The Prachakorn

แอบดูนักวิชาการเถียงกันเรื่องนโยบายสุขภาพ: เมื่อ “ทฤษฎี” และ “บริบท” ไม่ลงรอยกัน


วีรภาคย์ ซำศิริพงษ์

15 ธันวาคม 2566
659



“ตกลงนักวิเคราะห์นโยบายสุขภาพควรจะให้ความสำคัญกับกรอบแนวคิดและทฤษฎีที่จะช่วยระบุความสัมพันธ์ของประเด็นที่ต้องการศึกษา หรือควรจะให้ความสำคัญกับบริบทของกรณีศึกษาที่นำมาวิเคราะห์กันแน่”

ในแวงวงวิชาการ โมเดล กรอบแนวคิดและทฤษฎีถือเป็นหัวใจของการวิจัย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายความสัมพันธ์ของประเด็นที่นักวิจัยอยากจะรู้อยากจะทราบ แต่ผู้อ่านอาจพบได้บ่อยครั้งว่า หลายครั้งนักวิชาการที่ยึดมั่นถือมั่นในโมเดล กรอบแนวคิดและทฤษฎีก็จะไม่สามารถตอบคำถามที่สังคมต้องการทราบได้ แม้ว่าในบางครั้งคำตอบแสนจะชัดเจนอยู่ทนโท่ ในทางกลับกัน ผู้อ่านก็จะพบเช่นกันว่า นักวิชาการบางท่านก็ดูเป็น “ผู้ทรงภูมิ” ที่สามารถตอบได้ทุกอย่าง แต่ก็น่าสงสัยว่าสิ่งที่ท่านพูดออกมานั้นเป็นเพียงการคาดเดาจากประสบการณ์ของท่านเอง หรือมาจากการทำงานการวิชาการกันแน่

ดราม่าย่อมเกิดขึ้น เมื่อ Martin Powell และ Russell Mannion กองบรรณาธิการวารสาร International Journal of Health Policy and Management (IJHPM) ได้เขียนบทความเรื่อง “กรอบแนวคิดกระบวนการนโยบายสุขภาพ: กรอบเดียวใช้ได้หมดหรือแล้วแต่จะกำหนดตามความเหมาะสม” *  โดยเนื้อหาในบทความได้ระบุว่า ปัจจุบันมีการสร้างกรอบแนวคิดเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการนโยบายสุขภาพมากมาย ซึ่งการวิเคราะห์ของผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าการนำกรอบแนวคิดมาปรับใช้ในการวิเคราะห์นโยบายสุขภาพในปัจจุบันแตกแยกออกเป็น 2 ทิศทาง กล่าวคือ ในขณะที่บทความบางส่วนได้นำกรอบแนวคิดนโยบายสาธารณะมาใช้อย่างเคร่งครัด แต่บทความบางส่วนได้สร้างกรอบแนวคิดขึ้นมาใหม่เพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท คำถามที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ดังกล่าวคือ ตกลงนักวิเคราะห์นโยบายสุขภาพควรจะให้ความสำคัญกับกรอบแนวคิดและทฤษฎีที่จะช่วยระบุความสัมพันธ์ของประเด็นที่ต้องการศึกษา หรือควรจะให้ความสำคัญกับบริบทของกรณีศึกษาที่นำมาวิเคราะห์กันแน่1

นักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว หนึ่งในความเห็นที่น่าสนใจคือความเห็นของ Justin Parkhurst จากภาควิชานโยบายสุขภาพ London School of Economics and Political Science ที่ชี้ให้เห็นว่า การวิเคราะห์นโยบายควรให้ความสำคัญกับกรอบแนวคิดและทฤษฎีมากกว่าบริบท ทั้งนี้เพราะการวิเคราะห์นโยบายสุขภาพเป็น “สังคมศาสตร์” แขนงหนึ่ง และ “กรอบแนวคิดนโยบายสุขภาพ” ล้วนมีแหล่งที่มาจากศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งนั้น นอกจากนี้ Parkhurst ยังได้พาดพิงถึงกรอบแนวคิด “สามเหลี่ยมนโยบาย” (policy triangle) ที่เป็นกรอบแนวคิดที่ได้รับความนิยมเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์นโยบายสุขภาพในประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1990 ว่าก็ไม่ได้เป็นกรอบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับการวิเคราะห์ประเด็นนโยบายสุขภาพแต่อย่างใด2

