เมื่ออาทิตย์ก่อนนี้เอง มีเพื่อนส่งคลิปหนึ่งมาให้ผมดูทางไลน์ เป็นรูปชายหนุ่มในชุดพนักงานตำรวจสมัยเก่า ยศคงไม่สูงนักน่าจะเป็นแค่นายร้อย มีคำบรรยายใต้รูปว่า นายตำรวจคนนี้รับราชการตำรวจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผู้เป็นที่รักของชาวบ้าน เสียชีวิตแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ในงานฌาปนกิจศพ ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่นมาร่วมงานเผาศพนายร้อยท่านนี้แม้แต่คนเดียว
คำอธิบายบรรทัดสุดท้าย “ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ 103 ปี” เราจึงเข้าใจได้ว่า เพื่อนรุ่นเดียวกันไม่มีเหลือใครสักคนที่จะมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี
อย่าว่าแต่ 100 ปีเลย เอาแค่อายุ 90 ปีต้นๆ ก็คงเหลือเพื่อนที่ยังมีชีวิตอยู่และมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะมางานศพเพื่อนรุ่นเดียวกันได้น้อยคนเต็มที
เมื่อต้นเดือนก่อนผมไปงานศพภริยาผู้ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งที่มีอายุ 94 ปีแล้ว ท่านยังแข็งแรง ยังขยันอ่านเขียนหนังสือ ส่งข่าว และข้อความ ไปให้เพื่อนเรียนมหาวิทยาลัยรุ่นเดียวกันและรุ่นใกล้เคียง ซึ่งยุบรวม 4-5 รุ่นมาเป็นรุ่นเดียวกัน แล้วพร้อมใจยกให้ท่านเป็นประธาน เมื่อภริยาท่านเสียชีวิต หลังจากนอนติดเตียงและเป็นอัลไซเมอร์มาเป็นเวลานานหลายปี ท่านแจ้งข่าวไปยังเพื่อนๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ได้แจ้งข่าวงานเผาศพไปให้เพื่อนๆ รับทราบแล้ว ไม่มีใครมาร่วมงานได้เลย ทุกคนให้เหตุผลอย่างเดียวกัน คือ สังขารและสุขภาพไม่เอื้ออำนวย
ยิ่งอายุมากขึ้น พวกเราในรุ่นเดียวกันก็คุยกันบ่อยครั้งขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับความตาย ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ เพื่อนรุ่นเดียวกันกับผมตายไปอีก 2 คน ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันมาเมื่อ 50 กว่าปีก่อน เพื่อนกล่าวคำอำลาว่า “ไปไม่กลับหลับไม่ตื่น...” ไปแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 50 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของเพื่อนที่เข้าเรียนพร้อมกันทั้งหมด พวกเรารู้ดีว่าอายุประมาณนี้ เราเข้าสู่ “เขตมรณะ” แล้ว จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้
เดี๋ยวนี้ แต่ละปี จะมี “เพื่อนตาย” ล่วงหน้าไปสวรรค์ ส่วน “เพื่อนกิน” แม้จะยังหาง่าย แต่เพื่อนที่จะมาร่วมกินด้วยกันก็มีอุปสรรคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังขารที่ไม่อำนวยและการเดินทางที่ไม่สะดวก ในที่สุดพวกเราก็คงจะพบว่า เพื่อนกินหายากแต่เพื่อนตายหาได้ง่ายกว่า คำถามที่ถามอยู่ในใจระหว่างเพื่อนฝูง คือ เพื่อนคนไหนจะไปก่อน และคนไหนจะไปเป็นคนสุดท้าย
อย่างไหนจะดีกว่ากัน ไปเร็วๆ หรือไปภายใน 4-8 ปีนี้ ก็อาจจะยังมีเพื่อนไปวางดอกไม้จันทน์หรือไปถวายผ้าไตรจีวรแก่พระที่มาสวดในงานสวดศพได้อยู่บ้าง แต่สำหรับใครที่เหลืออยู่เป็นคนสุดท้าย ก็คงจะจากไปอย่างเหงาๆ ไม่มีเพื่อนมาร่วมงานศพเลยสักคน
