The Prachakorn

ข้อมูลพื้นฐานเพื่อติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทยจำเป็นด้วยหรือ?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

01 พฤศจิกายน 2566
277



จุดประสงค์ของบทความนี้ คือ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดทำข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ ของประเทศไทย และระบุและจัดทำข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ

บริษัทอาหารขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มข้ามชาติ มีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน1 เพราะบริษัทอาหารข้ามชาติเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกินอาหารจากอาหารธรรมดาๆ แบบดั้งเดิมไปเป็นกินอาหารแปรรูปมากยิ่งขึ้นบริษัท  นอกจากนี้ บริษัทอาหารข้ามชาติยังมีอำนาจทางการตลาดอย่างมาก เช่น สามในสี่ของการขายอาหารทั่วโลกเป็นอาหารแปรรูป น้ำอัดลมทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งผลิตโดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทโคคา-โคลาและบริษัทเป๊ปซี่โค และยอดขายของบริษัทอาหารข้ามชาติเกือบทั้งหมดเติบโตอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนา การที่บริษัทอาหารข้ามชาติขนาดใหญ่เข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนา เป็นผลมาจากการทำการตลาดและการลงทุนจากต่างประเทศ2

Source of picture: https://www.who.int/publications/i/item/9789240075412

ผลพวงจากการขยายและการทำการตลาดของบริษัทอาหารข้ามชาติขนาดใหญ่ปรากฏได้อย่างชัดเจนในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2565 บริษัทอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยลงทุนโฆษณาสินค้าของตนเองผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์และสื่ออินเทอร์เน็ต สูงมากถึง 18,550 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนโฆษณาสูงมากกว่าบริษัทสินค้าอื่นๆ และบริษัทอาหารที่ลงทุนกับการโฆษณาอาหารมากที่สุดสามอันดับแรกเป็นบริษัทข้ามชาติ ได้แก่ ยูนิลิเวอร์ เนสท์เล่ และโคคา-โคลา3 การลงทุนโฆษณาด้วยงบประมาณมหาศาลจึงเป็นการเพิ่มการพบเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มของลูกค้า4 ข้อมูลวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศระบุตรงกันว่า การพบเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการใช้ดาราหรือคนที่มีชื่อเสียงมีผลต่อการเพิ่มการบริโภคของเด็ก ในขณะที่การแจกของแถมที่เป็นของเล่น ทำให้เด็กชอบอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น และการจดจำตราสินค้าอาหารได้ มีผลต่อความชื่นชอบรสชาติของอาหาร ความต้องการซื้อและการบริโภคอาหารของเด็กเพิ่มมากขึ้น5

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นความสำคัญในการลดการพบเห็นและเทคนิคจูงใจของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีต่อเด็ก จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก6 และสำนักโภชนาการ ต้องเตรียมจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้วย เพราะตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุก 5 ปี เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดทำข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ จึงช่วยเปรียบเทียบก่อนและหลังที่จะมีพระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารฯ ประกาศและบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว นั้น สามารถลดการทำการตลาดอาหารฯ ได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ ยังเป็นประโยชน์ในการวางแผนเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น การทำการตลาดอาหารฯ โดยใช้กลยุทธ์หรือเทคนิคทางการตลาดใหม่ๆ

ข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ ที่สำนักโภชนาการต้องจัดทำ ได้แก่ (1) การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มฯ ตามช่องทางต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต นิตยสารสำหรับเด็ก ป้ายโฆษณา โรงเรียน ฯลฯ (2) บรรจุภัณฑ์ของอาหารและเครื่องดื่มฯ ที่ดึงดูดใจเด็ก เช่น ภาพการ์ตูนหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงบนซองขนมหรือขวดเครื่องดื่ม และการส่งเสริมการขายอาหารและเครื่องดื่มฯ ตามร้านค้าปลีกหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น การลดแลกแจกแถม (3) การพบเห็นการทำการตลาดอาหารฯ ของเด็ก (4) ทัศนคติของเด็กที่มีต่อการทำการตลาดอาหารฯ (5) พฤติกรรมการซื้ออาหารของเด็กและครอบครัว (6) รูปแบบการบริโภคอาหารและผลลัพธ์ทางสุขภาพของเด็ก เช่น ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน และ (7) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบริษัทอาหารฯ เช่น งบที่ใช้ทำการโฆษณาและการตลาด ยอดขาย เป็นต้น7

Source of picture: https://howtoaba.com/collecting-baseline-data/

ส่วนการจัดทำข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ นั้น สำนักโภชนาการควรสำรวจข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ ว่า ข้อมูลใดที่มีอยู่ และข้อมูลใดที่ขาดหายไปแล้วต้องจัดทำเพิ่มเติม รวมทั้ง หน่วยงานใดดำเนินการจัดทำและจัดเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ จากนั้น สำนักโภชนาการควรรวบรวมข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ ด้วยตนเอง และขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงและนำข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ มาจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบต่อไป

ดังนั้น การจัดทำข้อมูลพื้นฐานในการติดตามการตลาดอาหารฯ ช่วยทำให้ทราบสถานการณ์การทำการตลาดอาหารฯ และรองรับการประมินผลของกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มของประเทศไทยได้


เอกสารอ้างอิง

  1. World Health Organization. Obesity and overweight Geneva: World Health Organization; 2021 [Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/obesity-and-overweight.
  2. Stuckler D, Nestle M. Big food, food systems, and global health. PLoS Med. 2012;9(6):e1001242.
  3. Nielsen Thailand. Advertising information service: total advertising expenditure includes all industries. Bangkok: Nielsen Thailand; 2022.
  4. Kehinde O, Ogunnaike O, Akinbode M, Aka D. Effective Advertising: Tool For Achieving Client-Customer Relationships. Researchjournali’s Journal of Media Studies. 2016;2:1-18.
  5. Boyland E, McGale L, Maden M, Hounsome J, Boland A, Angus K, et al. Association of Food and Nonalcoholic Beverage Marketing With Children and Adolescents' Eating Behaviors and Health: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Pediatr. 2022;176(7):e221037.
  6. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. …, (2565).
  7. World Health Organization Regional Office for the Western Pacific. Regional action framework on protecting children from the harmful impact of food marketing in the Western Pacific. Manila: World Health Organization Regional Office for the Western Pacific; 2020.

ภาพปก freepik.com (premium license)


 

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th