แนะนำหนังสือ “ไทยต่างด้าว ท้าวต่างแดน: สังคมวิทยาของชีวิตข้ามพรมแดน”
นงเยาว์ บุญเจริญ nongyao.bun@mahidol.ac.th
หนังสือ “ไทยต่างด้าว ท้าวต่างแดน: สังคมวิทยาของชีวิตข้ามพรมแดน” โดยทีมบรรณาธิการพัทยา เรือนแก้ว, สุภางค์ จันทวานิช และฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว นำเสนอข้อมูลจากงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง และบทวิเคราะห์ที่ได้จากประสบการณ์จริงของผู้ทำงานกับคนข้ามชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สังคมไทยเข้าใจบริบทและเงื่อนไขของภาวะข้ามชาติ โดยเน้นองค์รวมของความเป็นปัจเจกภาพของคนย้ายถิ่น มากกว่าการมองคนย้ายถิ่นเป็นเพียงแรงงานหรือเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดแนวนโยบายของรัฐ ในการบริหารจัดการประเด็นข้ามชาติและสัญชาติ รวมทั้งการป้องกันปัญหาอันเกิดจากประเด็นดังกล่าวและการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา
เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น 3 ตอน บทนำ: ไทยต่างด้าว ท้าวต่างแดน: ประเด็นที่ต้องทบทวนและท้าทายสำหรับสังคมไทย ตอนที่ 1 “ไทยต่างด้าว” เช่น กระบวนการจัดหางานของแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ: สถานการณ์ รูปแบบและกลไกการร้องเรียน ตอนที่ 2 “ท้าวต่างแดน” เช่น แรงงานวิชาชีพต่างด้าว: มุมมองเชิงเปรียบเทียบการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพในไทยกับอาเซียน- ผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัย: อดีต ปัจจุบัน อนาคต- ชีวิตบั้นปลายของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ตอนที่ 3 “สัญชาติ” เช่น บทวิเคราะห์แนวคิดของรัฐไทยในการจัดการสิทธิในสัญชาติของมนุษย์: ข้อกฎหมาย ข้อนโยบาย และความเป็นไปได้ในการป้องกันและเยียวยาปัญหาความไร้สัญชาติหรือปัญหาความหลายสัญชาติที่เกิดขึ้น- เด็กไทยไร้สัญชาติในต่างประเทศ ส่งท้ายด้วย บทสรุป ไทยต่างด้าว ท้าวต่างแดน: ประเด็นสำคัญและบทวิพากษ์นโยบายการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้ และต่อยอดงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามชาติผ่านบทวิเคราะห์ในมิติด้านต่างๆ ที่หลากหลายมุมมอง
ที่มา
พัทยา เรือนแก้ว, สุภางค์ จันทวานิช และฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว (บรรณาธิการ). (2559). ไทยต่างด้าว ท้าวต่างแดน: สังคมวิทยาของชีวิตข้ามพรมแดน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย