The Prachakorn

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น


ปราโมทย์ ประสาทกุล

13 เมษายน 2566
1,854



เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติของสรรพสัตว์รวมทั้งมนุษย์ ผมคลอดจากครรภ์แม่ออกมาดูโลกเมื่อ 75 ปีมาแล้ว ผมมีชีวิตผ่านวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยกลางคน จนเข้าสู่วัยชรากลายเป็น “ผู้สูงอายุ” ตามนิยามของกฎหมายไทยเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว จนถึงวันนี้ ผมเป็น “ผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัวและเป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” (อายุ 70-79 ปี) ที่อีกไม่นานก็จะเป็น “ผู้สูงอายุวัยปลาย” หรือคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งนับเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต

บางครั้งผมไม่อยากเชื่อว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่มาได้จนอายุมากเท่านี้ เคยนั่งอยู่ในห้องประชุมที่มีคนนับร้อยคน ซึ่งเมื่อไล่เรียงดูแล้ว ผมเป็นคนที่มีอายุมากที่สุดในที่ประชุมนั้น เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ปู่ย่าตายายที่อายุเท่ากับผมตอนนี้ดู “แก่มาก” ในสายตาและความคิดของผมในขณะนั้น

ผมเป็นคนรุ่น “เบบี้บูม”

คนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488) เรียกว่าเป็นคนรุ่น “เบบี้บูม” สาเหตุที่เรียกเช่นนั้นเพราะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงในปี 2488  ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลับคืนสู่สภาพปกติ ในประเทศยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ เมื่อสงครามสงบ ทหารที่ออกไปร่วมรบในสมรภูมิกลับคืนสู่บ้าน ทหารที่แต่งงานแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตกับคู่ของตนคนที่ยังไม่แต่งงานหรือชะลอการมีลูกไว้เพราะบ้านเมืองยังอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ เมื่อเสร็จสงครามก็แต่งงานหรือมีลูกตามที่ตนปรารถนา จึงมีปรากฏการณ์ที่มีเด็กเกิดมากขึ้นอย่างมากเหมือนกับมี “ระเบิดทารก” (baby boom) โดยเฉพาะในประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งนั้น

ผมเกิดในช่วงเวลาที่สงครามโลกสงบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว ผมไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศที่มีทหารญี่ปุ่นมาตั้งค่ายอยู่ที่บริเวณหน้าอำเภอ ได้แต่ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องราวทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านซึ่งไม่มีอะไรแปลกพิสดารและน่าตื่นเต้นนัก

ช่วงหลังสงคราม เด็กรุ่นราวคราวเดียวกับผมเกิดปีละประมาณ 4 แสนคน แต่หลังจาก 4-5 ปีหลังสงคราม จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีก็เพิ่มอย่างรวดเร็วจนขึ้นถึงหลักล้านในปี 2506 ต่อจากนั้นอีก 20 ปี เด็กเกิดในประเทศไทยที่จดทะเบียนมีจำนวนเกินกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปี ผมเรียกเด็กเกิดระหว่างปี 2506-2526 ว่า “คนรุ่นเกิดล้าน” ซึ่งเป็นคลื่นยักษ์ หรือ “สึนามิประชากร” ลูกที่ใหญ่มาก

ผมอยากจะบอกให้พวกเราทราบว่า ปี 2566 นี้ “คนรุ่นเกิดล้าน” จะเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ คือ มีอายุถึง 60 ปีแล้ว ต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี ประเทศไทยของเราก็จะมีคนที่มีอายุย่าง 60 ปี กลายเป็นผู้สูงอายุตามความหมายที่ตราไว้ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ปีละประมาณ 8 แสนคน ปี 2566 นี้ ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” แล้ว อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า เราจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” เมื่อ 1 ใน 4 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

รูป: คุณย่าชั้น ปลื้มเจริญ (ผู้สูงอายุวัยปลาย)
ได้รับอนุญาตจากบุตรชาย (นายวศิน ปลื้มเจริญ) แล้ว

