The Prachakorn

สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

23 เมษายน 2561
339



กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำหรับโครงการ “ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ” ที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการมีลูก ด้วยการแจกธาตุเหล็กและโฟลิกให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปี ที่พร้อมหรือตั้งใจวางแผนมีลูก

โครงการ “สาวไทยแก้มแดง” ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าการแจกวิตามินดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อการลดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก แต่กระแสโดยมากวิจารณ์ว่าการแจกวิตามินไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมให้คนอยากมีลูกเพิ่มขึ้น หรือบางคนก็วิจารณ์อย่างติดตลกว่า ถ้าอยากให้หญิงไทยมีลูกกันมากขึ้น ช่วยหาสามีให้ก่อนจะได้ไหม?

แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนสะดุดใจ คือคำว่า “มีลูกเพื่อชาติ” หรือในสื่อบางแห่งใช้คำว่า “ปั๊มลูกเพื่อชาติ” ทำให้สงสัยว่า การจูงใจให้คนมีลูกสมัยนี้ต้องใช้ความรักชาติแล้วหรือ คนจะอยากมีลูกเพื่อประโยชน์ของประเทศจริงหรือ

เห็นข่าว “สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ” ทำให้นึกถึงบทความหนึ่งที่เคยเขียนในจดหมายข่าวปีที่ 33 ฉบับที่ 2 ที่เคยเล่าถึงความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ในการรณรงค์ให้คนมีลูก ผู้เขียนตั้งชื่อบทความนั้นว่า “ปฏิบัติการมีลูกเพื่อชาติในสิงคโปร์” เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก การมีลูกเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์กล่าวถึงอย่างสม่ำเสมอในสุนทรพจน์ประจำ.ปีในช่วงวันชาติสิงคโปร์ นอกจากนั้น รัฐบาลสิงคโปร์เคยใช้วิธีการจูงใจมีลูกผ่านความรักชาติ เช่น ในโฆษณาที่ลูกอมยี่ห้อหนึ่งทำร่วมกับรัฐบาล มีเนื้อหาเชิญชวนคนฉลองวันชาติด้วยการมีลูก โดยบอกว่าการมีลูกเป็นการทำหน้าที่ “พลเมือง” ที่ดี และถือเป็นการแสดงความรักชาติอย่างหนึ่ง

นอกจากการใช้ชาติเป็นแรงจูงใจแล้ว ประเทศเดนมาร์กเคยมีโฆษณาที่โด่งดังไปทั่วโลกเกี่ยวกับการมีลูก เนื้อหาโฆษณาบอกว่าการที่คู่สามีภรรยาไม่มีลูกส่งผลกระทบต่อคุณย่าคุณยายที่ตั้งตารออุ้มหลานอย่างมาก ดังนั้น โฆษณาจึงเชิญชวนด้วยการบอกว่า ถ้าหากไม่อยากทำเพื่อชาติ อย่างน้อยก็ทำ.เพื่อเหล่าบรรดาคุณย่าคุณยายก็ยังดี โฆษณาชิ้นนี้มีชื่อว่า “ทำเพื่อแม่” (Do it for Mom)

โฆษณาทั้งสองชิ้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การให้คุณค่าเกี่ยวกับการมีลูกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ดูเหมือนว่าปัจจุบันนี้ การส่งเสริมให้คนมีลูกต้องใช้แรงจูงใจหรือแรงผลักดันจากภายนอกมากขึ้น ต่างจากในอดีต ที่การมีลูกเป็นเพื่อประโยชน์ของครอบครัว เช่น มีแรงงานเพื่อช่วยเหลืองาน ช่วยเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์ หรือเพื่อจะได้มีคนมาดูแลยามแก่เฒ่า

จากงานวิจัย “การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลในการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสนทนากลุ่มกับหญิงชายเจนเอกซ์และเจนวายในประเด็นการสร้างครอบครัว พบว่าคนยังมองเห็นประโยชน์จากการมีลูกอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าคนรุ่นใหม่กังวลถึงผลลบจากการมีลูกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง และการเบียดบังเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ผู้เข้าร่วมกลุ่มสนทนาเพศชายท่านหนึ่ง ที่แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีลูกได้กล่าวไว้

“เพราะว่าผมกับแฟนชอบท่องเที่ยวไปไหนมาไหนมากกว่า คือผมส่วนตัวมีคุยกับแฟนว่า ไม่อยากมีลูก คือผมอยากจะไปเที่ยวหลายที่ ถ้ามีลูกค่าใช้จ่ายก็จะเกิดขึ้นสูงมาก ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กนี้ ก็ค่อนข้างเยอะ และเวลาที่เราจะดูแลเค้าก็น้อย”

จากคำพูดนี้ จะเห็นได้ถึงทัศนคติเชิงลบต่อการมีลูก การมีลูกจะทำให้เสียโอกาสในการเที่ยว และยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง การที่จะจูงใจให้ผู้ชายท่านนี้มีลูกได้ อาจต้องใช้แรงผลักจากภายนอกอย่างโฆษณาทั้งสองชิ้นนั้นก็ได้ ซึ่งในประเทศไทย ความกดดันจากปู่ย่าตายายที่รอเลี้ยงหลานดูจะเป็นแรงผลักดันที่ยังได้ผลอยู่ ตัวอย่างผู้เข้าร่วมกลุ่มสนทนาเพศชายอีกท่าน ที่แต่งงานแล้วและยังไม่มีลูก กล่าวถึงความคาดหวังของคนรอบข้างต่อการมีลูกไว้ว่า

“ก็คือความกดดัน ถ้าส่วนตัวเลย จริงๆ ก็ไม่ได้อยากจะมีขนาดนั้น อยากมีแต่ว่าไม่ใช่รีบขนาดนั้น มันหลายๆ ปัจจัย เค้าก็พูดทั้งสองบ้านว่า ชีวิตนี้เค้าไม่เหลืออะไรแล้ว คือในแง่ว่าเกษียณกันหมดแล้ว เค้าเหลือแค่หลาน”

กลับมาที่โครงการ “สาวไทยแก้มแดง” ผู้เขียนมองว่าโครงการนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนการเกิดเป็นหลัก แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพของเด็กเกิดใหม่ ให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง จึงเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ส่วนจะทำอย่างไรให้คนอยากมีลูกกันมากขึ้นนั้น เป็นประเด็นที่ท้าทายที่ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย เนื่องจากการตัดสินใจมีลูกเป็นเรื่องที่ซับซ้อน จึงต้องมีนโยบายที่มีความครอบคลุมในหลายมิติ ส่วนวิธีการจูงใจคนให้ “มีลูกเพื่อชาติ” นี้จะได้ผลหรือไม่อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไปค่ะ 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th