ช่วงนี้ หลายคนอาจได้เห็นนักเรียนมางานเปิดรั้ว หรือ OPEN HOUSE ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวเข้ามาใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้เห็นบรรยากาศและรูปแบบการเรียนการสอนของคณะและมหาวิทยาลัยในฝันของตัวเองกันก่อน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและเพิ่มแรงขับเคลื่อนให้ฮึดสู้ไปสู่ความฝันของตัวเองให้เต็มที่ ซึ่งต้องบอกว่าปีนี้งาน OPEN HOUSE มีความคึกคักมากเป็นพิเศษ หลังจากที่เงียบเหงาในช่วงโควิด-19 มาสักระยะใหญ่ มีน้องๆ นักเรียนจำนวนมากให้ความสนใจและร่วมงานOPEN HOUSE กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทำให้มหาวิทยาลัยกลับมามีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยต่างเตรียมตัวและพยายามแสดงศักยภาพกันอย่างเต็มที่เพื่อดึงดูดให้น้องๆ นักเรียนเกิดความประทับใจและอยากฝากความฝันทางการศึกษาในอีก 4 ปีข้างหน้าไว้กับสถาบันของตนเอง
ซึ่งต้องยอมรับว่าการพัฒนาและการแข่งขันของมหาวิทยาลัยมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี มีการเพิ่มจำนวนสถาบันการศึกษา การขยายวิทยาเขตและเปิดหลักสูตรที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น เพื่อต่อสู้กับจำนวนนักศึกษาที่มีแนวโน้มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยจำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อลดลงร้อยละ 25.7 ระหว่าง ปี 2558-25621 ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอัตราการเกิดลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบอัตราการเกิดปี 2564 ที่มีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 5.4 แสนคน ซึ่งลดลงมากกว่าครึ่งจากประมาณ 1.2 ล้านคน ในปี 25142 นอกจากนี้ ค่านิยมของการศึกษาต่อในระดับปริญญาของคนรุ่นใหม่ที่อาจให้ความสำคัญกับใบปริญญาลดลง เพราะสามารถเข้าถึงอาชีพเกิดใหม่ที่มีรูปแบบแตกต่างและเปิดกว้างมากขึ้น
มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่า ผู้เรียนล้วนแล้วแต่มีความคาดหวัง และต้องการมีช่วงเวลาวัยเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยที่น่าจดจำ จึงเป็นคำถามที่มหาวิทยาลัยพยายามหาคำตอบว่าสิ่งที่ทำให้ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยมีความสุขคืออะไรและสภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัยแบบไหนที่นักศึกษาอยู่แล้วมีความสุข ซึ่งโครงการ “การสนับสนุนระบบปัญญานิเวศเพื่อสร้างเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุขสู่องค์กรสุขภาวะที่ยั่งยืน” หรือ Happy University โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจความผูกพัน ความพึงพอใจ และความสุขของนักศึกษา ภาคีมหาวิทยาลัยแห่งความสุขในปี 2564-2565 โดยมีนักศึกษาที่ร่วมตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 12,580 คน จาก 21 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ (เพศชาย 3,360 คน หญิง 8,866 คน และเพศหลากหลาย 354 คน) อายุเฉลี่ย 21 ปี (ระหว่าง 18-58 ปี) พบว่า ระดับความสุขเฉลี่ยของชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 6.98 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10) และเมื่อพิจารณาบริบทของมหาวิทยาลัยที่สัมพันธ์กับระดับความสุขโดยรวมของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติที่มีต่อการเรียนการสอน โอกาสในการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมและความสามารถในการแสดงความคิดเห็น สิทธิ สภาพแวดล้อม บริการและสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น พบว่า สภาพแวดล้อมโดยรวมของมหาวิทยาลัยมีความสำคัญและส่งผลต่อระดับความสุขโดยรวมของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมากที่สุด (Spearman’s rho = 0.418) ตามมาด้วย ความรู้สึกคุ้มค่าของความรู้ที่ได้กับการลงทุน ซึ่งหมายรวมถึงค่าเล่าเรียน เวลา และความทุ่มเทต่างๆ (Spearman’s rho = 0.416) และสวัสดิการ/สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีในมหาวิทยาลัย (Spearman’s rho = 0.416)3
ปัจจัยทั้งสามข้อนี้ไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์กับระดับความสุขของนักศึกษาเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อม สวัสดิการ/สิ่งอำนวยความสะดวก และความรู้สึกคุ้มค่ากับการลงทุน ยังเป็น 3 ปัจจัยแรกที่มีความสัมพันธ์กับระดับความผูกพันของนักศึกษาที่มีต่อมหาวิทยาลัยอีกด้วย (Spearman’s rho = 0.606, 0.581 และ 0.580 ตามลำดับ)3
แม้จะเป็นความสัมพันธ์ในระดับปานกลาง (Spearman’s rho = 0.40 ถึง 0.69)4 แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังของนักศึกษาว่าสภาพแวดล้อม บรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน และการดูแลสุข-ทุกข์ให้กับนักศึกษาเป็นด่านแรกๆ ที่ทำให้นักศึกษามีความสุขกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทั้งนักศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคม-สิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการจัดแคมเปญจ์มหาวิทยาลัยสีเขียวให้เป็นนโยบายหลักของมหาวิทยาลัย และทำให้นักศึกษามีความสุขและภูมิใจที่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีสภาพแวดล้อมเป็นมิตรต่อโลก เช่นเดียวกันกับความคุ้มค่า ที่นักศึกษาให้ความสำคัญว่าความรู้และการเรียนรู้ต่างๆ ที่พวกเขาได้รับจากมหาวิทยาลัยนั้นมีความเหมาะสมกับการลงทุน ลงแรง ลงเวลาของพวกเขาหรือไม่
มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ และไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้เช่นกันมหาวิทยาลัยจะยังคงเดินหน้าพัฒนาเป็นแหล่งผลิตปัญญาของแผ่นดินและเป็นสถานที่ฟูมฟักขัดเกลาให้เยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป
ที่มา: https://www.everypixel.com/free/vector/education/student
สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2565
อ้างอิง