The Prachakorn

การจัดการของภาครัฐ เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย: ก้าวต่อไปสู่นโยบายยุติโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพ


วีรภาคย์ ซำศิริพงษ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

28 สิงหาคม 2566
549



แม้ว่าภาครัฐจะมีการดำเนินการต่างๆ เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทยแล้ว แต่ปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทยยังคงทวีความรุนแรงขึ้น ผลการคาดประมาณของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมได้ชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยจะอ้วนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ใน พ.ศ. 2573 หากประเทศไทยยังใช้กลไกทำงานแบบเดิม บทความฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากการจัดทำบทความ เรื่อง “การจัดการของภาครัฐ เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย” ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารโรคเบาหวาน ปีที่ 55 ฉบับที่ 2

บทความชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการภาครัฐตามข้อเสนอแนะคณะกรรมาธิการระดับสูงเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็ก (Commission on Ending Childhood Obesity: ECHO) ขององค์การสหประชาชาติ ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (2) การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (3) การดูแลก่อนและระหว่างคลอด (4) การส่งเสริมโภชนาการและกิจกรรมทางกายในระดับปฐมวัย (5) การส่งเสริมสุขภาพ อาหารและกิจกรรมทางกายในวัยเรียน และ (6) การจัดการน้ำหนักของเด็กที่เป็นโรคอ้วน ผลการประเมินการดำเนินการของประเทศไทยตามข้อเสนอแนะของ ECHO พบว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ ECHO ทั้ง 6 ด้าน โดยครอบคลุมมาตรการหลักสูงถึง 33 มาตรการ (จากทั้งหมด 36 มาตรการ) และครอบคลุมมาตรการย่อย 55 มาตรการ (จากทั้งหมด 67 มาตรการย่อย) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยดำเนินการสอดคล้องกับข้อเสนอแนะดังกล่าวแล้วในระดับหนึ่ง

แม้ว่าการดำเนินการของประเทศไทยจะสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ ECHO ในระดับหนึ่งแล้ว แต่การดำเนินการของประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ผลการประเมินสมรรถนะของนโยบาย (policy performance) เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย 5 ด้าน ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้แก่ (1) ความครอบคลุมของเนื้อหานโยบาย (policy comprehensiveness) (2) ความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย (policy coverage) (3) กลไกการติดตามและประเมินผล (monitoring and evaluation) (4) ความร่วมมือหลายภาคส่วน (multi-sectoral collaboration) และ (5) ความเป็นเอกภาพของนโยบาย (policy coherence) ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการของประเทศไทยมีสมรรถนะด้านกลไกการติดตามและประเมินผลและความเป็นเอกภาพของนโยบายต่ำ  ดังรูปที่ 1 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการมีกลไกการติดตามและประเมินผลและการสร้างความเป็นเอกภาพของนโยบาย เพื่อให้การลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รูปที่ 1 ผลการประเมินมาตรการที่ประเทศไทยดำเนินการ

ประเทศไทยควรกำหนดให้การลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการระดับสูงเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็ก เป็นประเด็นสำคัญในแผนแม่บทที่กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งสร้างความเป็นเอกภาพของนโยบายผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการประสานกำลัง (synergy) ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการติดตามและประเมินผลนโยบาย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนและการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยุติโรคอ้วนในเด็กจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 เป้าหมายโภชนาการระดับโลก พ.ศ. 2568 และเป้าหมายโรคไม่ติดต่อเรื้อรังระดับโลก พ.ศ. 2568


Suggested citation

สิรินทร์ยา พูลเกิด และ วีรภาคย์ ซำศิริพงษ์. (2566). การจัดการของภาครัฐ เพื่อลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย. วารสารโรคเบาหวาน. 55(2).

 


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th