เมื่อผมมีชีวิตอยู่มาถึงวันนี้ โดยที่ร่างกายยังแข็งแรง ผมยังขับรถไปไหนมาไหนได้เอง ยังช่วยตัวเองได้ในการทำกิจวัตรประจำวัน ผมก็นึกภูมิใจว่าตัวเองเป็น “ผู้สูงอายุที่มีพลังและยังประโยชน์” แต่ผมก็ยังระลึกอยู่เสมอว่า สภาพการเป็นอิสระ สามารถตัดสินใจและทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองเช่นนี้จะไม่จีรังยั่งยืนตลอดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ผมเคยคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน บางคนมีความคิดตรงกันว่า ไม่มีใครกลัวตาย ทุกคนรู้ดีว่าเราเกิดมาแล้วก็ต้องตายแต่เกือบทุกคนไม่อยากที่จะให้ตัวเองมีความทุกข์ทรมานก่อนตาย มีเพื่อนบางคนพูดทีเล่นทีจริงว่า จะทำอย่างไรดีจึงจะหมดลมหายใจไปอย่างสบาย หลับใหลตายเป็นอย่างไรหนอ หลับไปแล้วก็หยุดหายใจไปเลยหรืออย่างไร
“ชีวิตก่อนตาย” เป็นเรื่องที่น่าคิด ถ้าเราไม่ตายอย่างเฉียบพลัน ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก่อนตายก็อาจต้องพึ่งพาคนอื่น ในสมัยก่อน สังคมไทยมีครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่แข็งแรง คนรุ่นปู่ย่าตายายของเรามีลูกหลานมาก คนอายุ 60-70 ปี ก็มีลูกหลานเหลนนับสิบ ผู้สูงอายุรุ่นก่อน หวัง “ฝากผี ฝากไข้” ไว้กับลูกหลานและญาติพี่น้องได้ อีกทั้งตัวเองแม้จะต้องเป็นภาระให้ลูกหลานดูแล แต่ก็คงจะมีชีวิตอยู่ให้เป็นภาระของคนอื่นอีกเพียงไม่นาน
รูป: บริการดูแลผู้สูงอายุที่จะเฟื่องฟูในอนาคต
ที่มา: Freepik สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566
สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมาก การที่คนอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น มีลูกกันน้อยลง แต่กลับมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น โครงสร้างอายุของประชากรได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากประชากรอายุน้อยเป็นประชากรสูงอายุ เปลี่ยนจากครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีฐานขยายกว้าง เป็นครอบครัวขนาดเล็กที่มีฐานแคบลง และมีครอบครัวจำนวนมากที่ “ภาวะสืบทอดพันธุ์” กุดสั้นลง คือมีลูกน้อย ลูกไม่แต่งงานหรือลูกแต่งงานแล้วแต่มีลูกน้อย หรือไม่มีลูกเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไป
ผมเริ่มมองเห็นแล้วว่า เพื่อนหลายคนรวมทั้งตัวเองด้วย จะต้องคิดหนักเรื่องผู้ดูแลในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนตายจากไป ถ้าหากต้องตกอยู่ในสภาวะช่วยตัวเองไม่ได้ จะพึ่งพาใคร ถ้าอยู่กันสองคน ก็ดูแลกันไป หรือจ้างคนมาช่วยดูแล ถ้ามีลูกแต่ลูกไม่อยู่ด้วย หรือลูกไม่มีเวลาดูแล ก็ต้องจ้างคนมาดูแล หรือไม่ก็ต้องพาไปฝากสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ
เดี๋ยวนี้และต่อไปในอนาคต บริการดูแลผู้สูงอายุจะเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูเช่นเดียวกับธุรกิจดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลเมื่อสังคมไทย เพิ่มระดับ “การสูงวัย” ขึ้นเรื่อยๆ “ความต้องการ” บริการดูแลผู้สูงอายุและการรักษาพยาบาลก็จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ผมเตือนตัวเองให้มี “มรณสติ” อยู่เสมอ เตือนตัวเองให้ทำตนเป็น “ผู้สูงอายุที่มีพลังและยังประโยชน์” แต่ถึงแม้ผมจะพยายามครองสติ และมีพฤติกรรมสุขภาพกายใจให้ดีที่สุดอย่างไรก็ตาม ผมก็อาจมีชีวิตช่วงเวลาหนึ่ง ที่ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง
สิ่งที่ดีที่สุดที่ผมจะทำได้เมื่อมีอายุเท่านี้ คือหมั่นประกอบกรรมดีเพื่อหวังให้ช่วงเวลาที่ช่วยตัวเองไม่ได้นั้นสั้นที่สุด
รูป: ผู้สูงอายุดูแลกันและกัน
ที่มา: Freepik สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566