The Prachakorn

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย


ณัฐณิชา ลอยฟ้า

14 สิงหาคม 2566
425



องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้นิยามของกิจกรรมทางกาย (physical activity: PA) คือ การเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบใดๆ ที่เกิดจากกล้ามเนื้อยึดกระดูกที่ต้องใช้พลังงาน และต้องเป็นการเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน ทั้งการทำงาน การเดินทาง และนันทนาการ ตลอดจนการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา โดยมีข้อแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี

กิจกรรมทางกายที่ได้รับความนิยม คือ การเดิน การปั่นจักรยาน การเล่นกีฬา และการมีกิจกรรมสันทนาการที่เน้นการเคลื่อนไหวและสนุก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ใช้ทักษะหรือมีระดับหนักเท่านั้น

กิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ (insufficient physical activity) จะก่อให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary time) โดยมีนิยามว่า พฤติกรรมขณะตื่นที่ใช้พลังงานไม่เกิน 1.5 METs ขณะนั่ง นอนเอกเขนก หรือนอนเหยียด ตัวอย่างของพฤติกรรมเนือยนิ่ง ได้แก่ การทำงานติดโต๊ะ การขับรถ หรือการดูโทรทัศน์

การวัดพฤติกรรมเนือยนิ่ง นอกจากจะหมายถึงการรายงานระยะเวลาที่มีการนั่งติดที่แบบเคลื่อนไหวน้อย ทั้งในช่วงการพักผ่อนการทำงาน และภาพรวมทั้งหมดของวัน รวมไปถึงระยะเวลาในการดูโทรทัศน์หรือจ้องจอต่างๆ แล้ว พฤติกรรมเนือยนิ่งยังหมายรวมถึงการเคลื่อนไหวในระดับต่ำที่วัดได้จากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สามารถประเมินความเคลื่อนไหวหรือการออกท่าทางได้ จากที่ผ่านมาพบว่า พฤติกรรมเนือยนิ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับการลดลงของระดับคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพอีกด้วย1

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งประเทศไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกว่า เป็นผู้นำระดับโลกและระดับภูมิภาคด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการสร้างความตระหนักต่อประชาคมโลกถึงประโยชน์ต่อสุขภาพจากการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และเพื่อให้การนําแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายจึงได้มีการจัดทํา “แผนปฏิบัติการการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573” ขึ้น และเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกที่ให้ความสำคัญกับการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทย ซึ่งแผนนี้ได้รับการพัฒนาผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักโดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจําวัน อันจะนําไปสู่การลดปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicable diseases)  และพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป2

การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ มีความสำคัญทั้งในมิติของการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะการมีพัฒนาการที่ดีตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กสู่ทุกช่วงวัยนั้น จะสร้างความแข็งแรงของหัวใจ กล้ามเนื้อและกระดูก พัฒนาการเคลื่อนไหว สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง เสริมทักษะการเข้าสังคม พัฒนาสมอง การคิดวิเคราะห์ และพัฒนาภาวะทางอารมณ์ องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่าการมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง (active living) เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ

ที่มา: แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573

ติดตาม “แผนปฏิบัติการการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573” ต่อได้ที่ https://www.theprachakorn.com


อ้างอิง

  1. ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายแห่งประเทศไทย (ทีแพค). (มปป). รายงาน    ประจำปี 2563. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นครปฐม
  2. กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ (2561). แผนปฏิบัติการการส่งเสริมกิจกรรม    ทางกาย พ.ศ.2561-2563 สอดคล้องตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ.2561-2573). https://dopah.anamai.moph.go.th/web-upload/8x6b2a6a0c1fbe85a9c274e6419fdd6071/202009/m_news/24342/185665/file_download/d453edfa7f922c2a6bef57ba8e54ae6f.pdf

 

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th