การอ่านออกเขียนได้ เป็นอีกก้าวสำคัญของลูกที่พ่อแม่เฝ้ารอ ไม่ต่างกับตอนที่ลูกเพิ่งเกิด ที่พ่อแม่ตั้งตารอวันที่ลูกหัดเดิน หรือพูดคำแรก การอ่านออกเขียนได้เป็นพัฒนาการที่สำคัญด้านสติปัญญา สะท้อนศักยภาพของสมองในการเข้าใจภาษาในระดับที่ซับซ้อน การจดจำพยัญชนะและเข้าใจว่าพยัญชนะแต่ละตัวใช้แทนเสียงอะไร แล้วเมื่อนำมาผสมกับสระ จะทำให้เกิดเป็นคำที่มีความหมายได้
การอ่านออกเขียนได้ถูกมองว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในด้านพัฒนาการ ยิ่งลูกอ่านออกเขียนได้เร็วเท่าไร ยิ่งสร้างความภูมิใจและความสบายใจให้กับพ่อแม่ อย่างไรก็ตาม เด็กไม่ควรถูกเร่งรัดให้เขียนให้อ่านก่อนวัยอันควร
ในวัยอนุบาล กล้ามเนื้อมือของเด็กบางคนอาจยังไม่พร้อมสำหรับการจับดินสอ การเขียนตัวอักษรหรือเขียนตามรอยประ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กบางคน ในเรื่องการอ่านเด็กอนุบาลบางคนอาจยังไม่เข้าใจหลักการถึงแม้จะจำพยัญชนะได้ เพราะการอ่านต้องใช้ระดับการเข้าใจที่สูงขึ้น เด็กแต่ละคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน เด็กบางคนอาจเร็วและมีความพร้อมในการเขียนการอ่านตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ในขณะที่บางคนอาจพร้อมเมื่ออายุ 6-7 ขวบ ซึ่งหากลูกยังอยู่ในช่วงอายุนี้แล้วยังเขียนไม่ได้อ่านไม่ออก ก็ยังถือว่าปกติ
รูป: เด็กกำลังฝึกเขียนพยัญชนะให้อยู่ในกรอบ
รูปโดย: เกียรตินิยม ขันตี
เนื่องจากประเทศไทยมีโรงเรียนที่มีแนวทางการสอนที่หลากหลาย บางโรงเรียนเป็นแนววิชาการที่มีการสอนการเขียนการอ่านอย่างเข้มข้นตั้งแต่วัยอนุบาล ในขณะที่บางโรงเรียนอาจเน้นการเล่นการทำกิจกรรม ทำให้เกิดคำถามว่า การอ่านออกเขียนได้เร็ว ทำให้เด็กได้เปรียบจริงหรือไม่ แล้วหากลูกของเราไม่ได้เรียนเขียนเรียนอ่านในวัยอนุบาล จะทำให้เสียเปรียบหรือไม่
งานวิจัยโดยมาก ไม่พบข้อได้เปรียบระยะยาวจากการเริ่มอ่านเริ่มเขียนเร็ว เด็กที่อ่านได้เร็ว (นั่นคือตั้งแต่ในวัยอนุบาล) อาจมีความได้เปรียบในระยะสั้น แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการเรียนในระยะยาวยกตัวอย่างงานศึกษาหนึ่ง ที่เปรียบเทียบเด็กในประเทศเอสโตเนียกับประเทศฟินแลนด์ ประเทศทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในทางภาษา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในระบบการศึกษา ในประเทศเอสโตเนียเด็กจะเริ่มเรียนการอ่านตั้งแต่ในชั้นอนุบาล (4-5 ขวบ) ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์เด็กจะเริ่มเรียนการอ่านในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (6-7 ขวบ) การศึกษานี้ทดสอบความสามารถในการอ่าน โดยวัดจากความคล่องในการอ่านหนังสือ และการเข้าใจเรื่องจากการอ่าน ผลปรากฏว่า เมื่อจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เด็กในทั้งสองประเทศมีระดับความสามารถในการอ่านเท่ากัน ถึงแม้ว่าเด็กในประเทศเอสโตเนียจะเริ่มอ่านเขียนในระดับชั้นอนุบาล และได้ผลคะแนนการอ่านสูงกว่าเด็กในประเทศฟินแลนด์ในช่วงต้นปีการศึกษาของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
หน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง คือการตั้งความคาดหวังให้เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย สนับสนุน ส่งเสริม และให้กำลังใจลูกตามวัย และพ่อแม่ต้องมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงวัยที่ลูกพร้อมลูกก็จะทำได้ สิ่งที่พ่อแม่ทำได้เพื่อวางรากฐานในการเขียนการอ่าน อันดับแรก คือ การอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ เพราะเป็นวิธีช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ในสมองที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การอ่านได้ง่ายขึ้น งานวิจัยในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 4 พบว่า เด็กจะเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ได้ดีกว่าเมื่อมีคนอ่านให้ฟังมากกว่าหากเด็กต้องอ่านเอง
ในเรื่องการเขียน พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมโดยการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกให้แข็งแรงได้ โดยผ่านกิจกรรมการเล่นที่เด็กๆ ชื่นชอบ เช่น การปั้นดิน เล่นทราย ระบายสี เมื่อนิ้วมือพร้อมและแข็งแรงแล้ว เด็กจะสามารถเรียนรู้การเขียนได้อย่างรวดเร็ว
บทความนี้ อยากเชิญชวนให้พ่อแม่คลายกังวล ถ้าหากลูกในวัยอนุบาลยังไม่สามารถเขียนหรืออ่านได้อย่างคนอื่น หากลูกชอบและทำได้ดี ก็สามารถส่งเสริมได้ต่อไป ไม่ได้เป็นผลเสีย แต่หากบ้านไหนต้องคอยเปิดศึกสู้รบกับลูก เพื่อให้ฝึกเขียนฝึกอ่าน ตรงนี้อาจต้องพิจารณาว่าได้คุ้มกับเสียหรือไม่ เพราะลูกอาจรู้สึกต่อต้าน ท้อแท้ หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ ทั้งที่จริงเป็นเพียงเพราะยังไม่ถึงวัยที่เหมาะสม
เรื่องการเขียนการอ่าน รอถึงประถม ก็ไม่สายเกินไป
อ้างอิง