The Prachakorn

การพบเห็นข้อมูลสุขภาพและการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อมีผลต่อการบริโภคผักและผลไม้ของเด็กไทยหรือไม่?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

04 กันยายน 2566
436



จุดประสงค์ของบทความนี้ คือ เพื่อศึกษาว่าการพบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพและการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ (Media Health Literacy: MHL) ส่งผลต่อการบริโภคผักและผลไม้ของเด็กไทยอายุ 10-14 ปี หรือไม่ อย่างไร

การรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ หรือ MHLหมายถึง ความสามารถของแต่ละคนในการรับรู้และเข้าใจเนื้อหาสุขภาพ รวมถึงการวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของเนื้อหาที่เกี่ยวกับสุขภาพอย่างมีวิจารณญาณ และการแสดงความตั้งใจที่จะกระทำเมื่อได้รับเนื้อหาสุขภาพผ่านทางสื่อ1

ที่มาของภาพ: https://mypositiveparenting.org/2022/03/31/how-to-get-your-kids-to-eat-vegetables-and-fruits/

เด็กไทยบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอและลดน้อยลง แต่กลับบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูงมากยิ่งขึ้น โดยใน พ.ศ.2560 เด็กไทยอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 25 บริโภคผักทุกวัน และร้อยละ 16.2 บริโภคผลไม้ทุกวัน2 การบริโภคผักและผลไม้ของเด็กกลุ่มอายุนี้ต่อวันอยู่ที่ 201 กรัม ซึ่งต่ำกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการบริโภคผักและผลไม้ของเด็กที่ต้องเท่ากับ 320 กรัมต่อวัน3 ประเทศไทยมีการดำเนินมาตราการต่าง ๆ ในการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ของเด็กไทยมาอย่างยาวนาน เช่น การส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพตั้งแต่ พ.ศ.25524 โครงการอาหารกลางวันเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 24955 อย่างไรก็ตาม ใน 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการบริโภคผักและผลไม้ในแต่ละวันของเด็กไทยอายุ 6-14 ปี ลดลงจากร้อยละ 41 ในพ.ศ.2556 เหลือร้อยละ 23 ในพ.ศ.25606,7 ในทางตรงกันข้าม เด็กไทยกลุ่มนี้กลับบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง เพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 41 ในพ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 71 ในพ.ศ.2560 การบริโภคเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 90 เป็นร้อยละ 93 การบริโภคอาหารว่างที่มีไขมันสูงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 89 เป็นร้อยละ 93 และการบริโภคอาหารจานด่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 46 ในช่วงเวลาเดียวกัน6,7

การบริโภคผักและผลไม้ของเด็กอาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น เพศ อายุ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวเด็ก ทัศนคติของเด็กที่มีต่อการบริโภคผักและผลไม้ การมีผักและผลไม้ที่บ้าน และผู้ปกครองของเด็ก3,8,9 นอกจากนี้ การพบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพและการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อมีความสำคัญต่อการบริโภคผักและผลไม้และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี10,11 ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงทดสอบความสัมพันธ์ของการพบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพ การรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ และการบริโภคผักและผลไม้ของเด็กไทยอายุ 10-14 ปี โดยใช้ข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ภูมิทัศน์สื่อ พฤติกรรมการบริโภคสื่อ และการรู้เท่าทันสื่อทางสุขภาพสำหรับเด็กไทยอายุ 10-14 ปี จำนวน 1,871 คน ซึ่งมีแผนการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิสองขั้นตอน และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยโปรแกรมการสำรวจ Qualtrics Survey (แบบ Offline) ร่วมกับการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว และใช้การวิเคราะห์ถดถอยเชิงซ้อน เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 70 ของเด็กไทยอายุ 10-14 ปี เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต และเด็กไทยกลุ่มนี้มีการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อโดยฉพาะทักษะในการวิเคราะห์เนื้อหาที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่ในระดับต่ำ เด็กไทยกลุ่มนี้บริโภคผักเฉลี่ย 4 วันต่อสัปดาห์ และบริโภคผลไม้เฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์ ผลการทดสอบความสัมพันธ์ของการพบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพ การรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ และการบริโภคผักและผลไม้ของเด็กไทย พบว่า การพบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพผ่านสื่อต่างๆ ความถี่ของการพบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพ และการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ สัมพันธ์กับความถี่ในการบริโภคผักและผลไม้ กล่าวคือ เด็กที่พบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพจากหลากหลายช่องทางหรือหลากหลายสื่อและมีความถี่ของการพบเห็นข้อมูลสุขภาพมาก มีแนวโน้มบริโภคผักและผลไม้มากกว่าเด็กที่พบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพจากช่องทางหรือสื่อที่น้อยกว่าและมีความถี่ของการพบเห็นข้อมูลสุขภาพน้อย ในขณะเดียวกัน เด็กที่มีการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อในระดับสูง ก็มีการบริโภคผักและผลไม้มากกว่าเด็กที่มีการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อในระดับต่ำ

