The Prachakorn

มารู้จัก 3 โรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุดย้อนหลัง 4 ปี ของประชากรไทย


ณัฐพร โตภะ

04 สิงหาคม 2566
717



โรคทางจิตเวชควรได้รับการรักษา และการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งหากไม่เข้ารับการรักษา หรือขาดการรักษาอาจทำให้มีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญ คือ ญาติหรือคนรอบข้างต้องเข้าใจอาการของโรค ไม่โทษว่าผู้ป่วยคิดไปเองหรือกล่าวว่าผู้ป่วย เพราะอาจทำให้นำไปสู่อาการทางจิตเวชที่รุนแรงขึ้น

 
*ข้อมูลจากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข1

ข้อมูลจากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขย้อนหลัง 4 ปี จะเห็นว่าโรคทางจิตเวช 3 อันดับแรก ประกอบด้วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเภท ซ้ำๆ ในทุกปี จากกราฟแสดงให้เห็นว่าโดยแต่ละโรคมีจำนวนผู้ป่วยอยู่ในหลักแสนของทุกปี และจะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2563 และสูงจนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2564 และ 2565 ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยทั้งด้านสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้จึงจะพาไปรู้จักความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 โรค

  1. โรคซึมเศร้า2 คือ โรคที่เป็นความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองที่เป็นส่วนของการแสดงออกทางด้านอารมณ์ โดยลักษณะสำคัญ คือ 1) มีอารมณ์เศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน 2) ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลง 3) เบื่ออาหารหรืออยากอาหารเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้น 4) นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป 5) ทำอะไรช้าลง หรือกระสับกระส่ายไม่สามารถอยู่นิ่งได้ 6) อ่อนเพลียไม่มีแรง 7) สมาธิไม่ดี 8) รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า 9) คิดอยากตายไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยโรคซึมเศร้าจะต้องมีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 5 อาการ เป็นเวลานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป และในจำนวน 5 อาการนี้ต้องมีอาการ 1) อารมณ์เศร้า หรือ 2) ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่างๆ ลดลงด้วยอย่างน้อย 1 อาการ ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคมีอยู่หลายปัจจัย เช่น ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท ระดับฮอร์โมน พันธุกรรม ปัญหาทางจิตใจ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ความคิดในด้านลบ หรือโรคทางกายเรื้อรัง รวมถึงการใช้สารเสพติด

    ที่มา https://www.prachachat.net/rama-health/news-379516

  2. โรควิตกกังวล3 เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความกังวล ความหงุดหงิด และความตึงเครียด มีสาเหตุเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ปัจจัยพันธุกรรม หรือพื้นฐานดั้งเดิม ถ้าพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวล ลูกก็มีโอกาสเป็นเช่นกัน หรือมีพื้นฐานที่ไม่กล้าแสดงอารมณ์ออกมาและการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล และ 2) ปัจจัยสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด การประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล โดย 6 โรควิตกกังวลที่มักพบได้บ่อย คือ

