The Prachakorn

‘Active Diary’ บันทึกความเคลื่อนไหวที่ให้มากกว่าความทรงจำ


นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

04 เมษายน 2566
677



“ไดอารี่” บอกเล่าข้อมูลสำคัญที่เกิดขึ้นภายใน 1 วันของผู้บันทึก ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ เมื่อมีการกำหนดช่วงเวลาการบันทึกกิจกรรมอย่างเป็นระบบและกำกับการบันทึกข้อมูลแวดล้อม ก็จะสามารถสะท้อนพฤติกรรมและความสัมพันธ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคมศาสตร์ และสาธารณสุข เป็นต้น “ไดอารี่” จึงได้รับการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยประเด็นต่างๆ ที่สะท้อนผ่านเรื่องราวประจำวันของผู้คน และเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาการใช้เวลา (time-use research) ตั้งแต่ปี 1913 แม้การบันทึกการใช้เวลาจะเป็นการบันทึกด้วยตัวผู้บันทึกเอง (self-report) แต่จากการทดสอบความเที่ยงตรงของข้อมูล เมื่อเทียบกับการบันทึกด้วยเครื่องมือ (objective measurement) ข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือและแม่นยำถูกต้อง เนื่องจากเป็นการบันทึกเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง ทำให้ความคลาดเคลื่อนของข้อมูลและอคติจากการจำได้ (recall bias) ลดน้อยลง1

ด้วยจุดเด่นของ “ไดอารี่” ที่สามารถบันทึกข้อมูลต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง การศึกษาด้านพฤติกรรมการเคลื่อนไหวจึงได้นำ “ไดอารี่” หรือการบันทึกการใช้เวลามาเป็นกรอบแนวคิดเพื่อติดตามทำความเข้าใจ และสะท้อนผลลัพธ์ทางสุขภาพจากการมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของคนเราถูกกำหนดอยู่ภายใต้กรอบการใช้เวลา 24 ชั่วโมงเช่นกัน กล่าวคือ ใน 1 วัน คนเราจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ 3 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1. กิจกรรมทางกาย เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีการใช้กล้ามเนื้อ แบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่ เบา กลาง และหนัก 2. พฤติกรรมเนือยนิ่ง เป็นการไม่เคลื่อนไหวร่างกายในขณะตื่น (ใช้พลังงานต่ำ) และอยู่ในท่านั่ง/เอน/นอน และ 3. การนอนหลับ ซึ่งทั้ง 3 พฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นภายในเวลาที่จำกัดแน่นอน คือ 24 ชั่วโมงต่อวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงทางเวลาของพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมที่เหลืออย่างแน่นอน เช่น ถ้าเรามีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น 1 ชั่วโมง ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางกาย และ/หรือการนอนหลับของเราลดลง 1 ชั่วโมงตามไปด้วย

ดังนั้น ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 พฤติกรรมที่เกาะเกี่ยวกันแน่นภายในกรอบ 24 ชั่วโมง จึงย่อมสะท้อนเป็นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือดความดันโลหิตสูง2 ในขณะเดียวกันการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้3 เช่นเดียวกับการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและมีโอกาสการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น4

เราจึงไม่อาจละเลยพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งได้ หากเรามีกิจกรรมทางกายเพียงพอ แต่ยังคงนั่งทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และพักผ่อนนอนหลับเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน แน่นอนว่าประโยชน์จากการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออาจไม่สามารถต้านทานโทษจากพฤติกรรมเนือยนิ่งและการนอนน้อยได้

ปัจจุบันหลายประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ อังกฤษ โครเอเชีย แอฟริกาใต้ และไทย รวมถึง องค์การอนามัยโลก จึงได้พัฒนาข้อแนะนำการมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่ดีต่อสุขภาพครอบคลุมทั้ง 3 พฤติกรรม ได้แก่ กิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ ภายใต้กรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งประเทศผู้นำที่ริเริ่มพัฒนาข้อแนะนำ 24 ชั่วโมง คือ ประเทศแคนาดา ที่บุกเบิกกระบวนการพัฒนาข้อแนะนำสำหรับกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น ออกเป็น ‘The Canadian 24-hour Movement Guidelines for Children and Youth (aged 5–17 years): an Integration of Physical Activity, Sedentary Behaviour, and Sleep’ ในปี 2016 และเป็นตัวอย่างให้หลายประเทศพัฒนาข้อแนะนำ.ของตนเองขึ้นมารวมถึงประเทศไทยที่เรียกได้ว่าไม่น้อยหน้าประเทศใด พัฒนา ข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ สำหรับ 5 กลุ่มวัย ได้แก่ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด กลุ่มเด็กปฐมวัย (แรกเกิด–5 ปี) กลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น (6–17 ปี) กลุ่มผู้ใหญ่ (18–59 ปี) และกลุ่มผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2017 และเป็นประเทศแรกที่มีข้อแนะนำ 24 ชั่วโมงสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงวัยอีกด้วย (สามารถดูข้อแนะนำตามกลุ่มวัยได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/?p=197350)