อีก 10 ปีข้างหน้า ผมจะเป็นผู้สูงอายุวัยปลายเต็มขั้น

วันเวลาผ่านไปเร็วมาก เหตุการณ์บางเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีมาแล้ว เช่น น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ผมหวนคิดดูแล้วก็เหมือนกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ บ่อยครั้งที่ผมบ่นกับตัวเองและบอกกับใครต่อใครว่า “คนเรายิ่งมีอายุมากขึ้น วันเวลาก็ยิ่งผ่านไปไวขึ้น” ดังนั้น อีก 10 ปีข้างหน้า เป็นเวลาอีกไม่นานเลย อย่างเช่นวันนี้ สิ้นเดือนมีนาคมแล้ว เผลอประเดี๋ยวเดียวเวลาของปีใหม่ 2566 ได้ผ่านไป 1 ใน 4 ของปี อีกเพียง 9 เดือนก็จะขึ้นปีใหม่ 2567

อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าผมยังมีลมหายใจอยู่ ผมก็จะเป็น “ผู้สูงอายุวัยปลาย” อย่างเต็มขั้น ผมคงไม่เหงานัก เพราะตอนนั้นสังคมไทยจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ แต่คิดอีกที...ผมอาจจะเหงาก็ได้ เพราะตอนนั้นผมจะมีเพื่อนรุ่นเดียวกันน้อยลง และโอกาสที่ผมจะออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ก็คงจะน้อยลงไปกว่าทุกวันนี้มากทีเดียว

เพื่อนรุ่นเดียวกันของผมคนหนึ่งรำพึงรำพันผ่านเฟซบุ๊กว่าตัวเธอเองยิ่งอายุมากขึ้น โลกของเธอก็ยิ่งแคบลง ในอดีตเพียง 10 กว่าปีก่อน เมื่อเธอยังทำงานอยู่ ได้พบปะผู้คนมากมาย ได้ขับรถคนเดียวไปในสถานที่ต่างๆ ที่ห่างไกล เธอชอบขับรถเป็นชีวิตจิตใจ แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ผลจากการมีโรคภัยไข้เจ็บหลายโรค เธอได้รับการขอร้องแกมบังคับไม่ให้ขับรถ แพทย์และคนในครอบครัวทั้งสามีและลูก ได้ขอร้องไม่ให้เธอทำอะไรหลายๆ อย่างที่เธอชอบทำ และให้เธอต้องทำอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างที่เธอไม่คุ้นชินและไม่อยากทำ เธอเขียนเล่าในเฟซบุ๊กว่า โลกของเธอแคบลงมากจริงๆ เมื่ออายุมากขึ้น

เดี๋ยวนี้เธอไม่สามารถขับรถออกไปไหนต่อไหนได้อย่างเคย ออกจากบ้านไปคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีสามีหรือลูกคอยกำกับดูแลเดินทางไปด้วยกัน เธอถูกห้ามไม่ให้ทำครัวที่เธอเคยชอบ คงเกรงกันว่าเธอจะตกเป็นผู้ต้องหาวางเพลิงบ้านของตนเอง หรือกลัวว่าเธอจะถูกมีดบาด น้ำมันหรือน้ำร้อนจะลวก พื้นที่ในบ้านของเธอถูกจำกัดให้แคบลง เคยนอนในห้องนอนชั้นบน ก็ต้องย้ายมาใช้ชีวิตอยู่แต่ชั้นล่าง จะหลับนอน ดูซีรี่ส์หนังเกาหลี เล่นเฟซบุ๊ก ก็นั่งๆ นอนๆ อยู่พื้นที่ชั้นล่างนั่นแหละ เธอเคยบ่นว่าต่อไปเมื่อเธอแก่ตัวลงกว่านี้ โลกของเธอก็คงจะแคบลงไปอีกจนเหลือเพียงพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าเท่าเตียงนอน

