The Prachakorn

ญี่ปุ่นน่าอยู่ แต่หนูอยากตาย: เมื่อ “ความเป็นส่วนตัว” กลายเป็นความเพิกเฉยต่อสังคม


เรืองริน ประทิพพรกุล

30 มีนาคม 2566
4,030



ผู้อ่านและคนรอบตัวของผู้อ่านหลายท่านอาจจะรู้จักญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศที่บ้านเมืองสะอาด เรียบร้อย ผู้คนไม่คดโกงและชอบรักษาปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หากทำกระเป๋าสตางค์หรือโทรศัพท์หล่นหายก็มักได้คืนทุกครั้ง และเมื่อคงพูดถึงวัฒนธรรม soft power ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูน อะนิเมะ หรือ J-Pop หลายคนอาจนึกถึงภาพตอนที่มีเหตุแผ่นดินไหว บ้านเรือนถล่มทลายโดนสึนามิพัดเสียหาย แต่คนญี่ปุ่นก็ยังยืนต่อแถวรอรับข้าวของเยียวยาจากทางหน่วยงานอย่างเป็นระเบียบ ไม่แก่งแย่งชิงกันเหมือนที่เห็นกันในทั่วไปในประเทศอื่น การเก็บเอาขยะกลับบ้านไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตามถือเป็นนิสัยที่น่าชื่นชมของคนประเทศนี้ ในด้านการสาธารณสุขอย่างเรื่องระบบการแพทย์และพยาบาลก็มีให้เข้าถึงทุกที่ไม่ทอดทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง (ดูเพิ่มเติมได้ในบทความของผู้เขียน: ประสบการณ์การใช้บริการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น) เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจและรู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีที่ไหนสมบูรณ์แบบไปหมดเสียทุกเรื่อง เมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา ณ หอพักนักศึกษาที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ มีนักศึกษาหญิงฆ่าตัวตายและเป็นข่าวใหญ่ออกทั้งรายการโทรทัศน์และวิทยุท้องถิ่น และในวันที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ (15 มีนาคม 2566) มีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแจ้งมาว่ากำลังไปงานศพของศิษย์เก่าที่เลือกจบชีวิตตนเองในวัย 30 ปี แม้ว่า ปี 2566 เพิ่งเริ่มมาได้เพียงสองเดือนกว่าๆ แต่ข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายก็เกิดขึ้นถี่ราวกับกับอุบัติเหตุบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร

ภาพประกอบโดยผู้เขียน

เมื่อมาย้อนคิดดูแล้ว การฆ่าตัวตายของบุคคลใกล้ตัวผู้เขียนนั้นมีทุกปีตั้งแต่มาอยู่ที่ญี่ปุ่น ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอเรื่องราวฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมกับแสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์สังคมญี่ปุ่น (โดยเฉพาะเมืองใหญ่) จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมาเกินสิบปี ผู้เขียนมองว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีเส้นแบ่งของพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนรวมที่ชัดเจนเกินไป ทำให้มนุษย์มีความโดดเดี่ยวเพราะความสำคัญของความเป็นส่วนรวมนั้นตกชายขอบ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุของปัญหาที่ไม่อยากให้เกิด

หากไม่นับข่าวดังที่มิอุระ ฮารุมะ ดาราหนุ่มคนโปรดของผู้เขียนฆ่าตัวตายในปี พ.ศ. 25631 และข่าวที่มีชายวัยกลางคนคนหนึ่งพุ่งกระโดดไปที่รถไฟด่วนที่เมืองโกเบ จนทำให้ทั้งคนกระโดดและผู้โดยสารในรถไฟเสียชีวิตเมื่อปี 2564 แล้ว2  ข่าวที่อยู่ในความทรงจำของผู้เขียนก็คงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม 2563 ที่มีเด็กนักเรียน ม.ปลายอายุ 17 ปี กระโดดลงมาจากห้างสรรพสินค้า Hep-Five ที่ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองโอซาก้า3 ใกล้กับสถานีรถไฟที่ผู้เขียนใช้สัญจรเป็นประจำ เด็กหนุ่มคนนี้กระโดดลงมากระแทกกับนักศึกษาผู้หญิงอายุ 19 ปี ทำให้เสียชีวิตทั้งคู่ หลังจากข่าวนี้ เวลาผู้เขียนจะเดินผ่านทางนี้ทีไร เป็นต้องแหงนหน้ามองขึ้นฟ้าทุกที4

