The Prachakorn

โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทางขรุขระที่จำเป็นต้องเลือกเดิน


นนทวัชร์ แสงลออ

03 กุมภาพันธ์ 2566
575



ผ่านไปแล้วกับการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ภายใต้แนวคิด “Open, Connect and Balance” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18–19 พฤศจิกายน 2565 โดยมีผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจ 21 เขต เข้าร่วมประชุม การประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร

โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 รูปแบบพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ซึ่งคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โมเดลนี้เป็นแนวทางที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยอาศัยจุดแข็งของประเทศที่มีความหลากหลายด้านชีวภาพและวัฒนธรรม ผสมผสานกับกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ผ่านการผนึกพลังภายใต้ลักษณะจตุภาคี (quadruple helix) ระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน/สังคม และมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ1

รูป: โมเดลเศรษฐกิจ BCG
ที่มา: https://www.bcg.in.th/background/ สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2566

จากแนวคิดสู่การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ก่อนการนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เวทีเอเปค กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564) และแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่างๆ จนกระทั่งเป็นหนึ่งในหลักการและแนวคิดสำคัญในการพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ที่ได้รับการประกาศใช้ก่อนการประชุมเอเปคเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2565 แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยฯ มีเป้าหมาย 5 ประการ คือ การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การพัฒนาคนสำหรับยุคใหม่ การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่2

ความท้าทายของการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

จากแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศฯ ปรากฏกลไก 7 ประการ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 1) การปรับบทบาทภาครัฐจากผู้ลงทุนหลักไปสู่ภาคเอกชน โดยภาครัฐเป็นผู้ส่งเสริมด้วยการสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้เอกชนลงทุนในการพัฒนาที่สูงกว่ารัฐ 2) การปรับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาไปสู่การลงทุนภาครัฐเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ 3) การปรับระบบการจัดงบประมาณจากรายปีไปสู่ระบบการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการเพื่อการลงทุนแบบผูกพันต่อเนื่อง 4) การปรับการสนับสนุนทุนวิจัยรายโครงการไปสู่การสนับสนุนทุนวิจัยครบวงจรทั้งวิจัย พัฒนา สู่การผลิตและจำหน่าย 5) การปรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยึดโยงอุตสาหกรรมเดิมไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ 6) การปรับการเติบโตของประเทศโดยการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกประเทศไปสู่การเติบโตด้วยการสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก และ 7) การปรับจากการทำงานแบบต่างคนต่างทำไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกันผลึกกำลังจตุภาคี2

การศึกษาข้อจำกัดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปใช้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกเหนือจากกลไก 7 ประการดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยระดับมหภาคในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำเป็นต้องศึกษาภาพรวมของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีบริบทแตกต่างกัน

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างงานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการสำรวจความรู้ ทัศนคติ การยอมรับชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืช และประสิทธิภาพของการจัดการศัตรูพืชในรูปแบบเกษตรปลอดภัย/เกษตรอินทรีย์: ระยะนำร่อง ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พบว่า ในระดับจุลภาค มีหลากหลายปัจจัยที่กระทบต่อการส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชจากเดิมให้เป็นการปลูกพืชตามแนวเกษตรอินทรีย์ ทั้งด้านความรู้และทัศนคติของเกษตรกร โดยเฉพาะความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงจากการทดลองผลิต และการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนความถูกต้องของความรู้ที่ได้รับ รวมทั้งความเชื่อและหลักคิดของเกษตรกรแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการผลิต เช่น คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การสรรหาชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชที่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้อย่างรวดเร็ว แต่ใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าหรือทัดเทียมกับการใช้สารเคมี ความสะดวกในการเก็บรักษา ราคาที่เหมาะสม ความเสื่อมโทรมของสภาพดิน ความยากลำบากในการป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีที่มาจากแปลงปลูกใกล้เคียง งบประมาณ ปัจจัยด้านคู่แข่งขัน ที่ขาดการวางแผนการผลิตรวมในพืชบางชนิด ทำให้ปริมาณผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ปัจจัยด้านคนกลางทางการตลาด หรือผู้ซื้อที่นำไปจัดจำหน่ายต่อทั้งผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ตัวแทน และนายหน้า ตลอดจนตลาดหรือแหล่งรับซื้อ ที่มีอำนาจการต่อรองสูงกว่าเกษตรกรมาก ปัจจัยด้านผู้บริโภค แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพสูงขึ้น ก่อให้เกิดธุรกิจผลิต/จำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของแต่ละพื้นที่โดยตรง3

กรณีศึกษาดังกล่าว สะท้อนว่า ความสำเร็จของการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยในแต่ละประเภทธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจ และพึ่งตนเอง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเดินทางบนเส้นทางแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ขรุขระสายนี้ต่อไป


อ้างอิง

  1. 1สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2565). BCG เป็นมาอย่างไร?. https://www.bcg.in.th/background/. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2566
  2. 2กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. (2565). แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570. https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/bcg/BCG-Action-Plan-2564-2570-256502-01.pdf. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2566
  3. 3สุชาดา ทวีสิทธิ์ และนนทวัชร์ แสงลออ. (2565). การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) ในราชบุรี: สารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานเหมาะสมกับศัตรูพืชแต่ละชนิด. รายงานการวิจัย, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, มหาวิทยาลัยมหิดล.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th