาร เขามีเวทีให้คนขึ้นไปร้องเพลง มีนักดนตรีเล่นอิเลคโทนคนหนึ่ง มีผู้จัดการคิวของผู้ที่จะขึ้นไปร้องคนหนึ่ง อัตราค่าร้องเพลง เพลงละ 20 บาท ร้องได้คราวละไม่เกิน 2 เพลง ผมไปสังเกตการณ์มาแล้ว คนที่ขึ้นไปร้องเกือบทุกคนเป็นผู้สูงอายุ เพลงที่ร้องกันเป็นเพลงไทยที่คนรุ่นผมคุ้นเคยและพอจะฟังออก ผมสังเกตดูแล้ว คนที่มาร้องเพลงที่นั่นน่าจะเป็นขาประจำ จึงรู้จักกันจนอาจเรียกได้ว่าเป็นชมรมคนรักเพลง ผมเคยถามตัวเองว่าสักวันหนึ่ง เมื่อฝึกฝนวิทยายุทธ์ศิลปะการร้องเพลงจนแก่กล้าถูกจังหวะและไม่ผิดคีย์
เราจะเป็นขาจรขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีนี้สักครั้งดีไหม คำตอบที่ให้กับตัวเอง คือ สงสัยว่าต้องรอชาติหน้า
คนหายไปจากกรุงเทพฯ นับล้านในช่วงสงกรานต์
คนในกรุงเทพฯ หลายแสนคนหรืออาจจะถึงล้านคนที่เดินทางออกจากเมืองหลวงแห่งนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นส่วนใหญ่ของคนที่ออกไปคือ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ
แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีกส่วนหนึ่งคือ คนที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ (ช่วงสงกรานต์ กลางเดือนเมษายน ตรงกับฤดูใบไม้ผลิของประเทศที่อยู่ทางเหนือๆ ของโลก เช่น ญี่ปุ่น คนไทยนิยมไปเที่ยวชมดอกซากุระบานกันมาก)
ผมสนใจคนต่างจังหวัดที่กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากมายจริงๆ ที่จริงผู้คนจากหมู่บ้านชนบทจำนวนมาก เข้ามาทำมาหากินในเมืองนานแล้ว ชาวบ้านจำนวนมากเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมือง บางคนมีลูกก็ส่งลูกไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง เดี๋ยวนี้นักวิชาการพูดกันมากเรื่อง “ครอบครัวข้ามรุ่น” ในชนบท ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ หรือคนรุ่นปู่ย่าตายาย อยู่ลำพังกับเด็กๆ คือหลานๆ ของตนที่พ่อแม่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่นแล้วส่งลูกมาให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง พ่อแม่ก็ส่งเงินมาให้ปู่ย่าตายายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกของตน ปู่ย่าตายายซึ่งส่วนมากเป็นผู้สูงอายุแล้วก็เหมือนยังมีงานทำคือ การรับจ้างเลี้ยงดูหลาน ผมเคยได้ยินเสียงรำพันจากผู้สูงอายุบางคนว่าพ่อแม่เด็กไม่ส่งเงินมาให้ตามที่ตกลงกันไว้ พ่อแม่บางรายก็อาจมีปัญหาในการประกอบอาชีพจนไม่สามารถส่งเงินมาให้ปู่ย่าตายายได้
สำหรับพ่อแม่ที่เอาลูกมาฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ผมลองนึกถึงภาพวันสงกรานต์ที่พ่อแม่ของเด็กจะกลับมาเยี่ยมลูกของตน เด็กๆ คงตั้งตาคอย...นั่น พ่อมาแล้ว นั่น แม่มาแล้ว