         1) โรควิตกกังวลทั่วไป - เกิดความวิตกกังวลที่มากกว่าปกติในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้ป่วยยังสามารถระงับความรู้สึกได้ด้วยตัวเอง แต่หากผู้ป่วยยังรู้สึกวิตกแบบเดิมนานเกินกว่า 6 เดือน อาจทำให้เกิดความอ่อนเพลีย กระวนกระวาย ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด และนอนไม่หลับ ควรเข้าไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป
         2) โรคแพนิค - เกิดความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ตื่นตระหนก กลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือตาย มีอาการเจ็บป่วยนิดหน่อยก็กลับมีความกังวล เช่น กลัวว่าจะเป็นโรคร้าย ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ป่วยทางกายแต่ป่วยทางจิต อาการโรควิตกกังวลเกินเหตุ อาจเกิดเป็นพักๆ ทำให้เหงื่อออก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก วูบเหมือนจะเป็นลม อาการแบบนี้อาจทำให้เสียสุขภาพจิตและอาจนำไปสู่ภาวะอื่นๆ ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า ติดสารเสพติด เป็นต้น
         3) โรคกลัวสังคม - เกิดความวิตกกังวลที่จะต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าต้องถูกจ้องมอง ทำอะไรที่น่าอาย ต้องคอยหลบ รู้สึกประหม่า และมักคิดในแง่ลบว่าคนอื่นจะนินทาลับหลัง โรคนี้มักแอบแฝงอยู่ในตัวบุคคลที่ดูเป็นปกติสุขดี มองดูภายนอกร่างกายก็สมบูรณ์แข็งแรงดี และไม่มีทีท่าว่าจะป่วยแต่อย่างใด สาเหตุของอาการนี้อาจเกิดจากการเลี้ยงดู ขาดทักษะการเข้าสังคม หรือเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม
         4) โรคกลัวแบบเฉพาะ - เกิดความวิตกกังวลที่มากเกินไปในเรื่องบางเรื่อง บางสิ่งบางอย่างแบบเจาะจง เช่น กลัวเลือด กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวสุนัข เป็นต้น ผู้ป่วยมักเกิดปฏิกิริยาทางกายขึ้นมาหากอยู่ในสถานการณ์จำเพาะเจาะจง เช่น ใจสั่น หน้ามืด มือ-เท้าเย็น อาจทำให้ใจสั่น หายใจลำบาก เหงื่อออก
         5) โรคย้ำคิดย้ำทำ - เกิดความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์แบบซ้ำๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ ซึ่งอาการย้ำคิดย้ำทำแบบนี้กลับพบบ่อยในคนวัยทำงาน เช่น คิดว่าลืมล็อคประตูบ้านต้องเดินกลับไปดูว่าล็อคหรือยัง คิดว่าลืมปิดก็อกน้ำต้องกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง เป็นต้น
         6) โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ - อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากประสบกับเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก เช่น เผชิญกับภาวะเฉียดตาย ภาวะภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ร้ายแรง ถูกทำร้ายหรือเห็นคนใกล้ตัวตาย เป็นต้น อาการเกิดขึ้นได้หลายอย่าง ตั้งแต่เงียบเฉย ขาดการตอบสนอง ตกใจง่าย หวาดกลัว
     

    ที่มา https://www.manarom.com/blog/treatments_for_schizophrenia.html

  3. โรคจิตเภท4 ความผิดปกติทางความคิดและการรับรู้ มีอารมณ์ไม่เหมาะสมหรือ เฉยเมย โดยระดับความรู้สึกตัวและสติปัญญามักยังปกติอยู่ การดำเนินโรคของโรคจิตเภท อาจเป็นแบบต่อเนื่อง หรือมีอาการเป็นพักๆ แล้วดำเนินต่อ หรือเป็นตลอดเวลา หรือเป็นครั้งสองครั้งแล้วหายสมบูรณ์หรือไม่ก็ได้ โดยมีการดำเนินโรคแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

         1) ระยะเฉียบพลัน (Acute) เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการทางจิตปรากฏชัดเจน รุนแรง อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วย ผู้อื่นและ/หรือทรัพย์สิน เป็นช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการทางจิตกำเริบ เช่น หลงผิด ประสาทหลอน ความคิด อารมณ์การรับรู้ และพฤติกรรมผิดปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
         2) ระยะคงเสถียร (Stabilization) เป็นระยะที่อาการของโรคลดความรุนแรงลงอยู่ในช่วง 6 เดือน หรือมากกว่า หลังจากการรักษาใน Acute phase ผู้ป่วยอาการสงบลงแต่ยังต้องได้รับยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการป่วยซ้ำ
         3) ระยะอาการคงที่ (Stable) หมายถึง ระยะที่อาการผู้ป่วยคงที่อาการด้านลบหรืออาการด้านบวกที่เหลืออยู่ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ความรุนแรงของอาการน้อยกว่าระยะ Stabilization    

อ้างอิง

  1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2566). รายงานผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวช. สืบค้นจาก https://dmh.go.th/report/datacenter/hdc/reds.asp
  2. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2556). ระบาดวิทยาปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข.
  3. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2563). 6 อาการวิตกกังวลที่พบได้บ่อยในวัยทำงาน. สืบค้นจาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30145
  4. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (25560). คู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท สำหรับโรงพยาบาลในเขตสุขภาพ (ฉบับพยาบาล/นักวิชาการสาธารณสุข). บริษัท วิคทอเรียอิมเมจ จำกัด.

 


 

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th