The Prachakorn

ประชากร สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


อารี จำปากลาย

23 เมษายน 2561
780



ระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน 2560 ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมกรรมาธิการประชากรและการพัฒนา แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 50 (Commission on Population and Development – CPD1 - Fiftieth session) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในสมัยการประชุมครั้งนี้ มีคณะผู้แทนถาวรกาตาร์ประจำสหประชาชาติเป็นประธานการประชุม หัวข้อหลักของการประชุม คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Changing population age structures and sustainable development)

แม้ผู้เขียนจะคุ้นเคยกับความสำคัญของประชากรต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างดี แต่การได้ไปสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้เป็นเหมือนกับการปลุกเชื้อไฟความสำคัญของประเด็นประชากรต่อการพัฒนา การกำหนดจังหวะก้าวเดินของประเทศหนึ่งๆ ไม่อาจมองข้ามโครงสร้างประชากรได้

โลกเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนทางประชากรที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น มีความเป็นเมืองมากขึ้น ภาวะอนามัยเจริญพันธุ์และการมีส่วนร่วมในแรงงานของผู้หญิงดีขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรช้าลง เราถกเถียงกันเรื่องประชากรสูงอายุและการลดลงของประชากร เรื่องที่ผู้คนมีลูกน้อยเกินกว่าจะมาทดแทนตัวเองได้ และเรื่องการย้ายถิ่นข้ามเขตแดนของประเทศ

แต่ความท้าทายเดิมๆ ของโลกก็ยังคงอยู่ให้ต้องบริหารจัดการกันต่อไป ยังมีเด็กผู้หญิงอีกมากในประเทศยากจนที่ต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย (ประมาณหนึ่งในสามของเด็กหญิงแต่งงานตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี) การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การตั้งท้องในวัยรุ่น หลายๆ ประเทศพูดถึงการตายที่ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุที่ป้องกันได้

สำหรับผู้เขียน ไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้คือ การได้ฟังผู้แทนแต่ละประเทศกล่าวถ้อยแถลงในนามของประเทศตนเอง (Country Statement) ตามคิวที่ถูกจัดไว้ก่อนแล้ว2 เพื่อแสดงท่าทีและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานของประเทศของตน ต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นผู้แทนจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 118 ประเทศ3 และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอีก 2 ประเทศ (Holy See และ State of Palestine) การประชุมมีการแปลภาษาถึง 6 ภาษา คือ อังกฤษ อาหรับ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน  ความหลากหลายของสมาชิกโลกที่มารวมกันครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนความต่างกันในระดับของการพัฒนาประเทศที่สามารถแบ่งเป็นประเทศร่ำรวย อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรปตะวันตกทั้งหลาย ประเทศกลางๆ อย่างไทย เวียดนาม จนถึงประเทศยากจนอย่างหลายๆ ประเทศในทวีปแอฟริกา การรวมตัวกันในการประชุมครั้งนี้ของประเทศต่างๆ ยังสะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านทางประชากร (Demographic transition) ในระยะต่างๆ กันอย่างน่าสนใจ

ในด้านหนึ่ง ประเทศร่ำรวยมีการเปลี่ยนผ่านทางประชากรมาถึงจุดที่เรียกว่าเป็นสังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว ญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุในสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก คือ ร้อยละ 27 ของประชากรมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ประเทศจากยุโรป เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน เยอรมนี ก็มีผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป มากถึงประมาณ 1 ใน 5 (ร้อยละ 19-21) ในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้มีประชากรเด็กไม่มาก จะเพราะผู้คนไม่นิยมมีลูกหลายคน หรือการมีลูกคนหนึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วก็แล้วแต่ แต่ที่แน่ๆ ผู้หญิงของประเทศเหล่านี้มีลูกกันไม่ถึงสองคน4 ปิระมิดประชากรของประเทศเหล่านี้จึงมีฐานแคบแต่ป่องปลาย

