The Prachakorn

อายุมากขึ้นความหลังก็พรั่งพรู


ปราโมทย์ ประสาทกุล

19 ธันวาคม 2565
1,019



ความหลังเมื่อยังเป็นเด็กน้อย

ผมรู้สึกว่าเมื่อตัวเองมีอายุสูงขึ้น ก็ยิ่งคิดถึงอดีตมากขึ้น อดีตของเรามีเวลายาวนานเท่าอายุ ในขณะที่อนาคตของเรากำลังสั้นลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดลงเมื่อไร อนาคตของเราอาจจะสิ้นสุดลงพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดือนหน้า ปีหน้า หรืออีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้าก็ได้ ใครจะไปรู้ แต่ที่รู้แน่ๆ คือชีวิตของเราจะต้องจบสิ้นลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง

วันนี้ผมขอคิดทบทวนชีวิตในอดีตอีกสักครั้ง อดีตของผมลากยาวย้อนหลังไปนานกว่า 70 ปี ผมคิดถึงบ้านที่เคยอยู่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ก่อนวัย 10 ขวบ เมื่อเปิดหน้าต่างห้องชั้นสองมองออกไปทางทิศตะวันตกยังเห็นท้องทุ่งนากว้างไกลสุดสายตา ที่บ้านและในหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงยังไม่มีตู้เย็น โทรทัศน์ พัดลมยังไม่มีน้ำ.ประปา ต้องใช้น้ำบ่อ ดื่มน้ำฝนที่ใส่ตุ่มใส่โอ่งเก็บสำรองไว้

สลึงเดียวก็อิ่มได้

เมื่อผมยังเป็นเด็กอายุยังไม่ถึง 10 ขวบ แม่ให้สตางค์เพียงสลึงสองสลึง ผมก็ไปตลาดซื้อขนมกินได้เพียงพอแล้ว จำได้ว่ายายซิ้มแคะขนมครกขายอยู่กลางตลาด ขายขนมครกฝาละ 5 สตางค์ สลึงหนึ่งซื้อขนมครกใส่กระทงใบตองได้สองคู่กับอีก1 ฝา เต้าหู้ทอดร้านที่หัวตลาดใช้เต้าหู้ก้อนสี่เหลี่ยมด้านเท่าผ่าครึ่งเฉียงกลางแบ่งออกเป็นรูปสามเหลี่ยมสองชิ้น ขายชิ้นละสลึงเดียว คนขายใช้มีดแหวกด้านฐานของสามเหลี่ยมให้เป็นร่อง แล้วหยอดน้ำจิ้มซึ่งประกอบด้วยน้ำเชื่อม ถั่วลิสงตำ และน้ำส้มปนพริกพอเปรี้ยวนิดๆ อร่อยนักหนา ผมจึงชอบเต้าหู้ทอดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย

ผมคุ้นกับเหรียญห้าสตางค์ สิบสตางค์ เหรียญสีดำหนาและมีรูตรงกลางเป็นเหรียญยี่สิบสตางค์ และเหรียญสลึง (25 สตางค์) สิ่งใช้แทนเงินที่สูงค่าขึ้นไปจากเหรียญก็เป็นธนบัตรที่เรียกว่า “แบงค์” เริ่มตั้งแต่แบงค์บาท แบงค์ห้า แบงค์สิบ และสูงสุดเป็นแบงค์ร้อยมีสีแดง (แบงค์ร้อยใบแดงๆ)

เมื่อยังเป็นเด็ก ผมชอบฟังผู้ใหญ่คุยกันถึงเรื่องในอดีต เรื่องของการเดินทางที่ต้องใช้เรือเป็นหลัก ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคม ผมชอบฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องค่าของเงินในสมัยก่อนเงินแค่สตางค์สองสตางค์ก็มีค่ามากมายอย่างที่เด็กๆ รุ่นเรายากที่จะจินตนาการ

ผมยังมีโอกาส ใช้ เหรียญราคาหนึ่งสตางค์ เป็นเหรียญทองแดง เส้นผ่าศูนย์กลางน่าจะประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีรูตรงกลาง พวกเราเด็กๆ ใช้ เหรียญทองแดงหนึ่งสตางค์นี้มาเป็น “อีตัว” ในการเล่นล้อต๊อก

กระเป๋ามีเงิน 100 บาท ก็นับว่าหนักโข

ผมจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นหรือชั้นมัธยมปีที่ 3 (หรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ในปัจจุบัน) จากโรงเรียนมารดานฤมล แล้วเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 4 (หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เด็กบ้านนอกคนหนึ่งได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นเด็กเมืองกรุง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา

