The Prachakorn

การพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

23 เมษายน 2561
485



เหตุการณ์ที่ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือผู้ใกล้ชิดเกิดมากขึ้น เมื่อต้นปี 2560 มีข่าวผู้สูงอายุ 95 ปีเซ็นเอกสารมอบสิทธิ์ให้แก่ผู้ดูแลซึ่งไม่ใช่ญาติพี่น้องเป็นที่สนใจของสังคม เพราะการดำเนินการตามกฎหมายเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แม้จะทราบในภายหลังว่าการมอบสิทธิ์ในทรัพย์สมบัตินั้นไม่ใช่ความประสงค์ของผู้สูงอายุก็ตาม แต่ระบบยุติธรรมไม่สามารถเอาผิดกับผู้ดำเนินการได้ และทำได้เพียงการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับทรัพย์สินคืนบางส่วน การเอารัดเอาเปรียบผู้สูงอายุมีให้เห็นบ่อยขึ้น และคาดว่าจะมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่กำลังสูงวัยขึ้น ผู้สูงอายุเพียงส่วนหนึ่งที่ได้ร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม (Hotline1300)

ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุที่มากและรุนแรงขึ้นทำให้เกิดงานวิจัยเพื่อศึกษาปัญหาและความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิ และประเมินสถานการณ์เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) การศึกษาประวัติชีวิตของผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายในเศรษฐานะและบริบททางสังคม จะทำให้เข้าใจปัญหาและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้เกิดการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุในประเทศไทย

การเอารัดเอาเปรียบถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีเพียงด้านทรัพย์สินเท่านั้น งานวิจัยในต่างประเทศได้ระบุการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การเงินและทรัพย์สิน เช่น การฉ้อโกง การหลอกให้เซ็นเอกสารเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ ดังตัวอย่างที่ได้เสนอไว้ต้น บทความ 2) สิทธิส่วนบุคคล เช่น การกระทำรุนแรงด้านร่างกาย หรือจิตใจ การละเลยเพิกเฉยไม่ดูแลผู้สูงอายุ 3) การรักษาพยาบาล เช่น การได้รับการรักษาตามสิทธิ์ สิทธิ์ในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาหรือหยุดการรักษา บุคคลที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีการรักษากรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุไม่อยู่ในสภาวะที่จะตัดสินใจเองได้ และ 4) ด้านกฎหมาย จริยธรรม เช่น การคุ้มครองไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอาเปรียบจากการใช้กฎหมาย การจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามความประสงค์เมื่อผู้สูงอายุอยู่ในภาวะสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต ป่วยติดเตียง เป็นต้น

ผู้สูงอายุมีสมรรถนะและความสามารถแตกต่างกันไปตามอายุ ประสบการณ์ และความสมบูรณ์ของร่างกาย การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุเพื่อพิทักษ์คุ้มครองสิทธิ ย่อมมีความจำเป็นแตกต่างกันไปตามลักษณะของบุคคล งานวิจัยนี้จึงได้แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุตามสมรรถนะ 3 กลุ่ม คือ 1) ผู้สูงอายุที่มีอิสระในการดูแลตนเองแบบสมบูรณ์ (Full mutual autonomy) ไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ 2) ผู้สูงอายุที่สมรรถนะบางส่วนถดถอย (Partially incompetent) ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้อาจอยู่ในภาวะพึ่งพิงที่ต้องการความช่วยเหลือในระดับต่างๆ ขึ้นกับสมรรถนะทางร่างกายและสมองของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุในกลุ่มนี้อาจจะยังทำกิจวัตรประจำวันหรือธุรกรรมบางอย่างได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการพิทักษ์คุ้มครองอาจเป็นเพียงการสังเกตการณ์ (Observing) การให้คำปรึกษา(Advising) หรือ การติดตาม (Monitoring) ผู้สูงอายุบางคนอาจต้องการความช่วยเหลือ (Assisting) บางอย่าง การพิทักษ์คุ้มครองสิทธิดังกล่าวเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถรักษาสิทธิ ความรับผิดชอบในระดับเบื้องต้นของตนเองได้ (Maintaining primary responsibility) เพราะเชื่อว่า บุคคลหนึ่งจะสามารถเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการได้ดีกว่าการให้ผู้อื่นเป็นผู้ตัดสินใจเลือกให้ 3) ผู้ไร้สมรรถนะในการดูแลตนเอง (Totally incompetent) เป็นกลุ่มที่ต้องการการพิทักษ์คุ้มครองทางกฎหมายและจริยธรรมอย่างสมบูรณ์ เช่น ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ในระดับที่ไม่สามารถคิดวิเคราะห์และตัดสินใจได้ปรกติ

โจทย์วิจัยข้อหนึ่งคือ “เมื่อไรผู้สูงอายุควรได้รับการช่วยเหลือเพื่อพิทักษ์คุ้มครองสิทธิ์?” คำตอบน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็นตัวกำหนด “จุดเปลี่ยนของชีวิต” ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น การสูญเสียสามีภรรยา การเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่อยู่อาศัย การเจ็บป่วยของสมาชิกในบ้าน ส่วนโจทย์ข้อที่สอง “ใครควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิ์ให้แก่ผู้สูงอายุ?” ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าเลือกได้ผู้สูงอายุย่อมต้องการผู้ที่ใกล้ชิด เช่น บุตร และญาติพี่น้องมาเป็นคนช่วยดูแลและพิทักษ์สิทธิ์ให้ แต่หากผู้สูงอายุไม่มีบุตรหรือญาติพี่น้อง หรือผู้ที่ละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุเป็นคนใกล้ชิดเสียเอง กรณีเช่นนี้จึงต้องการบุคคล ชุมชน หรือหน่วยงานมาร่วมพิทักษ์คุ้มครองสิทธิให้ผู้สูงอายุ ระบบพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุที่รองรับในเชิงกฎหมายและจริยธรรม จึงเป็นระบบที่สำคัญเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มจะไม่มีบุตรและอยู่ลำพังคนเดียวมากขึ้น

 

ที่มาของภาพ: http://www.npmhomeperson.dsdw.go.th/document/book/model2550.pdf


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th