“เมืองอะไร ชื่อไม่คุ้น และทำไมจะไปดูแสงเหนือที่รัสเซีย” เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยครั้งมาก ซึ่งการหาคำตอบก็ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก เพียงกางแผนที่มองหาประเทศที่อยู่ทางตอนเหนือของวงกลมอาร์กติก ( Arctic Circle) ที่สามารถมองเห็นแสงเหนือได้ แล้วสายตาก็ไปสะดุดที่ชื่อเมืองมูร์มันสค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศรัสเซีย อยู่ไม่ห่างไกลจากประเทศนอร์เวย์และฟินแลนด์ ด้วยระยะท่างเพียง 100 กว่ากิโลเมตร เมื่อลองค้นข้อมูลดูก็เห็นว่าที่นี่สามารถล่าแสงเหนือได้เหมือนกัน ด้วยสภาพภูมิอากาศของเมือง Murmansk ที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี แม้กระทั่งเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีอากาศอุ่นที่สุดก็ยังมีอุณหภูมิเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 20 องศาเซลเซียส ในพื้นที่เขตเมืองของ Murmansk มีประชากรอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 3 แสนคน นับว่าเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ทางตอนเหนือของวงกลมอาร์ติกของประเทศรัสเซีย
จากประสบการณ์ที่ได้ล่าแสงเหนือหรือออโรร่า (Aurora) ในครั้งนี้ ทำให้เข้าใจว่าทำไมต้องใช้คำว่า “ล่าแสงเหนือ” เพราะแสงเหนือไม่ได้ออกมาโลดแล่นให้เห็นได้ง่าย ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและท้องฟ้าที่เป็นใจ ซึ่งปกติแล้วสภาพอากาศแถบขั้วโลกเหนือก็มักจะเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาไม่ได้เลย ผู้เขียนเดินทางมายังเมืองนี้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถเห็นแสงเหนือได้ไม่ยาก แต่ก็แลกกับการมีช่วงเวลากลางวันที่สั้นมาก เวลา 10 โมงเช้า ท้องฟ้ายังคงมืดเหมือนเช่นเวลาค่ำ กว่าจะได้เห็นแสงสว่างก็เป็นช่วงเวลาเกือบเที่ยงทีเดียว การตามล่าแสงเหนือครั้งนี้ ผู้เขียนต้องนั่งรถวนไปมาตลอด 2 คืน ต้องอดทนกับความหนาวสุดขั้ว ทุกครั้งที่ก้าวเท้าลงจากรถและไปลุ้นว่าครั้งนี้เราจะได้เจอแสงเหนือหรือไม่นะ และในที่สุดแสงเหนือก็ปรากฏให้เราเห็น แม้ว่าจะเห็นได้เลือนลางมากด้วยตาเปล่า แต่ก็เป็นความรู้สึกตื่นเต้นจนสามารถอดทนยืนท่ามกลางความหนาวได้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี ปรากฏว่ารูปถ่ายที่ได้จากกล้องถ่ายรูปกลับได้เห็นสีสันของแสงเหนือได้ชัดเจนกว่าตาเปล่า ซึ่งก็เพราะเทคนิคในการถ่ายภาพกลางคืนที่ช่วยให้เห็นภาพแสงเหนือสีเขียวโลดแล่นบนท้องฟ้าเก็บเป็นที่ระลึกของคณะเดินทางในทริปนี้
รูป: ล่าแสงเหนือที่เมือง Murmansk ในคืนที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส
ทริปการเดินทางนี้เพิ่มความน่าสนใจนอกจากจะมาล่าแสงเหนือแล้ว ยังวางแผนที่จะมาให้ถึงสุดขอบประเทศรัสเซีย ตามที่มองเห็นในแผนที่ว่ามีหมู่บ้านเทอริเบอร์ก้า (Teriberka) ตั้งอยู่ ที่แห่งนี้เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญมาก มีประชากรอาศัยอยู่ไม่ถึง 1,000 คน หมู่บ้านนี้อยู่ติดกับทางออกมหาสมุทรอาร์กติก ดินแดนที่ถูกกล่าวว่าเป็น The land at the edge of the world การเดินทางไปให้ถึงจุดที่เรียกว่าสิ้นสุดแผ่นดินรัสเซียก็ต้องนั่งรถลากฝ่าความหนาวไป โดยเป็นรถลากด้วยเครื่องยนต์ทำความเร็วได้ดี พอๆ กับที่จะทำให้เกิดเป็นแรงลมมาปะทะร่างกายและใบหน้าให้รู้สึกถึงความชาและเย็นที่ใบหน้า แม้ว่าจะใส่อุปกรณ์ปกปิดทั่วร่างกายก็ยังสัมผัสได้ เมื่อถึงที่หมายสุดแผ่นดินรัสเซีย มองไปข้างหน้าสุดลูกหูลูกตา จินตนาการไปอีก 2,000 กว่ากิโลเมตร ตรงนั้นก็คือขั้วโลกเหนือนั่นเอง
หมายเหตุ: ผู้เขียนเดินทางช่วงก่อนรัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565