ผมอาศัยอยู่กับคุณป้าที่ย่านประตูน้ำค่อนมาทางมักกะสันปีแรกผมนั่งรถรางจากสะพานเฉลิมโลกเลี้ยวขวาที่สี่แยกราชประสงค์ตรงไปสุดทางที่ปลายสะพานกษัตริย์ศึก ยศเส รถรางมีโบกี้เดียว แบ่งที่นั่งสำหรับผู้โดยสารออกเป็นสองส่วนเท่ากัน ส่วนครึ่งด้านหน้าเรียกว่าเป็นชั้นหนึ่ง และส่วนที่เป็นด้านท้ายเรียกว่าเป็นชั้นสอง ชั้นหนึ่งต่างจากชั้นสองตรงที่มีเบาะปูที่นั่งซึ่งเป็นแถวยาวไปตามด้านข้างของตัวรถ ราคาค่าโดยสารรถรางสายนี้ ชั้นหนึ่งสองสลึง และชั้นสองสลึงเดียว เมื่อรถรางวิ่งไปจนสุดทาง ขากลับพนักงานย้ายเอาเบาะที่นั่งมาไว้ส่วนหน้า ที่นั่งชั้นหนึ่งเมื่อตอนขาไปก็กลายเป็นชั้นสองในชั่วเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ผมใช้บริการรถรางสายประตูน้ำ-ยศเส ได้ปีกว่าๆ ราวปี 2505 รถรางสายนี้ก็เลิกไป

ผมใช้บริการรถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศอยู่เป็นประจำเมื่อยังเป็นนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น ค่าโดยสารรถเมล์ตลอดสาย 50 สตางค์ หรือสองสลึงเท่านั้น บริษัทนายเลิศยังให้สิทธิพิเศษสำหรับนักเรียนด้วยการขายคูปองนักเรียนครึ่งราคา คือเพียงใบละสลึงเดียวเท่านั้น เราไปซื้อคูปองนักเรียนรถเมล์ขาวได้ที่สำนักงานซึ่งตั้งอยู่แถวๆ ตลาดเฉลิมโลก เล่มละ 10 บาท ได้คูปอง 40 ใบ

ผมขอสารภาพบาปเกี่ยวกับความประพฤติไม่ดีเมื่อยังเป็นนักเรียน (เรื่องหนึ่ง) วันหนึ่งผมและเพื่อนอีก 2-3 คน “โดดร่ม” (หนีโรงเรียน) โดยเดินข้ามสะพานนพวงศ์ไปขึ้นรถเมล์ บขส. ประจำทางสายหัวลำโพง-รังสิต เราทุกคนอยู่ในชุดนักเรียน พนักงานเก็บสตางค์จึงลดค่าโดยสารให้ครึ่งราคา จากหัวลำโพงไปจนสุดทางที่รังสิต เราจ่ายเพียงคนละสลึงเดียว (ค่าโดยสารถูกมากจนจำติดใจมาจนทุกวันนี้) เพื่อนที่คุ้นกับพื้นที่พาเราไปกินก๋วยเตี๋ยวเรือ (น่าจะเป็น “โกฮับ”) ใต้สะพานรังสิต ราคาชามละ 50 สตางค์ จำได้ว่าพวกเรากินไปคนละไม่ต่ำกว่า 5 ชาม

เมื่อวัยหนุ่ม เพียงร้อยบาทก็ยังนับเป็นเศรษฐีได้

ผมเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2509 พอรู้ว่าเข้ามหาวิทยาลัยได้ ผมก็เริ่มสูบบุหรี่ ตอนนั้นการสูบบุหรี่ยังไม่เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ วัยรุ่นแสดงความเป็นหนุ่มด้วยการสูบบุหรี่ ใครๆ ก็สูบบุหรี่กัน

ราคาบุหรี่ในสมัยนั้นมีหลายระดับ บุหรี่จะบรรจุมาในซองละ 20 มวน เท่าที่จำได้ราคาต่อซองของบุหรี่ตามลำดับศักดิ์ต่ำสุดขึ้นไปรวงข้าว 6 สลึง พระจันทร์ 3 บาท เกล็ดทอง 3.50 บาท กรุงทอง 5 บาท และต่อมามีบุหรี่ก้นกรองคือ สายฝน 6 บาท และกรุงทองติดก้นกรองกลายเป็น กรองทิพย์ 6 บาท

นอกจากขายเป็นซองแล้ว ร้านค้าทั่วไปยังมีบริการขายปลีกเป็นมวนให้พวก “ขี้ยา” ที่เบี้ยน้อยหอยน้อย เช่น กรุงทองขายมวนละสลึง (โชคดีที่ผมเลิกสูบบุหรี่มานานแล้ว ทราบว่าเดี๋ยวนี้บุหรี่ไทยราคาซองละเกิน 100 บาท !!)