อีกเรื่องที่เป็นข่าวดังมากอยู่ช่วงหนึ่งคือเรืองที่เกิดขึ้นที่เมืองอาซาฮิกาวะ จังหวัดฮอกไกโด ในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เด็กผู้หญิง นามสมมติว่าน้องเอ อยู่ระดับชั้น ม.ต้น อายุ 14 ปี ถูกพบว่าแข็งตายในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง5 หลังจากที่ผู้ปกครองได้แจ้งความคนหายไปแล้วกว่าหนึ่งเดือน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อากาศหนาวมากที่สุดของปี โดยวันที่เธอหายไปที่นั้นมีอุณหภูมิถึง -17 องศา เหตุการณ์นี้มีที่มาจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกหรือการถูกบูลลี่ (Bully) ที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่น้องเอได้เข้าเรียนชั้นมัธยมต้นใหม่ๆ กลุ่มนักเรียนชายและหญิงจำนวนหนึ่งที่รังแกเธอเป็นประจำได้บังคับให้เธอส่งรูปและวีดิโออนาจารของตนเองไปให้พวกเขา และรูปเหล่านั้นก็ได้ถูกส่งต่อไปยังหลายกลุ่มแชท หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจเธอมากที่สุดคือการที่กลุ่มเด็กบูลลี่เหล่านี้บังคับให้เธอทำสิ่งอนาจารต่อหน้าพวกเขา หลังจากเหตุการณ์นี้ น้องเอพยายามฆ่าตัวตายโดยการกระโดดลงแม่น้ำเมื่อปี 2562 แต่เด็กกลุ่มนี้ก็ได้โทรแจ้ง 1106 ว่า น้องเอกระโดดลงน้ำฆ่าตัวตาย โดยให้เหตุผลว่าเพราะถูกคุณแม่ทำร้ายร่างกาย ซึ่งทำให้คุณแม่น้องเอถูกตำรวจกีดกันไม่ให้เข้าไปเยี่ยมลูกได้ แต่เด็กเหล่านี้ทำตัวน่าสงสัยเพราะบอกตำรวจว่าเป็นเพื่อนกับน้องเอแต่ไม่เคยส่งข้อความหรือมาเยี่ยมเยียนเลย ตำรวจจึงทำการสอบสวน และพบหลักฐานในมือถือว่ามีรูปอนาจารอยู่จริง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้กระทำผิดมีอายุน้อย กฎหมายจึงไม่สามารถทำอะไรเด็กพวกนี้ได้ ภายหลังจากน้องเอฟื้นตัวแล้ว คุณหมอได้วินิจฉัยว่า น้องเอมีโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) จากการถูกบูลลี่อย่างต่อเนื่อง หลังจากเหตุการณ์นี้ น้องเอได้แต่หมกตัวอยู่ในบ้าน จนกระทั่งวันที่เธอหายตัวไปกระทันหันและถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ในตอนแรกทางโรงเรียนไม่ยอมรับว่าการฆ่าตัวตายของเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบูลลี่ในโรงเรียน ก่อนที่จะโดนร้องเรียนและออกมายอมรับในภายหลัง เรื่องนี้ถูกรายงานว่า น้องเอเคยพยายามบอกกับคุณครูว่าโดนรังแก แม่เองก็เคยไปปรึกษาคุณครู แต่คุณครูกลับบอกว่า ไม่มีอะไร แถมยังเอาเรื่องที่น้องเอมาฟ้องไปเล่าให้เด็กกลุ่มนั้นฟังอีกด้วย