จากความพร้อมของข้อมูลที่ประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการใช้เวลาของประชากรไทย ทำให้สามารถฉายภาพพฤติกรรมการเคลื่อนไหวภายในกรอบ 24 ชั่วโมง ในระดับประเทศได้ โดยในปี 2015 ประชากรไทยมีกิจกรรมทางกาย 8.60 ชั่วโมง (คิดเป็น 35.8%) พฤติกรรมเนือยนิ่ง 5.96 ชั่วโมง (คิดเป็น 24.8%) และนอนหลับ 9.44 ชั่วโมง (คิดเป็น 39.3%)5 โดยเมื่อเทียบกับผลการสำรวจฯ ปี 2009 พบว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งของประชากรไทยเพิ่มขึ้น 39.6 นาที และการนอนหลับเพิ่มขึ้น 14.4 นาที ซึ่งนั่นหมายถึงกิจกรรมทางกายของประชากรไทยลดลง 54 นาทีต่อวัน5 โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวของคนไทยที่เปลี่ยนไปก็สอดคล้องกับแนวโน้มการเคลื่อนไหวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ประชากรเริ่มมีวิถีชีวิตเนือยนิ่งมากขึ้นและกระฉับกระเฉงน้อยลง ซึ่งแน่นอนว่า การเพิ่มขึ้น/ลดลงของพฤติกรรมย่อมส่งผลต่อความเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า เมื่อกิจกรรมทางกาย (ทั้งระดับเบา กลาง และหนัก) ถูกทดแทนด้วยพฤติกรรมเนือยนิ่ง (ตั้งแต่ 10–30 นาทีต่อวัน) จะทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดและโอกาสการเสียชีวิต5

จากเรื่องราวที่ร้อยเรียงผ่าน “ไดอารี่” สู่การถอดความเป็นบันทึกพฤติกรรมการเคลื่อนไหว เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันของทุกคน สามารถสะท้อนเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีทั้งกระโดดโลดเล่น เนือยนิ่ง และนอนหลับ เปรียบเสมือนเป็น ‘Active Diary’ เรื่องเล่าขยับได้ ที่ไม่เพียงเติมลูกเล่นให้กับสมุดบันทึกของเรา หากยังช่วยสะท้อนแนวโน้มสุขภาพ ที่ทำให้เราได้ตระหนักและดูแลทุกๆ นาทีของชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงกันมากขึ้นอีกด้วย

รูป: พฤติกรรมการเคลื่อนไหวภายใต้กรอบการใช้เวลา 24 ชั่วโมง
ที่มา: Tremblay et al. (2017). Sedentary Behavior Research Network (SBRN) – Terminology Consensus Project process and outcome. International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Activity, 14(1), 75.


อ้างอิง

  1. Matthews, C. E., Keadle, S. K., Sampson, J., Lyden, K., Bowles, H. R.,Moore, S. C., . . . Fowke, J. H. (2013). Validation of a previous-day recall measure of active and sedentary behaviors. Medicine and science in sports and exercise, 45(8), 1629-1638.
  2. Warburton, D. E. R., & Bredin, S. S. D. (2017). Health benefits of physical activity: a systematic review of current systematic reviews. Curr Opin Cardiol, 32(5), 541-556.
  3. Saunders, T. J., McIsaac, T., Douillette, K., Gaulton, N., Hunter, S., Rhodes, R. E., . . . Healy, G. N. (2020). Sedentary behaviour and health in adults: an overview of systematic reviews. Appl Physiol Nutr Metab, 45(10 (Suppl.2)), S197-S217.
  4. Itani, O., Jike, M., Watanabe, N., & Kaneita, Y. (2017). Short sleep duration and health outcomes: a systematic review, meta-analysis, and meta-regression. Sleep Medicine, 32, 246-256.
  5. Liangruenrom, N., Dumuid, D., & Pedisic, Z. (2023). Physical activity, sedentary behaviour, and sleep in the Thai population: A compositional data analysis including 135,824 participants from two national time-use surveys. PLoS ONE, 18(1), e0280957.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th