สิ่งที่ประเทศสูงอายุในปัจจุบันกังวล คือ ความยั่งยืนของระบบการคุ้มครองทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างคนข้ามรุ่น ความมั่นคงของรายได้ การเรียนรู้ชั่วชีวิต การสูงอายุอย่างมีสุขภาวะ รวมทั้งการสร้างความสมดุลระหว่างหน้าที่ต่อครอบครัวและหน้าที่การงาน (Balancing work-family obligations) และความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ในการประชุมเดียวกันก็มีที่สุดของอีกด้าน คือ ภาพประชากรวัยเยาว์ (Youthful population) ของหลายๆ ประเทศจากทวีปแอฟริกา ที่ผู้หญิงยังมีลูกกันหลายคน โครงสร้างประชากรมีวัยเด็กและวัยแรงงานสูง ขณะที่มีผู้สูงอายุน้อย ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่น่าสนใจคือ องค์ปาฐกคนหนึ่งของการประชุมชี้ว่า ประเทศที่มีประชากรวัยแรงงานสูงมีศักยภาพที่จะได้ประโยชน์จากโครงสร้างประชากรแบบนี้ได้ ที่เรียกว่า Demographic dividend หรือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดจากการมีประชากรวัยทำงาน (15-64 ปี) ในสัดส่วนสูงกว่าวัยพึ่งพิง (อายุน้อยกว่า 15 หรือ65 ปีขึ้นไป) เป็นภาวะที่การเกิดน้อยลง ขณะที่ประชากรวัยทำงานที่มีกำลังในการผลิตเพิ่มขึ้น

แต่เพื่อจะไปให้ถึงศักยภาพของ Demographic dividend ประเทศรุ่นเยาว์เหล่านี้ ต้องก้าวผ่านความท้าทายหลายประการเพื่อให้ได้คนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังการผลิตที่มีคุณภาพ ทั้งการตั้งท้องในวัยรุ่น อนามัยแม่และเด็ก เพศวิถีและอนามัยเจริญพันธุ์ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ความเท่าเทียมทางเพศ และกลไกสนับสนุนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของคนหนุ่มสาว

สิ่งที่ยังคงลอยนวลอยู่อย่างโดดเด่นบนโลกใบนี้คือ ความไม่เท่าเทียมของผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน ต่างมีเรื่องท้าทายให้ต้องกังวลและจัดการ แม้จะเป็นความกังวลคนละเรื่อง คนละมุม ด้วยเดินทางผ่านชีวิตบนโลกนี้ด้วย “วัย” ที่แตกต่าง

ผู้เขียนรับรู้ได้จากการประชุมครั้งนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็น Aging หรือ Youthful population ทุกประเทศดูเหมือนจะมีจุดยืนเดียวกัน คือ ให้ความสำคัญกับโครงสร้างประชากรเป็นพื้นฐานในการกำหนดจังหวะก้าวต่อไปของประเทศ


CPD เป็นเวทีในการติดตาม ทบทวน ประเมินผล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (Program of Action of the International Conference on Population and Development – POA of ICPD) ทั้งในระดับประเทศภูมิภาค และระดับโลก การประชุมปีนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรของโลกและนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การศึกษา การจ้างงาน และการประกันสังคม

ถ้อยแถลงของประเทศไทยอ่านโดย เอกอัคราชทูตจุฬามณี ชาติสุวรรณ ซึ่งจะได้นำเสนอเนื้อหาสาระในโอกาสต่อไป

อ้างจากรายชื่อผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมhttp://www.un.org/en/development/desa/population/commission/pdf/50/E_CN9_2017_INF1.pdf ในจำนวนนี้มี 46 ประเทศที่เป็นกรรมาธิการ CPD ส่วนประเทศไทยไม่ได้เป็นกรรมาธิการ

2016 World Population Data Sheet

* จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 5  “ประชากร” สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th