ผู้เขียนมิอาจรู้สาเหตุของการฆ่าตัวตายทั้งหมดได้ว่าเกิดจากอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้จากสังคมญี่ปุ่นคือ แม้จะพบว่าใครมีปัญหา หรือทำตัวแปลกแยกจากผู้อื่น มักไม่มีใครอยากช่วยเหลือหรือเข้าไปคุยกับเขา อย่างเช่น ครั้งหนึ่งขณะที่ผู้เขียนกำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ในคลาสวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เป็นวิชาบังคับพื้นฐานของคณะซึ่งมีนักศึกษาเข้าเรียนประมาณร้อยกว่าคน ในจำนวนนั้นมีนักศึกษาต่างชาติเพียงสองคน คือผู้เขียนและเพื่อนผู้ชายชาวอินโดนีเซีย ในขณะที่ผู้เขียนกำลังจะนั่งลง ก็ดันล้มทำก้นตกลงพื้น เพราะลืมไปสนิทว่าห้องเรียนนี้เป็นเก้าอี้พับแบบเหมือนในโรงหนัง แต่น่าแปลกที่ในห้องไม่มีใครหัวเราะขำหรือมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นี้สักคนทั้งๆ ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นเสียงดังที่หน้าชั้นเรียนจนน่าเป็นจุดสนใจ หลังจากนั่งลงเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนถามเพื่อนคนข้างๆ ดูว่าทำไมถึงไม่มีใครหัวเราะเยาะ เขาบอกว่า ทุกคนในห้องรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คงจะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวจึงไม่แสดงออก และเลือกที่จะตลกแค่ในใจ ผู้เขียนฟังแล้วก็มองว่าเป็นเรื่องดี

เรื่องของเรื่องคือ หลังจากนั้นขณะที่อาจารย์สอนอยู่ มีนักศึกษาชายชาวญี่ปุ่นตัวผอมสูงคนหนึ่งเดินออกมาหน้าห้อง ทำท่าเหมือนจะไปเข้าห้องน้ำ แต่จู่ๆ เขาก็เข่าอ่อนพับลงแล้ววูบลงไปสลบอยู่ตรงหน้าประตูชั้นเรียน ขณะนั้นผู้เขียนนั่งอยู่แถวเกือบหน้าสุดแต่นั่งอยู่เกือบตรงกลางไม่สามารถลุกทันทีได้เมื่อเทียบเพื่อนคนที่นั่งตรงปลายแถวของแถวหน้าสุด แต่ก็ไม่มีใครลุกไปหาเขา อาจารย์ที่กำลังหันหน้าเข้าหากระดานดำก็เหมือนจะไม่ได้สังเกตเห็น ขณะที่ผู้เขียนรีบรุดไปช่วยเขา อาจารย์หันมาและสังเกตได้ว่ามีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น จึงใช้โทรศัพท์ของห้องเรียนติดต่อห้องพยาบาล ขณะที่ผู้เขียนพยายามเรียกสติและประคองหัวของนักศึกษาหนุ่มที่หน้าซีดและกำลังหมดสติ ก็พบว่านักศึกษาอินโดนีเซียที่นั่งอยู่แถวหลังสุดของห้องก็วิ่งออกมาช่วยดูเหตุการณ์ ส่วนที่เหลืออีกร้อยชีวิตนั้นนั่งนิ่ง จากนั้น อาจารย์ที่เพิ่งวางสายจากห้องพยาบาลหันมาบอกว่าเดี๋ยวจะมีวีลแชร์มารับ พูดเสร็จแล้วก็ทำการสอนต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เวลาผ่านไปไม่ถึงสามนาที ได้มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาพร้อมรถเข็น เราสองคนจึงช่วยกันประคองหนุ่มหมดสติขึ้นรถเข็นพาไปส่งถึงหน้าลิฟต์เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าเขาสามารถเข็นไปเองคนเดียวได้ เมื่อเราสองคนกลับมาก็เห็นว่าห้องเรียนอยู่ในสภาพเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจารย์แค่หันมาขอบคุณคำเดียวแล้วก็สอนต่อ แม้ว่าเสร็จจากคลาสเรียนแล้วก็ไม่มีใครมาถามสักคนว่าเป็นอะไรยังไงบ้าง ผู้เขียนรู้สึกตกใจกับเรื่องนี้มาก จึงถามเพื่อนคนญี่ปุ่นที่สนิทกันและนั่งข้างๆ ผู้เขียนตอนนั้นว่า คนญี่ปุ่นคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่มีใครลุกไปช่วยคำตอบของเพื่อนยังคงอยู่ในใจของผู้เขียนจนทุกวันนี้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบสิบปีแล้ว เพื่อนบอกว่า “ไม่ใช่ว่าเราไม่แคร์นะหรือไม่รู้สึกนะ แต่เราคิดว่าไม่ต้องเป็นเราหรอก เราไม่อยากเด่น เขาอาจจะป่วย แต่นั่นเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เราไม่ชอบไปยุ่งเรื่องส่วนตัว ไม่ชอบเด่นในที่สาธารณะแบบนี้”

