ประชาคมอาเซียนเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (หมายเหตุ: วันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันอาเซียน) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพรวมทั้งความมั่นคงทางการเมือง ความเจริญด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม ปัจจุบัน อาเซียนมีสมาชิกรวม 10 ประเทศดังนี้ ไทย พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ บรูไนดารุสซาลาม มีสำนักงานเลขาธิการใหญ่อาเซียน (ASEAN Secretariat) ประจำที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จำนวนประชากรของกลุ่มประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ประมาณ 600 ล้านคน นอกจากประเทศสมาชิกแล้ว ประชาคมอาเซียนยังมีประเทศคู่เจรจา (Dialogue partners) ที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ รวม 9 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา1
ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ดังนี้2
เสาหลักที่ 1: ประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political - Security Community: APSC) เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างประเทศโดยสันติวิธี มีเสถียรภาพและความมั่นคง ความปลอดภัยของประชาชน
เสาหลักที่ 2: ประชาคมเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community: AEC) เพื่อให้เกิดการรวมตัวและร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ การติดต่อค้าขายระหว่างประเทศสมาชิก เกิดการพัฒนาและสามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศอื่นในเวทีเศรษฐกิจโลกได้
ในอนาคต เสาหลัก AEC นี้ จะเป็นอาเซียน+3 โดยเพิ่มประเทศ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และจะมีการเจรจาอาเซียน+6 เพิ่มประเทศ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดียต่อไป3
เสาหลักที่ 3: ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) เพื่อให้อาเซียนเป็นสังคมที่มีความมั่นคง ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมเอกลักษณ์ของอาเซียน
ติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) ยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2554 และ เป็นที่น่ายินดี เมื่อหนึ่งในประเด็นสุนทรพจน์ที่ประธานการประชุมฯ กลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อ วันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566 มีอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมที่กรุงจาการ์ตา ประกาศเจตนารมณ์ เน้นย้ำขั้นตอนการพิจารณาสถานะเพื่อเป็นประเทศสมาชิกใหม่ของประชาคมอาเซียน รวมทั้งนโยบายด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ด้วย
รูป: ประชากรสืบเชื้อสาย มาเลโยโปลินิเซียน/เมลานีเซียน/ปาปัว และ โปรตุเกส
ที่มา: https://www.voanews.com/a/east-asia-pacific_east-timor-remembers-vote-and-bloody-rampage/6175040.html สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566
ติมอร์-เลสเต เป็นอาณานิคมของโปรตุเกส เพื่อใช้เป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือการค้าทางทะเลเกือบ 400 ปี ต่อมาได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2518 แต่ถูกอินโดนีเซียเข้ายึดครองระหว่าง พ.ศ. 2519-2542 โดยต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงในประเทศจากการสู้รบเพื่อเอกราชกับกองกำลังติดอาวุธโดยมีอินโดนีเซียอยู่เบื้องหลัง ในที่สุดโปรตุเกสเข้าแทรกแซงเพื่อให้รัฐบาลอินโดนีเซียหยุดคุกคาม ปัจจุบันติมอร์-เลสเตมีภาษาเพื่อการสื่อสารหลากหลาย ภาษาราชการภาษาราชการ คือ ภาษา โปรตุเกส (Portuguese) และมีภาษาเตตุ้ม (Tetum) เป็นภาษาประจำชาติ ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia) สำหรับภาคธุรกิจหรือการติดต่อทั่วไป มีภาษาชนพื้นเมืองประมาณ 32 ภาษา มีประชากรราว 1.37 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 50,000 บาท) การว่างงานสูง ภาวะเศรษฐกิจที่ขยับตัวช้าเนื่องจากรัฐบาลปักหมุดนโยบายการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ที่เมืองหลวงดิลี (Dili)เป็นหลัก มีผลต่อการขับเคลื่อนแผนงานและงบประมาณในเมืองรองอื่นๆ เช่น การเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้ตอบสนองนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัส ความสด ของธรรมชาติที่หาได้ยากในประเทศอื่นๆ
รัฐบาลติมอร์-เลสเตมีเป้าหมายสำหรับนโยบายการท่องเที่ยวภายในปี 2030 ดังนี้
- รายได้จากค่าธรรมเนียมจากกิจการท่องเที่ยว US$ 150 ล้าน/ปี (ไม่รวมค่าเดินทางทางอากาศ/ค่าเดินทางภายในประเทศ)
- การจ้างงานกิจการท่องเที่ยว 15,000 คน (เพิ่มจาก 4,300 คนเมื่อปี 2014)
- นักท่องเที่ยว 200,000 คน (ระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 5 วัน)
เพื่อบรรลุเป้าหมายนโยบายการท่องเที่ยวดังกล่าว รัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างสนามบินนานาชาติเพรสซิเดนเต นิโคเลา โลบาโต (President Nicolau Lobato International Airport) รองรับจำนวนนักท่องเที่ยว เช่นธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ให้กู้ยืม135 ล้านดอลลาร์ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ให้กู้ยืม 37.5 ล้านดอลลาร์ สำหรับสร้างระบบทางวิ่ง หอบังคับสัญญาณการบิน ออสเตรเลียให้กู้ยืม 73.4 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างถนนเชื่อมต่อกับสนามบิน
เอกสารอ้างอิง