The Prachakorn

สถานการณ์การฆ่าตัวตายในคนไทย


ณัฐพร โตภะ

29 สิงหาคม 2566
3,358



ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว จากสถิติย้อนหลังพบว่า จำนวนประชากรไทยที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ 4 ปีที่ผ่านมา จำนวนอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบถึงเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ พ.ศ. 2564-2565 ของกรมสุขภาพจิต

อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรไทย พ.ศ. 2540-25641

ที่มา: ยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ พ.ศ. 2564-2565 โดยกรมสุขภาพจิต

จากกราฟจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 มีแนวโน้มของอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบถึงเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ พ.ศ. 2564-2565 ของกรมสุขภาพจิต โดยได้ตั้งเป้าประสงค์ไว้ที่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่เกิน 8 คนต่อแสนประชากร โดยสาเหตุเกิดจากปัจจัยที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามห้วงของเวลา จากการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลและสังเกตการฆ่าตัวตายในไทยของศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์2 พบว่า การฆ่าตัวตายในบุคคลแต่ละครั้ง จะเกิดขึ้นเมื่อมีครบ 5 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ 1) บุคคลนั้นต้องมีปัจจัยเสี่ยง (risk factors) ที่โน้มนำให้ฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไป 2) มีสิ่งกระตุ้น (trigger) หรือ ปัจจัยกระตุ้น (precipitating factors) ให้คิดและกระทำฆ่าตัวตาย 3) เข้าถึงวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ที่ใช้ฆ่าตัวตายได้ ง่าย หรือด่านกั้นล้มเหลว 4) การเฝ้าระวังป้องกันล้มเหลว และ 5) บุคคลนั้นมีปัจจัยปกป้อง (protective factors) ที่อ่อนแอ

ที่มาของภาพ: https://www.istockphoto.com/th สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2566

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2566 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต3 กล่าวว่า ในพ.ศ. 2565 การฆ่าตัวตายมีอัตราสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากสถิติใบมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงานกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 7.97 ต่อ 1 แสนประชากร เพิ่มขึ้นชัดเจนจาก พ.ศ. 2564 ซึ่งอยู่ที่ 7.38 ต่อ 1 แสนประชากร

จากการศึกษาของโครงการป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย4 พบว่า ผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย จะมีโอกาสทำซ้ำและทำสำเร็จได้ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะ 1 ปี หลังการทำร้ายตนเองครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเองจะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายและผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย ร้อยละ 97.53 จะถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับบริการบำบัดรักษา คนที่ฆ่าตัวตายซ้ำมักมีความสัมพันธ์กับการเคยมีประวัติถูกทารุณทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกายรุนแรง และถูกทอดทิ้ง ขาดคนดูแล และในคนที่ฆ่าตัวตายซ้ำจะมีประวัติของการทำร้ายตนเองมากกว่า 10-40 ครั้งจนกว่าจะสำเร็จและ ร้อยละ 40 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

ที่มาของภาพ: https://today.line.me/th/v2/article/M5lRya?imageSlideIndex=0 สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2566


อ้างอิง

  1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. ยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติปี พ.ศ.2564-2565. https://dmh.go.th/report/datacenter/hdc/reds.asp สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2566
  2. ศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. (2565). ปัญหาการฆ่าตัวตายในคนไทย ปี 2565. https://suicide.dmh.go.th/news/files/สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาการฆ่าตัวตายv2.1.pdf สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2566
  3. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31900 สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2566
  4. โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์. (2563). โครงการป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย.

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th