ร้อนถึง Lucy Gilson และ Gill Walt จาก University of Cape Town และ London School of Hygiene and Tropical Medicine ที่เป็นผู้ที่พัฒนากรอบแนวคิด “สามเหลี่ยมนโยบาย” ขึ้นมา ที่ได้ออกมาโต้ตอบว่า กรอบแนวคิดด้านสังคมศาสตร์ที่มีอยู่อาจจะไม่เหมาะสมเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์กระบวนการนโยบายสุขภาพ ทั้งนี้เพราะ (1) กรอบแนวคิดที่มีอยู่อาจจะไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำในปัจจุบัน (2) ทฤษฎีอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการวิจัยเชิงลึก และ (3) การศึกษานโยบายควรเป็นไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนโยบาย (policy change) ในการนี้ การใช้กรอบแนวคิดที่เรียบง่าย จึงน่าจะเหมาะสมกว่าในการทำความเข้าใจและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในประเด็นสุขภาพ3

รูปที่ 1 ตัวอย่างการนำกรอบแนวคิดสามเหลี่ยมนโยบายมาปรับใช้ เพื่อศึกษาประเด็นไขมันทรานส์ในประเทศไทย (ปรับแก้จาก กรอบแนวคิดสามเหลี่ยมนโยบายของ Walt & Gilson4 การผสมผสานทฤษฎีของ Cairney5 และกรอบแนวคิดการวิเคราะห์นโยบายไขมันทรานส์ของประเทศไทยของ Samsiripong et al.6)

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านน่าจะเริ่มเอะใจได้แล้วว่า ไม่ว่าจะในทศวรรษนี้ หรือในศตวรรษหน้า นักวิชาการจะยังคงถกเถียงกันต่อไปว่าควรจะใช้ทฤษฎีและบริบทอะไรมาใช้อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกว่าความเห็นจะลงรอยกันนั้นก็อาจจะใช้เวลาหลายสิบปี หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย

ในทางกลับกัน ปัญหาด้านสุขภาพและโภชนาการเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และองค์ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์นโยบายจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ซึ่งในระหว่างทางอาจจะผจญกับอุปสรรคจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาระงานของหน่วยงานภาครัฐ ผลประโยชน์ทับซ้อนจากภาคอุตสาหกรรม และความเป็นวิชาการของภาควิชาการที่อาจจะทำให้ “เรา” เกิดความไขว้เขว ก่อนจะจบบทความฉบับนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อให้วงการวิเคราะห์นโยบายสุขภาพในประเทศไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมวิชาการโลก ดังนี้

  • ส่งเสริมการฝึกอบรมนักวิจัยด้านนโยบายสุขภาพให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวแบบ กรอบแนวคิดและทฤษฎีนโยบายสาธารณะ เพื่อให้การวิเคราะห์นโยบายสุขภาพของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะที่มีอยู่
  • สนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิชาการด้านการวิเคราะห์นโยบายสุขภาพในบริบทของประเทศไทย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายให้แก่ประชาคมวิชาการโลก นอกจากนี้ การเผยแพร่ผลงานวิชาการด้านการวิเคราะห์นโยบายสุขภาพยังมีประโยชน์ในการเป็นหลักฐานสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพของประเทศให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย

*  แปลแบบเอาความ จากสำนวน one size fits all or horses for courses

ที่มา

  1. Powell M, Mannion R. Modelling the Health Policy Process: One Size Fits All or Horses for Courses? International Journal of Health Policy and Management. 2023;12.
  2. Parkhurst J. A Social, Not a Natural Science: Engaging With Broader Fields in Health Policy Analysis; Comment on “Modelling the Health Policy Process: One Size Fits All or Horses for Courses?”. International Journal of Health Policy and Management. 2023(Articles in Press).
  3. Gilson L, Walt G. Doing Health Policy Analysis: The Enduring Relevance of Simple Models; Comment on “Modelling the Health Policy process: One Size Fits All or Horses for Courses”. International Journal of Health Policy and Management. 2023(Articles in Press).
  4. Walt G, Gilson L. Reforming the health sector in developing countries: the central role of policy analysis. Health policy and planning. 1994;9(4):353-70.
  5. Cairney P. Standing on the shoulders of giants: how do we combine the insights of multiple theories in public policy studies? Policy studies journal. 2013;41(1):1-21.
  6. Samsiripong W, Phulkerd S, Pattaravanich U, Kanchanachitra M. Understanding the Complexities of Eliminating Trans Fatty Acids: The Case of the Trans Fatty Acid Ban in Thailand. Nutrients. 2022;14(13):2748.

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th