The Prachakorn

สมดุลชีวิต: ความสุขของแม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูก


สุภรต์ จรัสสิทธิ์

29 สิงหาคม 2566
810



การสร้างสมดุลชีวิตเพื่อรักษาดุลยภาพในมิติชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้ดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย โดยเฉพาะบทบาทของแม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูก ที่ต้องให้ความสำคัญทั้งบทบาทการทำงานและบทบาทความเป็นแม่ ในสังคมปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจและสังคมกดดันให้หลายครอบครัวต้องทำงานหนัก ถ้าไม่สามารถกำหนดเวลาให้กับงาน ครอบครัว สังคม และชีวิตส่วนตัวได้ อาจนำไปสู่ภาวะความเครียดและผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจระยะยาวได้

การสำรวจคุณภาพชีวิต ความสุข ความผูกพันในองค์กรของคนทำงาน ประจำปี 2564 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้เครื่องมือ HAPPINOMETER เก็บข้อมูลใน 9 หัวข้อหลักได้แก่ 1) สุขภาพกายดี 2) ผ่อนคลายดี 3) น้ำใจดี 4) จิตวิญญาณดี 5) ครอบครัวดี 6) สังคมดี 7) ใฝ่รู้ดี 8) สุขภาพเงินดี และ 9) การงานดี ดำเนินการสำรวจคนทำงานในองค์กรจำนวนกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ พบว่า ค่าคะแนนความสุขรวมจากการสำรวจระดับประเทศอยู่ที่ 61.3 คะแนน โดยในกลุ่มแม่ที่ทำงานไปเลี้ยงลูกไปจำนวน 3,319 คน มีระดับความสุขอยู่ที่ 64.5 คะแนน ซึ่งสูงกว่าภาพรวม นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นความสามารถในการจัดการสมดุลทั้งชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวในอีก 8 มิติ ของคุณแม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้มีเวลากับครอบครัวน้อยแต่ความสุขภายในครอบครัวไม่ลดลง

เครื่องมือ HAPPINOMETER ได้สำรวจความสุขในมิติครอบครัวดี ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด คือ 1) การมีเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างเพียงพอ 2) การทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัว และ 3) ระดับความสุขในครอบครัว เริ่มจากตัวชี้วัดแรกบทบาทความเป็นแม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกและยังสามารถจัดการเวลาให้อยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างเพียงพอในระดับมากถึงมากที่สุดมีถึงร้อยละ 62 ในตัวชี้วัดที่สองยังมีแม่ที่ทำงานและเลี้ยงลูกมากกว่าครึ่งที่มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในระดับมากถึงมากที่สุด แม้ว่าแม่จะต้องทำงานและเลี้ยงลูกแต่ก็มีความสุขกับครอบครัวในระดับมากถึงมากที่สุดถึงร้อยละ 86 (ดูแผนภูมิ)

การกระจายร้อยละของแม่ที่ทำงานและเลี้ยงลูก จำแนกตามตัวชี้วัด

อย่างไรก็ตาม เกือบ 1 ใน 10 ของแม่ที่ทำงานและเลี้ยงลูกมีเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวไม่เพียงพอ โดยในกลุ่มนี้เกือบร้อยละ 66 อุทิศชีวิตให้การทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นเมื่อมีเวลาไม่เพียงพอกับครอบครัวจึงมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกันเช่น กินข้าวร่วมกัน ออกกำลังกายร่วมกัน ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุดถึงร้อยละ 63 ส่วนระดับความสุขในครอบครัวจะเป็นอย่างไรกับแม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกโดยมีเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวน้อย จากผลการสำรวจพบว่ามีเพียงร้อยละ 57 มีความสุขกับครอบครัวในระดับมากถึงมากที่สุด

ในปัจจุบันจะเห็นหลายครอบครัวที่แม่ต้องทำงานนอกบ้านไม่ได้มีบทบาทเลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว ความเครียดย่อมเกิดขึ้นได้ จากผลการสำรวจยังสะท้อนแม่ที่ทำงานและเลี้ยงลูกมีความเครียดอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดที่ร้อยละ 12 โดยเฉพาะในกลุ่มแม่ที่มีเวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวไม่เพียงพอมีภาวะเครียดในระดับมากถึงมากที่สุดถึงร้อยละ 35 และยังมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอถึงร้อยละ 46 ซึ่งการจัดสมดุลชีวิตให้เหมาะสมตามสถานการณ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในแต่ละช่วงเวลาลำดับความสำคัญของงานและครอบครัวอาจสลับลำดับกันได้ แม้ว่าแม่ที่ทำงานและเลี้ยงลูกจะมีเวลาอยู่กับครอบครัวไม่เพียงพอแต่ยังรักษาระดับความสุขภายในครอบครัวไว้ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องการสร้างสมดุลชีวิตไม่ใช่สิ่งสำคัญเพราะหากสามารถจัดการเวลาให้กับงาน ครอบครัว สังคม และชีวิตส่วนตัวได้ ความสุขก็เกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

รูป: ผู้หญิงกำลังทำงาน
ที่มา: th.pngtree.com/ สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2566

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th