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยทำงานออกจากหมู่บ้านไปทำงานที่อื่น วันสงกรานต์ลูกๆ ก็จะได้กลับมาหาพ่อแม่พี่น้อง ผมเห็นภาพความสุขของคนในครอบครัวที่ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันในวันสงกรานต์
ภาพหมู่บ้านในช่วงวันสงกรานต์ดูคึกคักมีชีวิตชีวา คนรุ่นหนุ่มสาวที่แยกย้ายกันไปทำงานในถิ่นอื่นได้เดินทางกลับมาพบปะกัน ที่เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันก็คุยเรื่องที่ตนได้ประสบมา ลูกๆได้กลับมาพบพ่อแม่ พี่ป้าน้าอา สมาชิกครอบครัวและชุมชนที่แยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของแต่ละคนในถิ่นอื่น ไม่ว่าจะไปศึกษาเล่าเรียน หรือไปทำงาน ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในเทศกาลสงกรานต์นี้
เมื่อวาดภาพครอบครัวไทยในวันสงกรานต์แล้ว ผมก็เชื่อว่าโดยรวมแล้ว ครอบครัวไทยยังแข็งแรงพอที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลโดยเฉพาะในชนบท เราพอจะมองภาพในอนาคตออกว่าจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากขึ้น อย่างเช่นในอีกเพียง 5 ปีข้างหน้า 1 ใน 5 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีครัวเรือนที่อยู่กันเฉพาะผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากขึ้น แต่ระบบครอบครัวของคนไทยน่าจะช่วยจัดสรรลูกหลานให้มาช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ดีที่สุดคือ คนในครอบครัว แต่บางครั้ง ปัญหาของการดูแลผู้สูงอายุโดยคนในครอบครัวก็เกิดขึ้นได้บ้างเหมือนกัน เช่นความรุนแรงที่กระทำต่อผู้สูงอายุ หรือการที่คนในครอบครัวหมดความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุต่อไป ในกรณีเช่นนั้น ชุมชนและรัฐอาจต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
นั่งรถปิ๊กอัพกลับบ้าน
“แล้วเธอล่ะ สงกรานต์นี้จะไปไหน” ผมถามกลับ เมื่อผมตอบไปแล้วว่าผมจะไม่ไปไหน ผมได้คำตอบเพียง 2 ประเภทใหญ่ๆเท่านั้น คือ หนึ่งไม่ไปไหนเหมือนกับผม และสองกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด คนที่ทำงานผม ไม่มีใครบอกว่าสงกรานต์นี้จะไปเที่ยว (หรือคนที่ไปเที่ยว หยุดงาน เดินทางไปก่อนแล้วก็ไม่รู้) คนที่ตอบว่าจะไม่ไปไหน มีความคิดอย่างเดียวกับผมว่าอยู่บ้านสบายกว่า ไม่อยากไปเบียดเสียดแย่งที่กินที่นอนกับใคร
สำหรับพนักงานทำความสะอาดที่เป็นลูกจ้างรายวันสองคนที่ผมคุยด้วย บอกว่าจะไปหาพ่อแม่ที่บ้านเกิด คนหนึ่งอยู่จังหวัดบุรีรัมย์ อีกคนหนึ่งอยู่สุรินทร์ เขาว่าจะเดินทางไปด้วยกันโดยรถปิ๊กอัพแค็บ ผมถามให้แน่ใจว่าไม่มีใครต้องนั่งกระบะท้ายไปนะ เขายืนยันว่าไม่ทำผิด ม.44 ของท่านนายกรัฐมนตรีแน่ เพราะไปกัน 4 คน นั่งหน้าสองคนและนั่งในแค็บหลังคนขับอีกสองคน
