ในปี 2559 ประเทศไทยและประเทศสมาชิก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นพ้องกันว่าเรื่องของการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายมีความจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีมติเห็นชอบร่วมกันเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Resolution SEA/RC69/R4 Promoting Physical Activity in South-East Asia Region) จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ของประเทศไทย โดยมีเจ้าภาพหลัก คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นตามมาด้วยแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2563 และแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2564-2565 แผนฯ ดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายและทิศทางของการดำเนินงานด้านกิจกรรมทางกายมาตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
สำหรับแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรก ที่ให้ความสำคัญกับการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทย แผนฯ นี้ได้รับการพัฒนาผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่หลากหลาย เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในมิติของการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอและเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กสู่ทุกช่วงวัยนั้น สามารถสร้างความแข็งแรงของหัวใจ พัฒนาสมอง กล้ามเนื้อและกระดูก การคิดวิเคราะห์ และพัฒนาภาวะทางอารมณ์
เกี่ยวกับการดำเนินตามแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สามารถสรุปการดำเนินการที่สำคัญตามกรอบแนวคิดของแผนฯ คือ กลุ่มวัย สถานที่ และระบบสนับสนุนได้ 5 ประเด็น ดังนี้
1) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กปฐมวัย วัยเรียน และวัยรุ่นในสถานศึกษา
2) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับวัยทำงานในสถานประกอบการ
3) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัยในชุมชน กีฬามวลชน การคมนาคมและการผังเมือง
4) การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในระบบบริการสาธารณสุข
5) การพัฒนาระบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
รูป โมเดล 5x5x5 แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-73
ที่มา: แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-73
ทั้งนี้ในการดำเนินงานของแผนฯ ถูกออกแบบและกำหนดวิสัยทัศน์ให้มีความครอบคลุมกับประชากรทุกกลุ่มวัยในทุกบริบทพื้นที่ ภายใต้โมเดลที่เรียกว่า 5x5x5 (5 กลุ่มวัย X 5 สภาพแวดล้อม x 5 ระบบสนับสนุน) ซึ่งเป็นโมเดลที่เข้ามายกระดับพฤติกรรมด้านการมีกิจกรรมทางกายของคนไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดีในอนาคต
สำหรับแผนฯ ดังกล่าวมีนโยบาย ออกมาเพื่อสนับสนุนแผนฯ คือ
ในปี 2565 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมอบหมายจากโครงการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของประเทศ ระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (Country Cooperation Strategy: CCS NCD) ให้ดำเนินการประเมินแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ผลการประเมินพบว่า แผนฯ มีจุดเด่นมากมาย คือ
การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable Diseases: NCDs) ได้ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในมิติของการปองกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ ในระยะเวลาที่เหลือของแผนอีกไม่ถึง 10 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกายของแผนฯ ควรให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางให้มากขึ้น เช่น ผู้พิการ หรือ ผู้สูงอายุ ควรเน้นและให้ความสำคัญกลุ่มเด็กและกลุ่มวัยเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้ละจากการติดหน้าจอมือถือและหันมามีกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น สำหรับมาตรการทางภาษีเป็นนโยบายที่น่าสนใจและสามารถดึงดูดประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมทางกายได้ แต่พบว่ายังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ควรทำให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ว่าจะได้รับการลดหย่อนภาษีในเรื่องใดบ้าง ควรบรรจุในแผนปฏิบัติการในระยะต่อไป
ท้ายนี้คำว่า “กิจกรรมทางกาย” สำหรับคนทั่วไปแล้วยังเข้าใจว่า คือ การออกกำลังกายอยู่ แต่การทำกิจกรรมทางกาย เช่น การเดินหรือการนับก้าวที่เพียงพอต่อวัน เช่น ผู้หญิงควรเดินวันละกี่ก้าว ผู้ชายวันละกี่ก้าว ที่เพียงพอจะทำให้สุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับการออกกำลังกายนั้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบให้มากขึ้น ในระยะเวลาที่เหลือของแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
ติดตามอ่านบทควาที่เกี่ยวข้องเรื่อง การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทย
เอกสารอ้างอิง