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือตอนที่ผู้เขียนเคยได้รับบาดเจ็บต้องเข้าเฝือกขาหนึ่งข้าง ต้องใช้ไม้ค้ำยันขึ้นรถไฟไปมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณสิบวัน ตลอดสิบวันที่นั่งรถไฟ มีคนสละที่นั่งให้ผู้เขียนเพียงครั้งเดียว แถมยังเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนตัวเล็กๆ ด้วย พอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนคนญี่ปุ่นฟัง เขาก็แสดงความคิดเห็นว่า “คนส่วนใหญ่คงมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของเธอ เธอควรจะจัดการกับมันเองได้”  พอเจอเรื่องแบบนี้ ผู้เขียนอดไม่ได้เลยที่จะคิดถึงบรรยากาศตอนขึ้นรถสาธารณะในเมืองไทย เราคุยกับคนแปลกหน้าได้อย่างกับเหมือนรู้จักกันมาสิบปีแม้ว่าจะเป็นการเดินทางแค่ห้าหกป้ายรถเมล์ หรือการช่วยเหลือแบบ “ไทยมุง” ที่อยากจะช่วยแต่คนช่วยเยอะแล้วเลยได้แต่มุง หากคนญี่ปุ่นได้มาเห็นสังคมไทยก็คงจะตะลึงกับความที่คนไทยให้ความสนใจและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นอย่างไม่ลังเล เพราะที่ญี่ปุ่นเองนั้นนอกจากถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวแล้วนั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่เข้าไปช่วยเหลือคือไม่มีใครเป็นจุดเด่นในที่สาธารณะ

ที่มา http://www.freepik.com

“ความเป็นส่วนตัว” มีข้อดีของมันคือ เราเคารพต่อกัน ไม่ก้าวก่ายกัน แต่การให้ความสำคัญกับความส่วนตัวที่มากเกินไปได้นำไปสู่การขาดความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ ผู้เขียนมองว่าสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็น “ความเห็นแก่ตัว”  และขาดความสำนึกในการอยู่ร่วมกันในสังคม สังคมในการทำงานก็เช่นกัน จากที่คุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นมา หลายคนนั้นมีความชัดเจนว่า เวลางานก็คืองาน พอพักเที่ยงก็ปลีกตัวไปกินข้าวอยู่คนเดียว สร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงานเท่าที่จำเป็น และยังมองว่าเพื่อนร่วมงานนั้นไม่ถือว่าเป็น “เพื่อน” อีกด้วย คนที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นหลายคนคงจะทราบว่า ในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีคำว่า “คนรู้จัก (知り合い: ชิริอะอิ)” และ คำว่า “เพื่อน (友だち: โทโมดาจิ)” คนญี่ปุ่นจะไม่เรียกใครว่าเพื่อนง่าย ๆ เช่น แม้จะทำงานกลุ่มเดียวกัน งานเสร็จ ก็แยกย้าย เมื่อแนะนำให้คนอื่นรู้จักก็จะแนะนำว่าเป็น “คนรู้จัก” ไม่ใช่ “เพื่อน” หากเป็นคนไทยคงจะแนะนำคนนี้แก่คนอื่นว่า “คนนั้นคือเพื่อนในทีมของโปรเจ็คงานคราวก่อนนะ”  แต่คนญี่ปุ่นมักจะบอกว่า “นี่คนรู้จัก เคยทำงานร่วมทีมเดียวกันมาก่อน”  เส้นแบ่งของสองคำนี้ของคนญี่ปุ่นนั้นมีความชัดเจนมาก ส่วนของคนไทย เส้นนี้จะมัวและและมีความซ้อนทับกันมากกว่า

ผู้เขียนรู้สึกว่า การที่คนๆ หนึ่งต้องระวังเส้นแบ่งของ “ตนเอง” ไม่ให้ก้าวทับไปในเส้นของ “คนอื่น” ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเคารพสิทธิส่วนบุคคลนั้น ก่อให้เกิดความเครียด ในเมื่อมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เหตุใดเราจึงต้องมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนนี้ด้วย นักสังคมวิทยาท่านหนึ่งนามว่า Anthony Giddensได้กล่าวไว้ในหนังสือ Modernity and Self-Identity  (1991, pp.74-75) ว่า “ปัจเจกนิยม (Individualism) นั้นไม่เคยมีในยุคสังคมก่อนสมัยใหม่ (pre-modern society) แต่เพิ่งมีหลังจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม (industrialization)ในโลกตะวันตก… ตัวบุคคล (individual) นั้นย่อมเป็นบุคคลได้เพราะว่าเขามีเส้นใยเชื่อมโยงกับสังคมที่สร้างเขาขึ้นมา” 7  ถ้าสังคมเราให้ที่กับ “เรื่องส่วนตัว” มากเกินไป แล้วบุคคลในสังคมนั้นจะยังคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่อีกหรือ? มนุษย์จะกลายเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวมาอยู่รวมกันแต่ไม่มีความสัมพันธ์กับสังคมได้หรือ?

