เมื่อต้นปีนี้ รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้แนะนำให้ผมรู้จักกับ ChatGPT ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมตื่นเต้นมาก และเมื่อผมได้ลองใช้ปัญญาประดิษฐ์นี้ในการทำงาน ผมรู้สึกว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากก้าวกระโดดไปในทิศทางใหม่ อนาคตอันใกล้อาจมีนวัตกรรมอีกหลายอย่างเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างรวดเร็วแบบทวีคูณ ค่านิยมและจุดหมายในชีวิตคนจะเปลี่ยนแปลงตามไป คุณค่า จุดเด่นและความสามารถของคนจะถูกมองในมุมมองใหม่ โอกาสของชีวิตที่ไม่เคยมีมาก่อนอาจเกิดขึ้นมากมาย
ในฐานะนักประชากรที่ผ่านการทำงานนโยบายประชากรมาหลายยุคสมัย ผมเลยลองถาม ChatGPT เขา (ขอใช้คำว่าเขา) ดูว่านโยบายประชากรของประเทศไทยขณะนี้ ควรจะเป็นเช่นไรคำถามนี้ไม่ใช่เป็นการลองภูมิเขา แต่อยากประมวลดูว่า จากความรู้ต่างๆ ในเรื่องนี้ที่มีอยู่ในโลก ปัญญาประดิษฐ์จะจัดสรรคัดเลือกมาอย่างไรให้เราได้รู้ คำตอบที่ได้น่าสนใจ คือเขาจะเริ่มด้วยการออกตัวว่าจริงๆ แล้ว คำถามนี้คงต้องถามผู้กำหนดนโยบายและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเข้าใจสถานการณ์ทางประชากร และเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างลึกซึ้งดูก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ออกตัวแล้ว ChatGPT ก็ให้คำตอบโดยเรียงลำดับ ประเด็นนโยบายประชากรมา 6 ข้อคือ 1) Fertility ประเทศต้องเสริมสร้างมาตรการที่เป็นมิตรกับการมีครอบครัว ให้บริการการเลี้ยงดูบุตรที่เข้าถึงได้ และ work-life balance (โดยเขาไม่ใช้คำว่า ส่งเสริมการเกิด) 2) Immigration นำเข้าแรงงานฝีมือเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดไป เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชดเชยกับการลดลงของประชากร ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างการบูรณาการคนในสังคมทุกๆ กลุ่ม 3) Education and health care เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากร และเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ 4) Urbanization แก้ไขปัญหาความแออัดและปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการพัฒนาภูมิภาคให้สมดุล และสร้างเมืองน่าอยู่ 5) Gender equality and woman empowerment สร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศด้านการศึกษาและการทำงาน รวมทั้งการพัฒนาสตรี และ 6) Social safety nets ให้มีระบบการประกันสังคม การดูแลผู้สูงอายุ ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และดูแลประชากรเปราะบาง
คำตอบของ ChatGPT นี้มีความครอบคลุมที่น่าชื่นชม และสำหรับผม สังเกตว่า ประเด็นที่ 3-6 ในภาพรวมจัดได้ว่าเป็นประเด็นทางสังคมหรือการพัฒนาสังคม ซึ่งเขาจัดอันดับเอาไว้หลัง ส่วนประเด็นที่เขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากที่สุดคือประเด็นที่ 1 และ 2 ซึ่งผมเห็นว่าเป็นนโยบายทางประชากรโดยตรง เป็นเนื้อหาของประชากรแท้ๆ ผมมีความประทับใจกับ ChatGPT เป็นพิเศษ ที่เอาประเด็น immigration ไว้อันดับ 2 คู่กับประเด็น fertility เหมือนกับว่าเขารู้ปัญหาใหญ่ทางประชากรของเราจริงๆ การที่ประเทศจะส่งเสริมมาตรการที่เป็นมิตรกับการมีบุตรและครอบครัว เพื่อให้มีการเกิดในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเก่าคงทำไม่ได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีนโยบายนำเข้าประชากรต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นลักษณะคนเข้าเมืองถาวรควบคู่กันไปด้วย ข้อเสนอแนะจากปัญญาประดิษฐ์ข้อนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของสหประชาชาติที่ได้เคยประกาศทางออกโดยการใช้ replacement migration เป็นนโยบายทางประชากรให้กับประเทศที่มีการเกิดต่ำ ให้พิจารณารับเอานโยบายการทดแทนประชากรด้วยวิธีนี้ ตั้งแต่ปี 2001
