The Prachakorn

เด็กปฐมวัย...โอกาสทองสร้างคน


มนสิการ กาญจนะจิตรา

23 เมษายน 2561
945



“การลงทุนในมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุด คือ การลงทุนในเด็กปฐมวัย” –เจมส์ เฮ็กแมน

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เจมส์ เฮ็กแมน ค้นพบความสำคัญของการลงทุนในเด็กปฐมวัย โดยกล่าวว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในคนช่วงวัยอื่นๆ งานวิจัยของเฮ็กแมนพบว่า การลงทุนในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต จะก่อให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนถึงร้อยละ 7-10 ต่อปี

การลงทุนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กนั้น ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น ในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงที่สมองเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วที่สุด ช่วงปฐมวัยจึงเปรียบเสมือนช่วงการสร้างฐานรากที่สำคัญของชีวิต เด็กที่มีพัฒนาการดีในวันนี้ ย่อมมีแนวโน้มที่จะต่อยอดและมีพัฒนาการดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในวันข้างหน้า ต่างจากเด็กที่ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม เมื่อฐานไม่มั่นคงแข็งแรง การพัฒนาต่อยอดจะเป็นไปได้ยาก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ และผู้ให้คำแนะนำชื่อดังในด้านการเลี้ยงดูเด็ก เปรียบช่วงปีแรกเสมือนการสร้างฐานแรกของปิรามิด ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด การที่ปิรามิดมีฐานที่แน่น มั่นคง แข็งแรง จะสามารถรองรับชีวิตทั้งหมดที่เหลือได้เป็นอย่างดี

เฮ็กแมนยังกล่าวย้ำอีกว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่ควรเสริมสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะทักษะด้านปัญญา (Cognitive skills) เท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับทักษะด้านพฤติกรรม (Non-cognitive skills) ด้วย เช่น ความอดทน การควบคุมอารมณ์ ความรับผิดชอบ ความใฝ่รู้ ความตั้งใจ และความมีวินัย ซึ่งทักษะด้านพฤติกรรมเหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะด้านปัญญา ทักษะเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการศึกษา การงาน สุขภาพ และพฤติกรรมต่างๆ ในอนาคต การลงทุนในเด็กปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพของคนตลอดชีวิต

สถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทยในปัจจุบันยังถือว่าน่าเป็นห่วง จากการเก็บข้อมูล ในช่วงปี 2557-2558 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าเด็กปฐมวัยไทยมากกว่า 1 ใน 4 มีระดับพัฒนาการโดยรวมสงสัยล่าช้า โดยกลุ่มเด็กปฐมวัยที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจน กลุ่มแรงงานย้ายถิ่นอพยพ และเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ งานวิจัย “ผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อสุขภาวะและพัฒนาการเด็กปฐมวัย” ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กที่ทั้งพ่อและแม่ย้ายถิ่นมีระดับพัฒนาการสงสัยล่าช้ามากกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการด้านภาษา

ปัจจุบัน เด็กปฐมวัยไทยจึงยังมีความเหลื่อมล้ำด้านพัฒนาการสูง เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนขาดโอกาสและทรัพยากรในการพัฒนาฐานรากของชีวิตมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวมีฐานะหรือที่มีพ่อแม่อยู่กันพร้อมหน้า เมื่อฐานเริ่มต้นไม่เท่ากันแล้ว เมื่อโตขึ้นความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้จะยิ่งเห็นชัดมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ เฮ็กแมนจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการช่วยเหลือเด็กปฐมวัยในครอบครัวด้อยโอกาส เพื่อเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

หลักการในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงปฐมวัย โดยเฉพาะในขวบปีแรก ต้องเริ่มต้นจากการมีสุขภาพกายที่ดี การได้รับสารอาหารครบถ้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งนมแม่เป็นแหล่งอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กทารก โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกที่ทารกควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว นอกจากปัจจัยด้านโภชนาการแล้ว การอุ้ม กอด พูดคุย และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างสม่ำเสมอ เป็นการกระตุ้นพัฒนาการในขวบปีแรกของเด็กได้ดีที่สุด การที่เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เป็นการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และพร้อมต่อการเติบโต เรียนรู้และพัฒนาต่อไป

อย่างไรก็ตาม นโยบายของประเทศในปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเต็มที่ พ่อแม่หลายคนจำเป็นต้องทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาในการดูแลลูกเท่าที่ต้องการในบางกรณีจำเป็นต้องส่งลูกให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยง และทางเลือกในสถานเลี้ยงเด็กเล็กที่มีคุณภาพยังมีอยู่จำกัด ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงควรทบทวนนโยบายต่างๆ เช่น นโยบายเกี่ยวกับการลาคลอดที่ในปัจจุบันอนุญาตให้แม่ลาคลอดได้ 90 วัน การขยายวันลาคลอดเป็นการเปิดโอกาสให้แม่สามารถได้ดูแลลูกในช่วงขวบปีแรกอย่างเต็มที่ ถือว่าเป็นการลงทุนที่จะทำให้ประชากรรุ่นใหม่ของประเทศได้รับการพัฒนาฐานที่มั่นคง เพื่อจะกลายเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเด็กปฐมวัยเท่าที่ควร ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน เผยให้เห็นว่า ประเทศไทยลงทุนในเด็กปฐมวัยในสัดส่วนที่น้อย คือราวร้อยละ 12 (กว่าครึ่งของเงินไปลงที่ระดับประถมศึกษา) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่ม OECD ที่ลงทุนในเด็กปฐมวัยร้อยละ 24

อย่างที่ทราบกันดีว่าในแต่ละปี จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่หากเราให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กในช่วง 5 ปีแรกเป็นอย่างดี ถึงแม้จำนวนประชากรจะลดลง แต่เราจะได้ประชากรที่มีคุณภาพ ที่จะช่วยนำพาประเทศไทยให้พัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ภาพประกอบจาก Thaihealth.or.th

 จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 5  เด็กปฐมวัย...โอกาสทองสร้างคน


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th