The Prachakorn

(โรค) ดิจิทัล รักษาได้ด้วยกิจกรรมทางกาย


กัญญา อภิพรชัยสกุล

11 ตุลาคม 2566
681



คำว่า “โลกอยู่ในมือเรา” ไม่ผิดเลยในยุคดิจิทัล ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้คนเราสามารถย่อโลกทั้งใบลงในโทรศัพท์มือถือ หรือ “สมาร์ทโฟน” ได้เลยทีเดียว การใช้ชีวิตง่ายเพียงปลายนิ้วกับวิถีชีวิต 3 Smart1 ได้แก่ 1) สมาร์ทซิตี้ (Smart City) การสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อทำให้คุณภาพของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น 2) สมาร์ทไลฟ์ (Smart Life) การใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เพื่อทำให้การดำเนินชีวิตง่ายและสะดวกสบาย และ 3) สมาร์ทโฮม (Smart Home) เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เช่น ทีวี เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น การใช้ชีวิตแบบสมาร์ทๆ ง่ายเพียงปลายนิ้ว อาจทำให้คนเราหลงลืมการขยับเขยื้อนร่างกายไป เกิด (โรค) ดิจิทัล หรือการใช้ชีวิตแบบติดดิจิทัล  ซึ่งอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และนำมาซึ่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ สำหรับการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทสะดวกสบายเพลิดเพลินกับการกดสั่งได้ดั่งใจจากโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น การสั่งอาหาร การสั่งให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงาน หรือแม้แต่การกดสั่งให้อุปกรณ์ทำงานบ้านให้โดยอัตโนมัติ เช่น หุงข้าว รดน้ำต้นไม้ก็สามารถทำได้ แต่เราก็ต้องไม่ประมาทจนหลงลืมไปว่าหากเราใช้ชีวิตแบบสมาร์ทแล้ว ร่างกายเราต้องสมาร์ทด้วย คนเรารูปร่างจะสมาร์ทได้ก็ด้วยการมีสุขภาพกายที่ดี การส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก2 (World Health Organization: WHO) แสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบัน ความเสี่ยงของการเสียชีวิตเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable Diseases: NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชากรโลกสูงถึง 41 ล้านคน (หรือคิดเป็นร้อยละ 71) ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก 57 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2016

สำหรับประเทศไทย การสำรวจปี 25643 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า กลุ่มประชากรที่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ตรวจพบโรคไม่ติดต่อเรื้อรังน้อยกว่ากลุ่มประชากรที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยผู้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตรวจพบเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 18.4 ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอที่สูงถึงร้อยละ 23.4 แสดงให้เห็นว่า การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ (ดังรูป)

ประเทศไทยมีแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 - 2573 ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรก ที่ให้ความสำคัญกับการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทย ซึ่งแผนฯ ได้กำหนดตัวชี้วัด ตามกลุ่มอายุประชากรเมื่อสิ้นสุดแผน คือ ใน พ.ศ. 2573 ดังนี้

ปัจจุบันแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 25734 ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว แต่ยังพบว่าคนไทยเพียง 12 จังหวัดเท่านั้น ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอมากกว่าร้อยละ 75 (จังหวัดสงขลามีประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพียงพอสูงที่สุด ตามมาด้วยจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดมุกดาหาร ที่ร้อยละ 91.6, 87.2 และ 84.4 ตามลำดับ) และพบว่า 23 จังหวัด ประชาชนมีกิจกรรมทางกายไม่ถึงร้อยละ 50 (จังหวัดบึงกาฬมีประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพียงพอน้อยที่สุด ตามมาด้วยจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ร้อยละ 23.7, 25.4 และ 27.9) (ดังรูป)

สัดส่วนประชากรที่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จำแนกรายจังหวัด

ที่มา:  การสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากระยะเวลาในการดำเนินงานตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายฯ ประเทศไทยยังเหลือเวลาอีกประมาณ 8 ปี ในการแปลงแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้วิสัยทัศน์ของการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของไทย ซึ่งก็คือ “ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงด้วยกิจกรรมทางกาย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ได้จริง โดยในระยะเวลาที่เหลือนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น รวมถึงภาคีเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือขับเคลื่อนและผลักดันการส่งเสริมกิจกรรมทางกายมาอย่างต่อเนื่อง ควรเร่งดำเนินงานอย่างสุดกำลัง โดยเฉพาะการพลิกฟื้นระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทยที่ลดลงอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บวกกับการถาโถมของ (โรค) ดิจิทัล ที่รุกคืบเข้ามาในวิถีชีวิตของประชากรไทยทุกกลุ่มวัย การให้กิจกรรมทางกายเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตดิจิทัล และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปัจจุบันนี้มีแต่สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย นับว่าเป็นความท้าทายยกกำลังสอง ของแผนฯ ในช่วงสุดท้ายนี้จริง ๆ

 


เอกสารอ้างอิง

  1. รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย. (2559). วิถีชีวิต 3 สมาร์ทคนไทย โอกาสตลาดสินค้าเทคโนโลยี. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 จาก https://www.posttoday.com/business/447082
  2. World Health Organization. Global action plan for the prevention and control of noncommunicable diseases 2013-2020: World Health Organization; 2013.
  3. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2564). สำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
  4. สถาบันวิจัยประชกรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2565). รายงานวิจัยโครงการวิจัยติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในรอบ 5 ปีแรก ตามแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th