The Prachakorn

แรงงานไทยในต่างประเทศ: ทรัพยากรที่ทรงคุณค่า


สักกรินทร์ นิยมศิลป์

12 ธันวาคม 2566
710



กระแสข่าวเรื่องสวัสดิภาพของชาวไทยที่ทำงานในประเทศที่กำลังเกิดภาวะสงคราม เช่น ในอิสราเอล และเมียนมา ทำให้ผู้นำระดับสูงของไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศอย่างจริงจัง แน่นอนว่า ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก กอปรกับจำนวนชาวไทยที่อยู่อาศัยและทำงานในต่างประเทศมีจำนวนมาก ดังนั้น การบริหารการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง และการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองชาวไทย และส่งเสริมแรงงานไทยที่กลับคืนถิ่น ให้ประสบความสำเร็จในการใช้ทักษะของตนที่สั่งสมมา เพื่อประกอบอาชีพในบ้านเกิด จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สถิติแรงงานไทยในต่างประเทศ

ในปี 2565 มีชาวไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น1,385,157 คน โดยกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศรายงานเมื่อเดือนมกราคม 2566 ว่า มีชาวไทยที่อาศัยในสหรัฐฯ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์รวมกัน 570,398 คน ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน 477,016 คน ยุโรป 270,117 คน เอเชียใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง 67,626 คน สำหรับสิบอันดับแรกของประเทศที่มีชาวไทยอาศัยอยู่มากที่สุด1 ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สวีเดน เยอรมนี สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ นอร์เวย์ และอิสราเอล แม้ว่าชาวไทยเหล่านี้จะไม่ได้เป็นแรงงานทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งอาจเป็น ชาวไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ นักเรียน นักศึกษา หรือผู้เกษียณอายุ แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นแรงงานไทยในต่างประเทศ ที่เดินทางด้วยตนเอง หรือติดต่อกับนายจ้างโดยตรง หรือไปทำงานผ่านญาติ โดยไม่ได้แจ้งข้อมูลผ่านกระทรวงแรงงาน


รูป: แรงงานไทยในอิสราเอล
ที่มา: https://edition.cnn.com/2023/10/13/asia/thailand-migrant-workers-israel-gaza-conflict-intl-hnk/index.html สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2566

สำหรับจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านกระทรวงแรงงานนั้น กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มีแรงงานไทยที่ยังทำงานในต่างประเทศจำนวน 128,982 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในกลุ่มประเทศเอเชียจำนวน 89,867 คน โดยเฉพาะ ไต้หวัน (49,820 คน) เกาหลีใต้ (18,962 คน)และญี่ปุ่น (8,570 คน) ตามด้วยภูมิภาคตะวันออกกลางจำนวน 28,364 คนโดยเฉพาะ อิสราเอล (25,887 คน) และภูมิภาคยุโรป อเมริกาและโอเชียเนีย จำนวน 9,909 คน โดเฉพาะ ฟินแลนด์ (1,654 คน) สวีเดน(1,500 คน) และสหรัฐฯ (1,008 คน) จะเห็นได้ว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่มุ่งไปทำงานในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน และมีการกระจุกตัวในสี่ประเทศหลัก ได้แก่ ไต้หวัน อิสราเอล เกาหลีใต้และญี่ปุ่น (ดูแผนภูมิ)


แผนภูมิ: จำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศในเดือนกันยายน 2566
ที่มา: รวบรวมข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน

ในด้านรายได้จากต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้รายงานว่า ในปี 2565 แรงงานไทยในต่างประเทศได้ส่งเงินกลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทยมากถึง 237,917 ล้านบาท และในช่วงมกราคม-ตุลาคม 2566 แรงงานไทยในต่างประเทศได้ส่งเงินกลับประเทศมากถึง 205,446 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าแรงงานไทยในต่างประเทศเป็นกลไกที่สำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ประสบการณ์และทักษะที่แรงงานไทยสั่งสมมาจากต่างประเทศ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เมื่อแรงงานเหล่านี้กลับคืนถิ่นและได้ใช้ทุนทางสังคมดังกล่าว ในการประกอบอาชีพของตน

แรงงานไทย: จากอดีตถึงปัจจุบัน

แรงงานไทยเริ่มเดินทางไปยังต่างประเทศจำนวนมาก โดยใช้บริการจัดหางาน ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากภูมิภาคตะวันออกกลางภายหลังการตั้งกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมัน (OPEC) ทำให้กลุ่มประเทศดังกล่าวมั่งคั่งและเริ่มการพัฒนาประเทศด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ กอปรกับนโยบายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (2525-2529) ทำให้ชาวไทยจำนวนมากเดินทางไปทำงานในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือในภาคการผลิต ก่อสร้างและแรงงานทั่วไป แต่ได้เกิดปัญหาการหลอกลวงของนายหน้าและบริษัทจัดหางานจำนวนมาก ทำให้มีการตรา พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่กลุ่มมิจฉาชีพก็ได้มีการพัฒนากลโกงหลายรูปแบบ ทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยต้องตกเป็นเหยื่อ ถูกลอยแพ หรือต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่านายหน้า และต่อมาก็ได้มีการใช้สื่อออนไลน์เพื่อหลอกลวงเหยื่อ

แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศเริ่มชะลอลงในทศวรรษที่ 2550 เป็นต้นมา โดยแรงงานไทยเริ่มลดลงจากจำนวน 161,917 คนในปี 2550 เหลือเพียง 134,101 คนในปี 2555 และ 114,437 คนในปี 25592 โดยเฉพาะในตลาดตะวันออกกลาง เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ทำให้แรงงานบางส่วนไม่จำเป็นต้องไปหางานทำในต่างประเทศ ปัญหาการแข่งขันจากแรงงานในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ที่ค่าแรงถูกกว่าไทย และปัญหาทางการเมืองในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดตะวันออกกลางจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทำให้ในปัจจุบันมีแรงงานไทยจำนวนราวปีละหนึ่งแสนคนเท่านั้น ที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้รายงานว่า มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศรุ่นใหม่จำนวน 88,154 คน ในปี 2565 โดยเป็นเพศชายถึง 68,460 คน เพศหญิง 19,694 คน โดยประเทศปลายทางสำคัญได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 25,372 คน อิสราเอล 9,417 คน เกาหลีใต้ 8,571 คน ญี่ปุ่น 8,147 คน มาเลเซีย 4,402 คน และสิงคโปร์ 3,064 คน

สรุป

ชาวไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่า เขาเหล่านั้นได้เสียสละเพื่อครอบครัวด้วยการไปทำงานและส่งเงินกลับมายังบ้านเกิดของตน โดยในปี 2566 ในช่วงสิบเดือนแรก แรงงานไทยได้ส่งเงินผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้วกว่าสองแสนล้านบาท นับว่าแรงงานไทยดังกล่าวเป็นจักรกลที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ทางการไทยจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ให้มีต้นทุนที่ต่ำ ไม่เกิดภาระหนี้ ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองแรงงานไทย และส่งเสริมแรงงานที่กลับคืนถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในระบบ หรือการประกอบอาชีพอิสระ การพัฒนาทักษะ การเข้าถึงแหล่งทุน และส่งเสริมการนำทักษะที่เรียนรู้ในต่างประเทศมาใช้ประโยชน์


เอกสารอ้างอิง

  1. สืบค้นจาก https://thestandard.co/10-most-thai-living-country/ วันที่ 10 พฤศจิกายน    2566
  2. กรมการจัดหางาน (2560). ยุทธศาสตร์การบริหารการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2560-2564

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th