The Prachakorn

เราจะเป็นพฤฒิพลัง ไม่ใช่พฤฒิภาระ


ปราโมทย์ ประสาทกุล

04 ธันวาคม 2566
987



ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยชัดเจนแล้ว

ผมเชื่อว่าทุกวันนี้คนไทยได้รับรู้แล้วว่าสังคมไทยมีอายุสูงขึ้นแล้วจริงๆ เราจะได้ยินข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับ “สังคมสูงวัย” หรือ “สังคมสูงอายุ” อยู่แทบจะทุกวัน เราจะเห็นภาพผู้สูงอายุปรากฏตัวอยู่ตามสถานที่สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สูงอายุที่เดินอยู่ตามถนนหนทาง นั่งอยู่ตามร้านอาหาร เดินช้อปปิ้งอยู่ตามศูนย์การค้า และเราจะเห็นภาพคุ้นตาที่ผู้สูงอายุจำนวนมากไปรอรับบริการทางการแพทย์ตามคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ

ผมยังจำได้ดี เมื่อ 40 กว่าปีก่อนมานี้เอง ผมได้มีโอกาสแวะไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในเกือบทุกภาคของประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและการวางแผนครอบครัว ในหมู่บ้านเหล่านั้น ผมได้เห็นเด็กเล็กๆ วิ่งเล่นกันอยู่ทั่วไป ตอนบ่ายๆ ผมจำภาพเด็กๆ ในชุดนักเรียนเดินกลับบ้าน บ้างเดินจับกลุ่มหยอกล้อกันอย่างร่าเริง จำได้ว่าผมได้ยินเสียงร้องของเด็กทารกจากบ้านนั้นบ้านนี้ในหมู่บ้านอยู่บ่อยๆ

ระยะหลังๆ สิบกว่าปีมานี้ ผมได้เข้าไปเดินในหมู่บ้านชนบทไม่บ่อยครั้งนัก แต่ทุกหมู่บ้านที่ผมได้มีโอกาสผ่านเข้าไปในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ก็มีสภาพและบรรยากาศเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง หมู่บ้านดูเงียบเหงา ผมไม่ได้ยินเสียงเด็กทารกร้องไม่ได้เห็นเด็กตัวน้อยๆ วิ่งเล่นกันในหมู่บ้าน ผมเห็นผู้เฒ่าผู้แก่นั่งอยู่ตามบ้านเรือนมากขึ้น

เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนก็เห็นแต่ผู้สูงอายุ ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยไปแล้วจริงๆ

เราเป็นสังคมสูงวัย...แล้วไงต่อ

เพื่อนๆ หลายคนรู้ว่าผมสนใจเรื่องผู้สูงอายุ และในฐานะนักประชากรศาสตร์ ผมชอบให้สถิติตัวเลขเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย ผมให้ข้อมูลว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไร โดยเฉพาะในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ในปี 2566 นี้ เราเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” แล้ว แต่อีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า เราจะเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน

มีบางคนถามว่า ในเมื่อเรารู้ว่าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถ้าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้วจะเป็นปัญหาหรือไม่อย่างไร เราจะมีทางป้องกันหรือรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างไร

นั่นน่ะสิครับ...เราจะป้องกันหรือแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากสังคมสูงวัยระดับสุดยอดอย่างไร

ผมเชื่อว่าเราทุกคนรู้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติ เรารู้ว่าเมื่อเราเกิดมาแล้ว ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ เราก็มีอายุมากขึ้นในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี และจนในที่สุดเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป สิ่งที่เราจะทำได้อย่างดีที่สุด คือ ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ที่ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า “มรณัสสติ” เราต้องยอมรับว่าเราต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย และต้องตายจากไปไม่วันใดก็วันหนึ่งในอีกไม่เกินร้อยปีข้างหน้า เราทุกคนจึงควรที่จะเตรียมตัวแก่และเตรียมตัวตายไว้ตั้งแต่บัดนี้

ผมพูดในแง่ของปัจเจกที่ควรจะต้องเตรียมตัวแก่ เจ็บ และตาย ผมคิดว่าสังคมและรัฐก็ควรมีการเตรียมตัวและวางแผนเพื่อให้การเกิด แก่ เจ็บ และตายของคนในสังคมเป็นไปในทิศทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในสังคมโดยรวมด้วย

ผู้สูงอายุเป็นพลังหรือเป็นภาระ

เราอาจมองการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุในสังคมไทยได้ 2 แง่มุม แง่มุมหนึ่ง ผู้สูงอายุสามารถเป็นพลังให้กับสังคมได้ หรือที่เราเรียกว่า “พฤฒิพลัง” มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังกระฉับกระเฉง ยังทำงานที่เป็นประโยชน์ให้กับครอบครัวและสังคมได้ ผู้สูงอายุที่มีพลังและยังประโยชน์กลุ่มนี้ เป็นหน้าที่ของสังคมและรัฐจะต้องส่งเสริมและสร้างให้มีสัดส่วนและจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งมีสถานภาพน่าเป็นห่วง ในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้เห็นคนใกล้ชิดที่ต้องใช้ชีวิตยากลำบากในยามชราหลายคน

ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียวไม่ได้จริงๆ โดยเฉพาะเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง อาการสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ อัมพาต แม้จะมีคนอยู่ด้วยคอยช่วยดูแล คนที่อยู่ด้วยก็จะมีภาระที่หนักมาก ต้องดูแลการกินอาหาร การกินยา (ซึ่งมักมีหลายขนาน และมีกำหนดเวลาที่ซับซ้อน) การเข้าห้องน้ำเพื่ออาบน้ำและขับถ่าย การเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด การไปตามจุดบริการต่างๆ ในโรงพยาบาล (แต่ละจุดมักจะมีผู้ป่วยเข้าคิวรอรับบริการเป็นจำนวนมาก จึงต้องรอนาน) ตัวคนเดียวทำไม่ได้จริงๆ

ผู้สูงอายุดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยกันก็เกือบจะเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องจ้างคนมาช่วยดูแล (ถ้ามีเงินเพียงพอ) หรือส่งไปอยู่เนอร์สซิ่งโฮม (ถ้ามีเงินเพียงพอ) หรือให้ไปอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ (ถ้าโรงพยาบาลมีเตียงว่างพอที่จะรับเป็นคนไข้ได้) หรือให้ไปอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน (ถ้ามีเงินเพียงพอ)

ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพิงเช่นนั้น !

อย่างที่ผมเขียนย้ำหลายครั้งในบทความนี้ “เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติ” การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกเว้นคนที่มีบุญมาแต่ชาติปางก่อนหรือคนที่มีลาภอันประเสริฐเท่านั้นจึงจะไม่มีโรคมาเบียดเบียน (อโรคยา ปรมา ลาภา) คนเราเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อมีอายุสูงขึ้น โอกาสที่โรคภัยไข้เจ็บจะมาเยือนก็จะมีมากขึ้น ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2566 ผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยปกติผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อหลายอย่างอยู่แล้ว เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคทางเดินหายใจ โรคตับ โรคไต อาการสมองเสื่อม รวมทั้งโรคเกี่ยวกับตา ฟัน และหู

โรคไม่ติดต่อเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาการเรื้อรัง และส่วนใหญ่ทำให้เกิดความพิการที่ทำให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องกลายเป็นคนที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น ไม่สามารถหรือมีความยากลำบากในการดูแลตนเองโดยเฉพาะในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ (กินอาหาร ขับถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว และเคลื่อนไหวไปมา) จึงต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดจึงจะมีชีวิตอยู่ได้

ในอดีตคนไทยมีชีวิตไม่ยืนยาวนัก เช่นเมื่อ 50 ปีก่อน อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวไม่ถึง 60 ปี ผู้สูงอายุที่มีภาระต้องพึ่งพิงผู้อื่น จะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน และส่วนใหญ่ผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัวขยาย ซึ่งมักจะมีลูกๆ หลานๆ คอยช่วยดูแล

ทุกวันนี้ครอบครัวไทยเล็กลง คนรุ่นใหม่อยู่เป็นโสดกันมากขึ้นคนที่แต่งงานแล้วมีลูกกันน้อยลง เครือข่ายญาติพี่น้องที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะจะต้องพึ่งพิงน้อยลง ปัญหาที่ตามมาก็คือเมื่อผู้สูงอายุอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้เช่นนี้แล้ว ใครจะมาเป็นผู้ดูแล

แม้ผู้สูงอายุบางคนมีลูกหลาน แต่ลูกหลานแต่ละคนก็จำเป็นที่จะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ

ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยอยู่ตามลำพังกับคู่สมรสหรืออยู่กับพี่น้องที่เป็นผู้สูงอายุด้วยกัน เท่ากับผู้สูงอายุต้องดูแลผู้สูงอายุกันเอง

สถานการณ์ขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุเช่นนี้เริ่มปรากฏเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้สูงอายุบางคนอาจมีทรัพย์สินที่ตนสะสมและออมไว้ แต่เมื่อต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพิงเช่นนั้น ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่อาจจะหมดไปอย่างรวดเร็วกับค่าใช้จ่ายในการดูแลที่สูงมาก เป็นต้นว่าจะมีค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายที่จะได้จากรัฐในรูปของสวัสดิการตามปกติ การจ้างคนมาเป็นผู้ดูแลใกล้ชิดจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจะเป็นภาระหนักที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ในสังคมสูงวัยที่ย่อมจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

รัฐคงไม่สามารถจัดสถานสงเคราะห์คนชราให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้สถานสงเคราะห์คนชราที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รองรับผู้สูงอายุได้เพียง 2 พันกว่าคนเท่านั้น เมื่อดูแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงแล้ว เราพอจะมองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะต้องพึ่งพิงจะเป็นปัญหาของทั้งปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม และรัฐ อย่างแน่นอน

ผมคิดว่าเราอาจต้องคิดถึงการนำ “ความใจบุญ” ของคนไทยมาใช้เพื่อช่วยรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่มีรายได้น้อย หรือไร้ญาติมิตรให้มากขึ้น

สำหรับคนที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบัน และคนที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต เราจะต้องประพฤติปฏิบัติตนให้มีสุขภาพที่ดีไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็น “พฤฒิภาระ” หากแต่เราจะเป็น “พฤฒิพลัง” ให้กับสังคม


รูป: สูงวัยอย่างมีพลัง
ที่มา: https://www.freepik.com สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2566

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th