ผมเห็นด้วยกับเธอในเรื่องโลกของเราจะแคบลงเมื่อมีอายุมากขึ้น สำหรับผม บอกกับตัวเองว่าจะไม่เดินทางข้ามทวีปอีกแล้ว ไม่อยากนั่งอยู่กับที่บนเครื่องบินนานๆ คราวละเป็นสิบชั่วโมง ผมไม่อยากคิดถึงตัวเองเมื่อหมดสภาพหรือถูกขอร้องจากคนรอบข้างไม่ให้ขับรถ ไม่อยากนึกถึงตัวเองเมื่อต้องอยู่แต่ในบริเวณหรือภายในบ้าน ไม่สามารถออกไปข้างนอกเพื่อท่องเที่ยวหรือพบปะผู้คนด้วยตัวเองตามใจปรารถนา ไม่เพียงแต่พื้นที่ภายนอกบ้านจะจำกัดให้เหลือน้อยลง พื้นที่ภายในบ้านก็คงคับแคบลงด้วย ผมคิดว่าอีกไม่นานผมคงต้องย้ายลงมานอนชั้นล่าง เพราะมีข้อแนะนำว่าผู้สูงอายุไม่ควรเสี่ยงที่จะขึ้นลงบันได ยิ่งคิดต่อไปก็เกรงว่าสักวันหนึ่งโลกของผมคงแคบลงจนเหลือพื้นที่เท่าเตียงนอน

แม้โลกจะแคบลง ก็ยังอยากมีชีวิตอยู่ในโลกใบเดิม

ผมเห็นภาพที่ชัดเจนแล้วว่า หากผมยังมีชีวิตอยู่ต่อไปในอนาคต โลกของผมก็คงจะแคบลงเหมือนอย่างประสบการณ์ที่เพื่อนของผมกำลังประสบอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน แต่แม้โลกของผมจะแคบลงตามความเสื่อมถอยของสังขาร ผมก็ยังอยากจะมีชีวิตอยู่ในโลกใบเดิม ไม่อยากอยู่ในโลกใหม่ที่ไม่รู้จักใครเลย จำอะไรก็ไม่ได้ทั้งเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน

เพื่อนของผมคนเดิมที่พูดถึงเรื่องโลกแคบลง เคยเล่าเรื่องแม่ของเธอที่เริ่มมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ให้ฟังในหน้าเฟซบุ๊กของเธอไว้อย่างน่าสนใจ ผมได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มาแบ่งปันให้พวกเราได้รับทราบกัน เธอให้คำอนุญาต “ด้วยความยินดีจ้ะ”

“ตื่นเช้ามาแล้วต้องคิดว่าตัวเองยังโชคดี ไม่ใช่โชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่โชคดีที่ยังมีสติสัมปชัญญะที่จะดำ.เนินชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกให้ทำอะไร หรือต้องรอรับความช่วยเหลือจากคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้นคงเหมือนตกนรกทั้งเป็น จะอยู่ก็ไม่ไหว จะตายก็ไม่ได้

มีคนรู้จักหลายคนที่ต้องอยู่กับคนที่เป็นอัลไซเมอร์ อาการรุนแรงต่างขนาดกัน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นล้วนแต่เป็นความทุกข์ยากของคนที่มีอาการและคนรอบข้างทั้งนั้น ฟังดูเหมือนจะขำกับพฤติกรรม แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นเลย

สมัยที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ ในช่วงวัยอายุขึ้นต้นด้วยเลข 8 ปลายๆ แม่มีอาการหลงบ่อยครั้ง แต่ยังไม่ถึงขั้นอัลไซเมอร์ บางทีแม่ก็จะลืมคนรอบข้าง ไม่รู้จัก บางทีก็ลืมเรื่องราวของตัวเอง ทำความปวดหัวและเครียดให้กับคนที่ต้องดูแล เล่าให้ใครฟังเขาก็พากันขำและเอ็นดูที่แม่เป็นอย่างนั้น แต่คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นมันเครียดจนเหลือจะทน

ครั้งหนึ่งแม่ป่วยนอนอยู่ในโรงพยาบาล แม่ตื่นมาตอนตี 2 จะปีนลงจากเตียงเพื่อกลับบ้าน บอกแม่ว่าแม่ไม่สบาย รักษาให้หายก่อนนะ แม่บอกว่าแม่ไม่ได้เป็นอะไร เอาแม่มากักขังไว้ที่นี่ทำไม หลงเชื่อว่าแม่เป็นคนดี ไม่คิดเลยว่าจะร้ายขนาดนี้ ยื้อยุดกันอยู่นาน ต่อรองว่ารอเช้าก่อนจะขอหมอพากลับ ก็ไม่ยินยอม ท้ายสุดต้องตามพยาบาลมาช่วย เรื่องนี้จบลงด้วยการฉีดยาให้แม่หลับ ส่วนเราตื่นทั้งคืน กลัวแม่จะปีนลงจากเตียงอีก