วุฒิชัย เกรียงไกรเพ็ชร เพื่อนสิงห์ดำ.รุ่น 19 ของผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง “ความเบี่ยงเบนทางเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษครึ่ง: 2509-2534” ลงพิมพ์ในหนังสือ “บทวิเคราะห์ 25 ปี รัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 19” ซึ่งพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานชุมนุมนิสิตเก่า รุ่น 19 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เกี่ยวกับค่าของเงินในช่วงเวลาที่พวกเรายังเป็นนิสิตอยู่ เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ผมขอคัดบางตอนของบทความนั้นมานำเสนอให้พวกเราได้เห็นภาพ วุฒิชัยเล่าเรื่องผ่านพฤติกรรมของเพื่อนที่สมมุติชื่อว่านายอดุน (อะดุน)

“ถ้าแม้นว่าได้มาสักสิบหรือแม้แต่ห้าบาท เขา (นายอดุน) จะกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาทันที แน่ละ เพราะห้าบาทในยุคนั้น หมายถึงก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม โอเลี้ยงหนึ่งแก้ว กรุงทองสั้นสองมวน และท้ายสุดค่ารถกลับบ้าน...ถ้าวันนั้นเขาคิดจะกลับ...”

เมื่อนายอดุนไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในตอนค่ำที่ร้านอาหารแถวซอยหลังสวน ถนนราชดำริ

“เหล้าแม่โขงแบนละสิบเอ็ด โซดาขวดละบาท...หม้อไฟสิบ...ลาบสิบ...เนื้อเค็มห้า...ถ้าใครกินโซดาเกินแบนละสี่ขวดจะถูกถากถางว่าคออ่อนและหมู แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือเปลือง”

“ในสมัยนั้นความสัมพันธ์ (ของพวกเรา) อาจจะเริ่มจากงานเฟรชชี่ไนท์...วังตะไคร้...เขาใหญ่...ล่องเรือ... สารพัดมีทติ้ง จนสุดยอดถึงภูกระดึง ค่าใช้จ่ายก็ถูกเสียจนไม่น่าเชื่อ สามสิบถึงห้าสิบ สำหรับงานไนท์ทั้งหลายแหล่...ถ้าเขาใหญ่ก็ร้อยยี่สิบบาท ไปจนถึงสามร้อยสำหรับภูกระดึง ทุกงานทั้งเที่ยว ทั้งกิน ทั้งดื่มจนเพียบ...ท้ายสุดแม้แต่คนที่ไม่มีเงินเลยแม้แต่บาทเดียว ก็ยังสามารถไปได้ ใครทำมาแล้วคงรู้ตัวดี...”

วันหน้า เงินร้อยบาทคงซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ชามเดียว

เมื่อถึงวันนี้ วันที่ตัวเราได้ผ่านชีวิตมายาวนานกว่าเจ็ดสิบปี ได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมามากพอสมควร ได้เห็นตั้งแต่เมืองไทยมีถนนสองเลนสายหลักอยู่ไม่กี่สาย จนมีถนนแยกไปกลับ 4 เลน 8 เลน และถนนลอยฟ้า ได้เห็นโทรศัพท์เครื่องใหญ่ตามบ้าน จนกลายมาเป็นโทรศัพท์ขนาดพกพาเฉพาะส่วนบุคคลที่ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต เคยทำงานส่งเสริมการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิด จนมาถึงยุคที่ต้องมาวิตกกันว่าเด็กจะเกิดน้อยเกินไป ยุคที่ผู้สูงอายุมีแต่จะเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น

ผมผ่านชีวิตมาจากยุคที่น้ำอัดลมขวดละบาทมาเป็นขวดละ 12 บาท บุหรี่ซองละ 5 บาท เมื่อผมเริ่มสูบบุหรี่ มาเป็นซองละ 100 กว่าบาท ผมเคยกินก๋วยเตี๋ยวชามละบาทเมื่อยังเป็นเด็ก เดี๋ยวนี้ก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท เป็นอย่างต่ำ....สินค้าและบริการต่างๆ มีราคาสูงขึ้นเป็นสิบและหลายสิบเท่าในช่วงชีวิตของผม

คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น มีคำถามว่าคนหนุ่มสาววันนี้จะต้องออมจนกระทั่งมีเงินสักเท่าไรจึงจะเพียงพอที่จะใช้จ่ายยามชรา เมื่อ 10 ปีก่อน ผมได้ยินนักวิชาการบางคนเสนอว่าต้องมีอย่างน้อยสัก 4 ล้านบาท เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการคนหนึ่งให้ตัวเลขที่สูงขึ้นไป คำนวณว่าอย่างน้อยต้องมี 7 ล้าน ผมลืมดูว่าเงินออมจำนวนนั้นเพื่อใช้จ่ายต่อคนหรือต่อครอบครัว และผมก็ลืมถามไปว่าเงินที่คนหนุ่มสาวจะออมไว้ใช้จ่ายยามชราจำนวน 4-7 ล้านนั้น คิดถึงอัตราเงินเฟ้อด้วยหรือเปล่า

(ผมลองใช้เครื่องคิดเลขคิดดูอย่างง่ายๆ ถ้าอัตราเงินเฟ้อของประเทศเท่ากับ 3% ในแต่ละปี เงิน 100 บาท จะมีค่าเหลือประมาณ 76 บาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือเหลือเพียง 56 บาท ในอีก 20 ปีข้างหน้า)

คิดถึงชีวิตในอดีตที่ผ่านมายาวนาน สบายใจกว่าคิดถึงอนาคตที่คงอยู่อีกไม่นานนะครับ

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th