นอกจากนี้ ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการบริโภคผักและผลไม้ ยังประกอบด้วย อายุ ถิ่นที่อยู่อาศัย (เช่น ในเมืองหรือชนบท) เงินค่าขนม เกรดเฉลี่ยสะสม (Grad point average: GPA) สถานะทางสุขภาพ (คือ การมีโรคประจำตัวหรือไม่มีโรคประจำตัว) และดัชนีมวลกาย กล่าวคือ เด็กที่อายุมาก อาศัยอยู่ในชนบท มีเงินค่าขนมน้อย มีเกรดเฉลี่ยสะสมสูง มีโรคประจำตัว และดัชนีมวลกายสูง มีการบริโภคผักและผลไม้มากกว่าเด็กที่มีอายุน้อย อาศัยอยู่ในเมือง มีเงินค่าขนมมาก มีเกรดเฉลี่ยสะสมต่ำ ไม่มีโรคประจำตัว และดัชนีมวลกายต่ำ

ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นปัจจัยสำคัญในการบริโภคผักและผลไม้ ได้แก่ การพบเห็นข้อมูลด้านสุขภาพ และการรู้เนื้อหาสุขภาพผ่านสื่อ รวมถึง อายุ ถิ่นที่อยู่อาศัย เงินค่าขนม เกรดเฉลี่ยสะสม สถานะทางสุขภาพ และดัชนีมวลกาย ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพและด้านสื่อในการพัฒนานโยบายและการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ในกลุ่มเด็กไทยให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป


Suggested citation

Jindarattanaporn, N., Rittirong, J., Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Thongcharoenchupong, N. (2023). Are exposure to health information and media health literacy associated with fruit and vegetable consumption? BMC Public Health. 23, 1554. https://doi.org/10.1186/s12889-023-16474-1

เอกสารอ้างอิง

  1. Jindarattanaporn. N, Phulkerd. S, Thapsuwan. S, Thongchareonchupong. N. Analysis Media Landscape, Media Consumption and Media Heath Literacy (MHL) for Thai Children Aged 10-14 Years. . Nakorn Pratom: Institue for Population and Social research, 2020.
  2. National Statistical Office, Ministry of Digital Economy and Society. The 2017 food consumption behaviour survey. Bangkok: National Statistical Office; 2017.
  3. Hong SA, Piaseu N. Prevalence and determinants of sufficient fruit and vegetable consumption among primary school children in Nakhon Pathom, Thailand. Nutr Res Pract 2017; 11(2): 130-8.
  4. Health Education Division, Department of Health Service Support, Ministry of Public Health. Health Literacy Scale for Thai Childhood Overweight and Obesity. Nonthaburi: Health Education Division; 2016.
  5. Eri Kai, Sathirakorn Pongpanich, Sangsom Sinawat. A Comparison Study of the School Lunch Program in the Public Primary Schools Belong to Bangkok Metropolitan Administration (BMA) and Thai Ministry of Education (MOE). 2008; 22(3): 147-50.
  6. National Statistical Office. The 2017 food consumption behavior survey. Bangkok: National Statistical Office; 2017.
  7. National Statistical Office, Ministry of Digital Economy and Society. The 2013 Food Consumption Behavior Survey. Bangkok: National Statistical Office; 2014.
  8. Jones LR, Steer CD, Rogers IS, Emmett PM. Influences on child fruit and vegetable intake: sociodemographic, parental and child factors in a longitudinal cohort study. Public Health Nutr 2010; 13(7): 1122-30.
  9. Rasmussen M, Krølner R, Klepp KI, et al. Determinants of fruit and vegetable consumption among children and adolescents: a review of the literature. Part I: Quantitative studies. Int J Behav Nutr Phys Act 2006; 3: 22.
  10. Osborne CL, Forestell CA. Increasing children's consumption of fruit and vegetables: does the type of exposure matter? Physiol Behav 2012; 106(3): 362-8.
  11. Levin-Zamir D, Lemish D, Gofin R. Media Health Literacy (MHL): development and measurement of the concept among adolescents. Health Education Research 2011; 26(2): 323-35.

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th