The Prachakorn

สถานการณ์พลเมืองโลกพลัดถิ่น


อมรา สุนทรธาดา

03 ตุลาคม 2566
319



สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ความสำคัญการจัดทำข้อมูลประชากรคนไร้รัฐ เพื่อกำหนดนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำรวจข้อมูลประชากรไร้รัฐทั่วโลกเช่น จำนวนประชากรไร้รัฐ แยกตามประเทศที่อยู่อาศัย อายุ เพศ  เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการกำหนดแผนงานและความช่วยเหลือที่เหมาะสม คุ้มครองผู้ลี้ภัย ชุมชนที่ถูกบังคับย้ายถิ่น และบุคคลไร้รัฐ รวมถึงการประสานงานเพื่อการส่งกลับประเทศต้นทางตามความสมัครใจ

ปี 2023 จำนวนผู้ไร้รัฐ 32,400 คน ที่อาศัยเป็นการชั่วคราวในประเทศปลายทาง รวม 32 ประเทศ เช่น ประเทศอุซเบกิสถาน มี 9,400 คน สวีเดน 6,100 คน และประเทศไทย มี 6,200 คน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ไร้รัฐในปี 2014 มี 517,500 คนรวมทั้งผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกสัญชาติ เป็นผลจากการเจรจาหาข้อตกลงกับประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้

มี 13 ประเทศเข้าร่วมประชุม เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ในการประชุมปี 2022 ประเทศไลบีเรีย ปรับแก้กฎหมายและระเบียบปฏิบัติให้ความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย ผู้หญิงมีสิทธิเสมอภาคในการเลือกสัญชาติให้บุตรเช่นเดียวกับผู้ชาย ประธานาธิบดีประเทศเคนยา ประกาศให้สถานะสัญชาติชนกลุ่มน้อยPemba ทั้งหมด 7,000 คน เมื่อปี 2022 อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านการเลือกปฏิบัติ มีประเทศสมาชิกอีก 24 ประเทศ ไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว

รูป 1: ความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์และปัญหาการเมืองเป็นสาเหตุให้ประชาชนพลัดถิ่น
ที่มา:  https://www.unhcr.org/global-trends-report-2022 สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2566

ผู้ที่ยอมเสี่ยงภัยเพื่อลักลอบเข้าทวีปยุโรปผ่านช่องทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนส่วนใหญ่เป็นชายอายุระหว่าง 18-40 ปี จาก เอริเทีย โซมาเลีย ไนจีเรีย แกมเบีย ไอวอรีโคสต์ กินี มาลี เซเนกัล และกานา เส้นทางดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดี ว่ามีผู้ค้ามนุษย์เป็นนายหน้าประสานงานให้การเดินทางเป็นไปได้ที่สุด ถ้าใครต้องการไปเสี่ยงภัยเพื่อโอกาสที่ดีกว่าในประเทศมาตุภูมิ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่มีคำรับรองว่าจะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็ตาม แรงผลักดันจากประเทศบ้านเกิด เช่น การถูกเกณฑ์เป็นทหารเมื่ออายุน้อยในประเทศเอริเทรีย ผู้ย้ายถิ่นจากโซมาเลียต้องเสี่ยงภัยเพราะความยากจนและภัยแล้ง หรือการถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกองทัพปลดแอกที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลกลางในประเทศซูดาน ไม่มีงานทำในถิ่นเกิดเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ภัยแล้ง ไม่มีการจ้างงาน เป็นต้นเมื่อมีทางเลือกที่จำกัด ทางเดียวที่เหลืออยู่คือการออกนอกประเทศเพื่อหารายได้หรือโอกาสในชีวิตที่ไม่มีในประเทศมาตุภูมิ เส้นทางที่ใช้มากที่สุดคือผ่านประเทศลิเบีย ตอนเหนือของทวีป จุดหมายปลายทางฝั่งยุโรปคือ สเปน อิตาลี

จะมีนักค้ามนุษย์ช่วยเตรียมการ แม้ว่ารัฐบาลลิเบียจะมีมาตรการเข้มงวดต่อผู้แสวงโชค เช่น ขังคุกแบบไม่มีกำหนดเพราะถือว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลับกลายเป็นการยื่นประโยชน์ให้กลุ่มค้ามนุษย์มากขึ้น เพราะผู้ที่ต้องการไปแสวงโชคจำเป็นต้องจ่ายแพงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นกลับเป็นการเพิ่มความไม่ปลอดภัยมากขึ้นเพราะกลุ่มค้ามนุษย์ต้องดำเนินการแบบหลบซ่อนมากขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้หญิงและเด็ก ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กถูกแยกจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

รูป 2: ผู้ย้ายถิ่นจากทวีปแอฟริกาผ่านเส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพเรือกู้ภัย ประเทศอิตาลี
ที่มา: https://www.un.org/africarenewal/magazine/special-edition-youth-2017/migration-taking-rickety-boats-europe สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2566

แม้จะแลกด้วยชีวิต จำนวนผู้ย้ายถิ่นผ่านลิเบียยังเหมือนเดิมในปี 2015 มีผู้เดินทาง 171,000 คน เข้าถึงฝั่งประเทศอิตาลี ซึ่งมากกว่าในปี 2014 ที่มีจำนวน 170,100 คน เมื่อจำนวนผู้เสี่ยงโชคมีเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงจำนวนผู้เคราะห์ร้ายที่เดินทางไม่ถึงปลายทางจากรายงาน Missing Migrants โดย (IOM) พบว่าในปี 2016มีผู้เสียชีวิตขณะล่องเรือกลางทะเล 5,085 คน เปรียบเทียบกับปี 2015 มี 3,777 คน และ ปี 2014 มี 3,279 คน

การให้สัญชาติบุคคลไร้รัฐ/พลัดถิ่น ยังคงมีข้อจำกัดและขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศปลายทางเชิงกฎหมายและความมั่นคง แม้สิทธิการขอรับสัญชาติยังถูกจำกัด แต่สิ่งที่มนุษย์พึงมีต่อกันคือ ความเมตตา


เอกสารอ้างอิง

  • IOM (2019). International and Migration Law. Glossary on Migration. Available at: https://publications.iom.int/books/abridged-annual-report-2022  
  • Fargues, F. and M. Rango (eds.), (2020). Migration in West and North Africa     and across the Mediterranean. International Organization for Migration (IOM), Geneva.
  • UNHCR (2023). Global Trend Forced Displacement in 2022. Available at:  https://www.unhcr.org/global-trends-report-2022

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th