เมื่อคุยกับเขามาถึงตรงนี้ ผมเลยอยากเปรียบเทียบคำตอบของเขากับนโยบายประชากรจริงๆ ของประเทศ เรามีแผนประชากรฉบับหลังสุด โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีได้รับร่างแผนดังกล่าว มีชื่อว่า แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-80 ในแผนนี้ได้เสนอ 6 ยุทธศาสตร์รองรับอนาคตไทยเมื่อผมดูประเด็นด้านการทดแทนประชากรด้วยการย้ายถิ่น พบว่า เรื่องนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ “การบริหารการย้ายถิ่น” ในยุทธศาสตร์อันดับหลังสุด และเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้นของยุทธศาสตร์ที่ 6 โดยสรุปเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่เราไม่จัดลำดับเรื่อง immigration นี้ เป็นเรื่องที่สำคัญลำดับต้นๆ เท่ากับความคิดของปัญญาประดิษฐ์ที่เขาเสนอให้ immigration เป็นความสำคัญอันดับ 2 ควบคู่กับการส่งเสริมมาตรการที่เป็นมิตรกับการมีครอบครัวและการมีบุตรที่เป็นอันดับ 1 ความแตกต่างนี้ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นเพราะมนุษย์มีตัวตน มีสังคมและความเป็นชาตินิยมอยู่ในใจ แต่ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่มี มีแต่เหตุผล ตรรกะ และข้อมูลเท่านั้นก็เป็นได้ ข้อชวนคิดก็คือ ChatGPT มีความเป็น globalization มากกว่า nationalism ใช่หรือไม่ แล้วเราจะคิดต่อเรื่องนี้กันอย่างไร
จากนั้นผมก็ถามเขาต่อว่า สำหรับประเทศไทย การนำเข้าพลเมือง หรือการเข้าเมืองถาวร (permanent immigration) จะต้องนำเข้าจำนวนเท่าไหร่ต่อปี คือลองถามเขาแบบเฉพาะเจาะจงดูว่าเขาจะตอบอย่างไร ผลก็คือเขาไม่ยอมตอบตรงๆ แต่บอกว่าต้องวิเคราะห์ให้ดีในระดับนโยบาย และคำนึงถึงความคิดเห็นสาธารณะ โดยเอาปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม ประชากร ความสามารถทางกายภาพ และการบูรณาการทางสังคมมาพิจารณา โดยมีการติดตามและประเมินผลเพื่อปรับแผนการดำเนินการอยู่เสมอๆ แต่ผมก็คะยั้นคะยอถามต่อ ถ้าอย่างนั้นมีประเทศไหนตั้งเป้ากันเท่าไรบ้างละ เขาก็ตอบให้โดยเร็ว มีแคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวีเดน ผมถามว่ามีอีกไหม เขาก็ตอบ สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น ตั้งเป้ากันตั้งแต่สามหมื่นไปถึงสี่แสนคน
ถึงตรงนี้ขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า ChatGPT รุ่นนี้มีข้อมูลในโลกถึงแค่เดือนกันยายน 2564 เท่านั้น ถ้าค้นดูใน google ข้อมูลจำนวนเป้าหมาย immigrants ในประเทศต่างๆ เหล่านี้ ถึงปัจจุบันมีมากกว่านั้น จริงๆ แล้วตอนนี้ประเทศต่างๆ ในโลกกำลังแข่งขันช่วงชิงแรงงานทักษะสูงกันอยู่ เกาหลีใต้ก็เริ่มแล้ว
ส่วนคำตอบของประเทศไทยผมคงพึ่ง ChatGPT ไม่ได้ เพราะการวิเคราะห์เป้าหมายนี้ที่ดีที่สุดเผยแพร่ในปี 2565 โดยนักประชากรที่เก่งที่สุดของโลกคนหนึ่ง คือ Peter McDonald อดีต President ของ International Union for Scientific Studies in Population ได้ศึกษากับผู้ร่วมงาน เพื่อคาดประมาณประชากรในประเทศที่มีการเกิดต่ำหกประเทศ (ที่ในระยะยาวถ้าไม่มี immigration ประชากรจะหมดสิ้นไป) ว่าจะต้องมีผู้ย้ายถิ่นเข้ามาเท่าไรจึงจะทำให้ประชากรคงมีอยู่จำนวนหนึ่ง และเป็นจำนวนที่หยุดนิ่ง (ไม่เพิ่มไม่ลด) หรือที่นักประชากรเรียกว่า การเพิ่มประชากรเป็นศูนย์ (Zero Population Growth (ZPG))สำหรับประเทศไทย ผลการวิเคราะห์พบว่า ต้องนำเข้าปีละ 400,000 คน โดยต้องมีอัตราเกิดอยู่ที่ 1.5 และถ้าดึงอัตราเกิดขึ้นมาได้ 1.7 ภายใน 20 ปี ก็ยังต้องนำเข้าประชากรต่างชาติปีละ 250,000 คน1 สำหรับผมมาคิดต่อ ถ้าเราไม่สามารถเพิ่มอัตราเกิดให้ขึ้นจาก 1.3 ในปัจจุบัน ให้ถึง 1.5 หรือ 1.7 ตามที่ผู้วิจัยกล่าวไว้ เราคงต้องนำเข้ามากกว่า 400,000 คน คงต้องตั้งสติดูว่า จะมองสถานการณ์นี้เป็นปัญหาหรือเราจะสร้างโอกาสอะไรได้บ้าง (ถ้าต้องการคุยกับปัญญาประดิษฐ์ในเรื่องนี้ต่อคงต้องรอให้ ChatGPT ปรับปรุงข้อมูลจนถึงปี 2566 ก่อน)
สุดท้าย ผมก็คุยสนุกต่อกับ ChatGPT ถึงแนวทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เรื่องใครหรือหน่วยงานระดับใด รัฐบาลกลางการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และมีกระบวนการอะไร มีการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจทางนโยบายตั้งเป้า และดำเนินการเชิญชวนและคัดเลือก immigrants เข้าประเทศ สนุกตรงที่ว่าประเทศที่มีดีกรีทางประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจที่ต่างกัน ก็จะมีวิถีทางในการดำเนินการในเรื่องนี้ต่างกันด้วย และ ChatGPT ก็ให้รายละเอียดได้ลึกพอสมควร ลองเข้าไปคุยดูครับ
อ้างอิง