สงกรานต์ปีนี้ คงจะกร่อยไปมากถ้า คสช. ไม่ผ่อนปรน ม.44 เรื่องการห้ามคนนั่งกระบะท้ายรถปิ๊กอัพ เพราะท่านเป็นห่วงใยว่าจะเกิดอันตรายแก่ผู้นั่งกระบะท้าย กรมการขนส่งทางบกชี้แจงว่าที่จริงแล้วรถปิ๊กอัพจดทะเบียนเป็นประเภทรถบรรทุก ไม่ใช่รถโดยสาร ถ้าให้คนนั่งกระบะท้ายก็เท่ากับกระทำผิดกฎหมายตรงที่ใช้รถผิดประเภท หมดสงกรานต์ ถ้าท่านจะกวดขันเอาจริงเอาจังเรื่องการใช้รถปิ๊กอัพให้ถูกประเภทขึ้นมา กระบะท้ายรถต้องใช้บรรทุกสินค้าสิ่งของเท่านั้น ห้ามบรรทุกคน ชาวบ้านก็คงจะเดือดร้อนเหมือนกัน
แน่นอนว่ารถปิ๊กอัพใช้งานได้ดีในการบรรทุกสิ่งของ ขนสินค้าการเกษตร พืชผักผลไม้ ต้นไม้ ท่อนไม้ ภาชนะ โอ่ง อ่าง กระถาง ถ้วยโถโอชาม โดยไม่เกี่ยงน้ำหนักและขนาด สมกับที่เรียกว่าเป็นรถบรรทุก แต่ที่นอกเหนือจากนั้น คือ คนไทยได้ใช้รถปิ๊กอัพเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นด้วย
ผมเห็นภาพรถปิ๊กอัพขนคนงานจำนวนนับสิบคนไปส่งยังไซต์งานก่อสร้าง แล้วขนคนงานกลับที่พักเมื่อเลิกงาน มีคนเล่าว่าชาวสวนยางใช้รถปิ๊กอัพขนคนงานไปกรีดยางโดยให้นั่งรวมกันไปในกระบะท้าย ผมเคยเห็นนักเรียนเกิน 6 คนนั่งกระบะท้ายรถปิ๊กอัพออกจากหมู่บ้านในตอนเช้าและนั่งกลับเข้าหมู่บ้านในตอนเย็น ผมเคยเห็นชาวเขาหลายคนนั่งมาในกระบะท้ายรถลงมาจากดอยเพื่อมาทำธุระที่พื้นราบเพราะทั้งหมู่บ้านมีรถปิ๊กอัพคันนั้นอยู่คันเดียว (รถราคาไม่แพงนักที่มีสมรรถนะวิ่งขึ้นลงบนทางวิบากตามดงดอยเช่นนั้นได้ก็มีแต่รถปิ๊กอัพนี่แหละ) ผมได้ยินอยู่บ่อยๆ เรื่องชาวเขาชาวดอยใช้รถปิ๊กอัพนำคนเจ็บ คนท้องส่งโรงพยาบาลโดยให้นั่งนอนมาในกระบะท้ายพร้อมญาติพี่น้องอีกหลายคน ...อย่างนี้แล้ว ผมจะเรียกรถปิ๊กอัพว่าเป็นรถ “ประเภทอเนกประสงค์” จะได้ไหม
ที่ผมยกเอาเรื่องรถปิ๊กอัพขึ้นมาพูดในวันนี้ ก็เพราะอยากให้หมู่บ้านในประเทศไทยมีรถอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน อย่างน้อยหมู่บ้านละคัน รถอเนกประสงค์คันนี้นอกจากใช้ในการบรรทุกสิ่งของเครื่องใช้ตามความเหมาะสมกับลักษณะของรถแล้ว ยังควรจะใช้ในการขนส่งผู้ป่วย คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อมารับบริการด้านสุขภาพอนามัยอีกด้วย รถปิ๊กอัพที่มีสมรรถนะวิ่งได้บนทางลำบากและมีราคาไม่แพงนัก เมื่อนำมาดัดแปลงกระบะท้ายให้ปลอดภัยขึ้นสำหรับคนโดยสารก็อาจเหมาะที่จะเป็นรถอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้านที่มีรายได้ไม่มากนัก
ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงเดือนมิถุนายน 2560 (กำหนดพิมพ์เผยแพร่ “ประชากรและการพัฒนา” ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 ที่มีบทความนี้) กฏเกณฑ์การบังคับใช้กฎหมายห้ามคนนั่งกระบะท้ายรถปิ๊กอัพจะเป็นเช่นไร