ผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ปรากฎในฐานข้อมูลสากลที่เป็นที่ยอมรับในศาสตร์ต่างๆ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมระดับโลกของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย ดังนั้น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม จึงมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย นั่นคือ “เป็นสถาบันชั้นนำในระดับนานาชาติ ที่สรรสร้างวิทยาการด้านประชากรและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ความสำคัญของผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ได้กล่าวข้างต้น เป็นที่มาของโครงการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ผลงานการตีพิมพ์ระดับนานาชาติของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus พ.ศ. 2554-2563 ซึ่งเป็นผลงานจากการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research: R2R) ของบุคลากรสายสนับสนุนสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลงานตีพิมพ์ของบุคลากร สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยู่ในฐานข้อมูล Scopus ในช่วง พ.ศ. 2554-2563 การศึกษาในครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ มีแนวทางการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลคือ ใช้โปรแกรมค้นหา (Search engine) บทความวิจัยของฐานข้อมูล Scopus ประกอบด้วย บทความวิจัย บทความปริทัศน์ บทความสืบเนื่องจากงานประชุมวิชาการ และบทความในหนังสือ หมายเหตุงานวิจัย บทบรรณาธิการ วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนการตีพิมพ์ในแต่ละปี ประเภทของบทความตีพิมพ์ จำนวนการอ้างอิงในแต่ละปี จำนวนบทความที่ตีพิมพ์ไนแต่ละสาขา รายชื่อวารสารที่ตีพิมพ์ รายชื่อหน่วยงานที่มีผลงานตีพิมพ์ร่วมกัน รายชื่อประเทศที่มีผลงานตีพิมพ์ร่วมกัน แหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนวิจัย และจำนวนผลงานตีพิมพ์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพรรณนา คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มีจำนวนผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Scopus ระหว่าง พ.ศ. 2554-2563 จำนวนทั้งสิ้น 183 บทความ โดยสาขาที่ตีพิมพ์สูงสุด คือ แพทยศาสตร์ จำนวน 100 บทความ ส่วนวารสารที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่สูงสุด คือ Journal of Population and Social Studies และ Plos One สำหรับประเทศที่มีผลงานตีพิมพ์ร่วมกันมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่มีผลงานตีพิมพ์ร่วมกันสูงสุดคือกระทรวงสาธารณะสุขและมหาวิทยาลัยมิชิแกน และหน่วยงานที่เป็นแหล่งทุนให้การสนับสนุนการวิจัยสูงสุด คือ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ที่มาของภาพ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Scopus_logo.svg
นอกจากนี้ยังพบว่าสถาบันฯ มีผลงานวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานวิจัยในประเด็นที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 3 การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัยสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย (ร้อยละ 32.62) อีกทั้งผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Scopus ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลในช่วง 10 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 21.3%
ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการบริหารงานวิจัย เช่น การกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนงานนักวิจัย การวิเคราะห์ทิศทางการวิจัยในแต่ละสาขาของสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย
ผลการศึกษาในครั้งนี้นำมาสู่ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบริหารงานวิจัย คือ สถาบันฯ ควรส่งเสริมและกระตุ้นให้นักวิจัยสามารถสร้างเครือข่ายการทำวิจัยระหว่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดอันดับองค์กรด้านการวิจัยของโลก รวมทั้งการสร้างกลไกในการหนุนเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยให้นักวิจัยอาวุโสที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การตีพิมพ์สูงในระดับนานาชาติ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุนการทำวิจัยร่วมกันกับนักวิจัยรุ่นใหม่หรือนักวิจัยที่ยังไม่มีประสบการณ์ด้านการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ และข้อเสนอแนะประการสุดท้ายคือ การส่งเสริมให้นักวิจัยมีทัศนคติที่ดีต่อการสร้างผลงานการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ มีความภาคภูมิใจต่อความก้าวหน้าในอาชีพ และได้รับการยอมรับในวงการวิชาการ
ที่มา: Pasakorn Boonkhum. (2022). Analysis of International Publications of Institute for Population and Social Research, Mahidol University from 2011 to 2020 in Scopus Database. Interdisciplinary Academic and Research Journal, 2(6), 627-644. https://doi.org/10.14456/iarj.2022.168