เช้ามา ความอยากกลับบ้านยังไม่ลบเลือน จะกลับบ้านเดี๋ยวนี้ บอกขอนอนสักตื่น ยังไม่ได้นอนเลย บ่ายค่อยกลับก็ไม่ได้ จะกลับ โชคดีที่หมออนุญาต ก็เลยต้องพากลับ กลับถึงบ้านที่เคยอยู่ แม่ว่าพามาบ้านนี้ทำไม เจ้าของบ้านเขาก็ไม่อยู่ พากลับบ้านหน่อย เอาละซี จะไปบ้านไหนอีก เกลี้ยกล่อมกันอยู่นานกว่าความจำจะกลับคืนมา จำได้ว่านี่คือบ้าน

แต่ที่หลงแบบขำๆ ก็มี ประเภทอยู่ดีๆ ถามว่า เราน่ะมีผัวหรือยัง อายุขนาดนี้แล้วทำไมยังไม่มีผัวอีก บอกว่ามีแล้ว มีลูกด้วยสองคนอยู่นั่นไง แม่ว่าเอ๊ะไปแอบมีผัวตั้งแต่เมื่อไร ไม่รู้เลย ที่หลงแบบขำไม่ออกและเป็นบ่อยก็เรื่องไม่มีเงิน ไม่มีใครให้เงินเลย ขอเงินให้แม่ติดตัวไว้หน่อย ฟังแล้วสงสาร เดือนนึงต้องจ่ายเงินเดือนกันหลายรอบเลย ครั้งต่อไปแบ่งให้ทีละส่วน เวลาขอใหม่จะได้มีให้ ปรากฏว่าเกิดจำได้ว่าปรกติเคยได้มากกว่านี้

ความหลงนี่ไม่แน่ไม่นอนจริงๆ บางวันแม่กินข้าวไม่รู้กี่มื้อ กินแล้วบอกไม่ได้กิน ก็ต้องหาให้กินใหม่ แล้วก็กินได้เสียด้วย ไม่มีอิ่ม

ที่เล่านี่จะบอกว่า เราเจอแค่ระยะเวลาสั้นๆ ยังขนาดนี้ ถ้าคนที่เจอทุกวันนานเป็นปีจะขนาดไหน ก็ขอเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวที่กำลังใช้ชีวิตอยู่กับสมาชิกในครอบครัวที่มีอาการอัลไซเมอร์

ครั้งหนึ่งเคยถามลูกว่า ถ้าเกิดวันหนึ่งแม่เกิดเป็นอัลไซเมอร์จำใครไม่ได้จะทำยังไง ลูกตอบว่าถ้าเป็นอย่างนั้นปัญหาไม่ได้เป็นของแม่แล้ว ปัญหามันอยู่ที่พ่อและลูกต่างหากว่าจะทำยังไง ไม่รู้ว่าคนที่เป็นอัลไซเมอร์จำอะไรไม่ได้ ชีวิตจะทุกข์ทนกับการใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ตัวเองคิดว่าเป็นคนแปลกหน้าหรือเปล่านะ น่าสงสารทั้งคนที่มีอาการและบุคคลรอบข้างจริงๆ”

ผมนึกไม่ออกและจินตนาการไม่ได้ว่าโลกของคนเป็นอัลไซเมอร์จะเป็นอย่างไร เขาจะรู้สึกอย่างไรกับโลกใบใหม่ที่เขาจำใครไม่ได้เลย จะเป็นทุกข์ หรือสุขสบายดีเพราะไม่ต้องมีกังวลใดๆ แต่ภาพที่ผมมองเห็นและมีประสบการณ์ คือภาพความทุกข์ของคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่ต้องรับผิดชอบดูแลคนที่เป็นอัลไซเมอร์

วันเกิดปีนี้ผมจึงสัญญากับตัวเองจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีและมีพลัง และไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่เรื่องอย่างนี้แม้เราจะตั้งใจดี ปฏิบัติชอบ แต่ก็คงไม่มีหลักประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเราจะได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ

เราจึงควรมีมรณัสสติอยู่เสมอ

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th