The Prachakorn

ความซับซ้อนในการกำจัดไขมันทรานส์: ศึกษาการกำจัดไขมันทรานส์ในประเทศไทยโดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมนโยบาย


วีรภาคย์ ซำศิริพงษ์

04 มกราคม 2566
678



เนื่องจากการบริโภคไขมันทรานส์ไม่มีประโยชน์ทางสุขภาพที่ชัดเจน แต่มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพในทางลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ [1-5] องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดชุดข้อเสนอแนะ REPLACE action package ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการกำจัดไขมันทรานส์ของแต่ละประเทศ

บทความฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศไทยในการกำจัดไขมันทรานส์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปีที่ 14 ฉบับที่ 13 [6] การศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบสามเหลี่ยมนโยบาย (policy triangle framework) ในการวิเคราะห์ โดยแนวคิดดังกล่าวเชื่อว่าความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายสาธารณะเป็นผลมาจากความซับซ้อนของสาระ บริบท กระบวนการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย [7]

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและภาคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นสาระ (การทำให้เป็นปัญหาและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับมาตรการกำจัดไขมันทรานส์ในประเทศไทย) บริบท (บริบททางประวัติศาสตร์ บริบททางการเมือง บริบททางเศรษฐกิจ รวมทั้งบริบททางสังคมและวัฒนธรรม) กระบวนการ (การกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ) รวมทั้งบทบาท ผลประโยชน์และอิทธิพลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ซึ่งนำไปสู่ข้อค้นพบ 2 ประการ ดังนี้

1) ความคิดเห็นของผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของนโยบาย

การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของนโยบายชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการกำจัดไขมันทรานส์ที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยได้มีการประกาศใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย แม้ว่าประเทศไทยกฎหมายดังกล่าวเพิ่งจะประกาศใช้ในปี พ.ศ.2561 แต่กระบวนการนโยบายในการกำจัดไขมันทรานส์ในประเทศไทยเป็นกระบวนการที่ยาวนานสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้น ค.ศ.2000 โดยการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายดังกล่าวเป็นการตอบรับต่อกระแสความหวาดกลัวเกี่ยวกับไขมันทรานส์ภายในประเทศและการแพร่กระจายของนโยบายกำจัดไขมันทรานส์ในต่างประเทศ ทำให้การกำหนดนโยบายมีความราบรื่น (policy quiescence) และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

2) ความคิดเห็นของผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องว่างการดำเนินการ

การวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับช่องว่างการดำเนินการชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าการแบนน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับชุดข้อเสนอแนะ REPLACE action package ในโมดูลการตรากฎหมาย (Legislate) แล้ว แต่ควรมีการดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้นโยบายมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านการสร้างความตระหนัก (Create) และการบังคับใช้กฎหมาย (Enforce) เกี่ยวกับไขมันทรานส์ [8-10] โดยผู้ให้ข้อมูลบางส่วนยังคงมีความคาดหวังให้การกำจัดไขมันทรานส์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนากลไกการติดตามปริมาณไขมันทรานส์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างมีส่วนร่วมของผู้บริโภคควบคู่กับการแบนน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนไปด้วย

สรุป

ประเทศไทยได้กำหนดประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย แล้ว การตรากฎหมาย (Legislate) ของประเทศไทยเป็นเหตุให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 15 ประเทศทั่วโลกที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับไขมันทรานส์ในระดับเป็นเลิศ (best-practice policy) ในปี พ.ศ.2563 อย่างไรก็ดี ประเทศไทยควรบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 ควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ต่อไป ทั้งในด้านการทบทวน (Review) ส่งเสริม (Promote) กฎหมาย (Legislate) ตรวจวัด (Assess) สร้างความตระหนัก (Create) และบังคับใช้กฎหมาย (Enforce) เกี่ยวกับไขมันทรานส์ เพื่อให้การกำจัดไขมันทรานส์มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น [8-10] นอกจากนี้ ปัจจุบันผลการศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการทางนโยบายภายหลังการประกาศใช้ (ex-post analysis) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 ยังคงมีอยู่จำกัด จึงควรมีการศึกษาเกี่ยวกับไขมันทรานส์เพิ่มเติมเพื่อยกระดับการดำเนินการทางนโยบายต่อไป

Suggested citation

Samsiripong, W., Phulkerd, S., Pattaravanich, U., & Kanchanachitra, M. (2022). Understanding the Complexities of Eliminating Trans Fatty Acids: The Case of the Trans Fatty Acid Ban in Thailand. Nutrients, 14(13), 2748.


รายการอ้างอิง

  1. Lupton, J.R.; Brooks, J.; Butte, N.; Caballero, B.; Flatt, J.; Fried, S. Dietary reference intakes for energy, carbohydrate, fiber, fat, fatty acids, cholesterol, protein, and amino acids. National Academy Press: Washington  D.C., USA 2002, 5, 589-768.
  2. Ascherio, A.; Hennekens, C.H.; Buring, J.E.; Master, C.; Stampfer, M.J.; Willett, W.C. Trans-fatty acids intake and risk of myocardial infarction. Circulation 1994, 89, 94-101.
  3. Uauy, R.; Aro, A.; Clarke, R.; L'abbé, M.; Mozaffarian, D.; Skeaff, C.; Stender, S.; Tavella, M. WHO Scientific Update on trans fatty acids: summary and conclusions. Eur J Clin Nutr 2009, 63, S68-S75.
  4. De Souza, R.J.; Mente, A.; Maroleanu, A.; Cozma, A.I.; Ha, V.; Kishibe, T.; Uleryk, E.; Budylowski, P.; Schünemann, H.; Beyene, J. Intake of saturated and trans unsaturated fatty acids and risk of all cause mortality, cardiovascular disease, and type 2 diabetes: systematic review and meta-analysis of observational studies. BMJ 2015, 351.
  5. Downs, S.M.; Thow, A.M.; Leeder, S.R. The effectiveness of policies for reducing dietary trans fat: a systematic review of the evidence. Bull. World Health Organ. 2013, 91, 262-269h.
  6. Samsiripong, W.; Phulkerd, S.; Pattaravanich, U.; Kanchanachitra, M. Understanding the Complexities of Eliminating Trans Fatty Acids: The Case of the Trans Fatty Acid Ban in Thailand. Nutrients 2022, 14, 2748.
  7. Walt, G.; Gilson, L. Reforming the health sector in developing countries: the central role of policy analysis. Health Policy Plan 1994, 9, 353-370.
  8. Mozaffarian, D.; Willett, W.C. Trans fatty acids and cardiovascular risk: a unique cardiometabolic imprint? Curr Atheroscler Rep 2007, 9, 486-493.
  9. World Health Organization. Countdown to 2023: WHO report on global trans-fat elimination 2019. 2019.
  10. Ghebreyesus, T.A.; Frieden, T.R. REPLACE: a roadmap to make the world trans fat free by 2023. Lancet 2018, 391, 1978-1980.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th