บทความนี้ไม่ได้นำหลักฐานทางวิชาการหรืองานวิจัยใดๆ มายืนยันว่าความเป็นส่วนตัวสูงของสังคมญี่ปุ่นส่งผลต่อเรื่องการฆ่าตัวตาย ผู้เขียนเพียงแต่เขียนบทความนี้ด้วยความรู้สึกว่า “น้องคนนั้นน่าจะไม่ตายวันนั้น ถ้าเธอมีเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจได้อยู่ใกล้ๆ เธอในหอพักนี้”  และ  “หากมีเพื่อนร่วมห้องหรือใครสักคนออกมาปกป้องน้องเอในวันนั้น ชีวิตเธอคงจะไม่จบในที่ที่หนาวและโดดเดี่ยวเช่นนั้น”  อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ในสังคมตะวันตกเองก็มีปัญหาเรื่องการเพิกเฉยต่อปัญหาผู้อื่น เช่นกัน เช่น เหตุการณ์ที่ผู้หญิงโดนคุกคามทางเพศอย่างอุกอาจบนรถไฟในรัฐ  Philadelphia ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 25648  แต่ไม่มีผู้โดยสารร่วมโบกี้คนไหนโทรแจ้งตำรวจหรือเข้าไปช่วยเหลือเธอเลยจนกระทั่งพนักงานรถไฟมาพบเอง

ผู้เขียนเลือกวิจารณ์สังคมญี่ปุ่นเพียงเพราะเป็นเรื่องที่สัมผัสได้จากประสบการณ์ตรง และไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเชิดชูว่าสังคมไทยดีที่สุดหรืออย่างไร  แต่เพื่อชี้ให้เห็นถึง “ความเป็นส่วนตัว” ที่กลายเป็น “วัฒนธรรมความเพิกเฉย” นั้น อาจจะนำไปสู่สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกหลานเราหรือกับใครเลย


อ้างอิง

  1.   Nikkei Asia. (2020). Japanese actor Haruma Miura dies in suspected suicide. Retrieved on 10 March 2020 from  https://asia.nikkei.com/Life-Arts/Obituaries/Japanese-actor-Haruma-Miura-dies-in-suspected-suicide
  2. ラジオ関西トピックス.(2021). JR元町駅・新快速飛び込み死亡の男性、フロントガラス突き破り乗客骨折 自殺と断定 不起訴に 神戸地検. Retrieved on 10 March 2020 from https://jocr.jp/raditopi/2021/04/20/285005/
  3.  朝日新聞DIGITAL.(2021). 梅田の巻き添え事故、高校生を書類送検 重過失致死疑い. Retrieved on 10 March 15, 2023, from https://www.asahi.com/articles/ASP1F5417P1FPTIL00G.html
  4. เรื่องนี้ไม่มีการเปิดเผยถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตาย
  5. 文春オンライン.(2023).「正直何も思ってなかった」自慰行為強要、わいせつ画像拡散のイジメ加害生徒らを直撃【旭川14歳女子凍死】《今日で事件から2年》. Retrieved  on 12 March 15, 2023 from https://news.yahoo.co.jp/articles/9050ece31c18ccf191e0c584f59f1fd541ed63aa?page=1
  6. เบอร์ฉุกเฉินเรียกตำรวจของประเทศญี่ปุ่น อ่านออกเสียงว่า “ เฮียกคุโทบัง”
  7. Giddens, A. (1991). Modernity and self-identity : self and society in the late modern age. Cambridge: Polity Press.
  8. Medina, E. (2021). As a Woman Was Raped, Train Riders Failed to Intervene, Police Say. The New York Times. Retrieved on 15 March 2023 from https://www.nytimes.com/2021/10/17/us/riders-watched-woman-raped-septa.html

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th