The Prachakorn

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) คุณเป็นแบบนี้อยู่หรือไม่


ณัฐพร โตภะ

07 พฤศจิกายน 2566
415



ปิดไฟยังนะ ... ปิดน้ำหรือยัง ... เอ๊ะดึงปลั๊กพัดลมในห้องนอนออกหรือยัง กว่าจะได้ออกจากบ้านเดินวนอยู่หลายรอบ คุณเคยมีอาการแบบนี้กันบ้างไหม? ถ้าคุณมีอาการแบบนี้จนมากเกินไปกังวลกับสิ่งที่ทำไปแล้วบ่อยครั้ง จนรู้สึกไม่มีสมาธิจะทำงานในแต่ละวัน แม้คุณจะตรวจสอบดีแล้ว แต่คุณก็ยังคงคิดวนเวียนต่อไปไม่เลิกว่าทำหรือยัง และชอบคิดซ้ำๆ ทำซ้ำๆ หากมีอาการแบบนี้ควรรีบตรวจเช็กตัวเองให้ดีว่าคุณอาจกำลังเสี่ยงจะเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ” หรือไม่

 

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder (OCD))1

โรคย้ำคิดย้ำทำอาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ มีการทำงานของสมองบางส่วนมากเกินปกติ หรือเกิดความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมภาวะอารมณ์ความรู้สึก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น ประสบการณ์เลวร้ายที่พบเจอในชีวิต เช่น ผู้ป่วยอาจเจอเหตุการณ์รุนแรงในวัยเด็ก ทั้งทางกาย และทางใจ หรือปัญหาชีวิตที่รุนแรงก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

ที่มา: https://www.freepik.com/free-vector/insomnia-concept_10182812.htm สืบค้น 3 พฤศจิกายน 2566

อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ2

  1. อาการย้ำคิด (obsession) เป็นความคิด ความรู้สึก แรงขับดันจากภายใน หรือจินตนาการ ที่มักผุดขึ้นมาซ้ำๆ โดยผู้ป่วยเองก็ทราบว่าเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เช่น มีความคิดซ้ำๆ ว่ามือตนเองสกปรก คิดว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อคประตู จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ หรือการกระทำสิ่งไม่ดีอย่างซ้ำๆ คิดซ้ำๆ ว่าตนลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความคิดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และรู้สึกรำคาญต่อความคิดนี้
  2. อาการย้ำทำ (compulsion) เป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ผู้ป่วยทำขึ้น โดยเป็นการตอบสนองต่อความย้ำคิด หรือตามกฎเกณฑ์บางอย่างที่ตนกำหนดไว้ เพื่อป้องกันหรือลดความไม่สบายใจที่เกิดจากความย้ำคิด หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ตามที่ตนหวั่นเกรง เช่น ต้องล้างมือซ้ำๆ ตรวจสอบลูกบิดประตูหรือหัวแก๊สซ้ำๆ พูดขอโทษซ้ำๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มากเกินปกติ และไม่สมเหตุสมผล

โรคย้ำคิดย้ำทำ พบได้ร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป โดยเริ่มมีอาการโดยเฉลี่ยที่อายุ 20 ปี พบได้พอๆ กันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ยังพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ เช่น พบโรคซึมเศร้าร่วมด้วยถึงร้อยละ 60-90 โรคอื่นๆ ที่พบร่วมกับโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้แก่ โรคกลัวสังคม โรควิตกกังวลทั่วไป โรควิตกกังวลแพนิค รวมทั้งการดื่มเหล้าจนก่อให้เกิดปัญหาได้ ถึงแม้ว่าโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันนี้ก็มียาที่สามารถช่วยบรรเทา และควบคุมอาการอยู่เช่นกัน รวมถึงการรักษาโดยการบำบัดด้วย

การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ2

  1. การรักษาด้วยยา
    - ยาแก้ซึมเศร้า ยาที่รักษาได้ผลดี เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อ ระบบซีโรโตนิน เช่น clomipramine และยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI) ทุกตัว ได้แก่ fluoxetine, fluvoxamine, paroxetine, sertraline และ escitalopram โดยทั่วไปมักใช้ในขนาดที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า อาการข้างเคียงที่อาจพบได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
    - ยาคลายกังวล ในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลอยู่สูงอาจใช้ยาในกลุ่ม benzodiazepine ในระยะสั้นๆ ยาในกลุ่มนี้ไม่มีผลในการรักษาอาการย้ำคิด หรืออาการย้ำทำ
    - ยาต้านโรคจิต ในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยยาแก้เศร้าแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านโรคจิต เช่น risperidone ควบคู่ไปกับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
  2. การรักษาวิธีอื่น
    การรักษาที่ได้ผลดีคือ พฤติกรรมบำบัด โดยการให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กังวลใจและป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมย้ำทำที่เคยกระทำ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มักล้างมือก็ให้จับของที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าสกปรก ให้รออยู่ช่วงหนึ่งจึงอนุญาตให้ล้างมือ การฝึกจะทำตามลำดับขั้น เริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลน้อยไปหามาก และระยะเวลาที่ไม่ให้ล้างมืออาจเริ่มจาก 10-15 นาที ไปจนเป็นชั่วโมง หากการรักษาได้ผลผู้ป่วยจะกังวลน้อยลงเรื่อยๆ จนสามารถจับสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องรีบไปล้างมือ

    การรักษาวิธีอื่นๆ ได้แก่ การทำจิตบำบัดรายบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวกับอาการได้ กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

    ในรายที่อาการรุนแรง อาจมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฝังแท่งกำเนิดไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation) หรือ การผ่าตัด (cingulotomy)

เช็กตัวเองอย่างไร ใช่โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือไม่?1

ถ้าคุณคิดว่าไม่แน่ใจว่านิสัยชอบทำอะไรซ้ำๆ นี่ใช่โรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ ให้ลองพิจารณาดูว่า หากการย้ำคิดย้ำทำนั้นเริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน สร้างความวิตกกังวล ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและหยุดคิดไม่ได้ หรืออาจทำให้เกิดผลกระทบทางร่างกาย เช่น พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป หรือล้างมือบ่อยเกินไปจนเริ่มมีปัญหาทางผิวหนัง และที่สำคัญอาการย้ำคิดย้ำทำมักจะทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลาโดยไม่จำเป็นไปกับพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 1 ชั่วโมงในหนึ่งวัน


อ้างอิง

  1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2566). ข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต. สืบค้นจาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31112 สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2566
  2. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/05012014-1443 สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2566

ภาพปก freepik.com (premium license)

 

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th